ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ถึงวันนี้มีการเตรียมรับมือไว้อย่างไรบ้าง ในขณะที่ประเทศมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตลาดเนิร์สซิ่งโฮมในไทยก็น่าจับตามองเช่นกัน ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 25.1% ในช่วงปี 2561–2566 และ คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 30.5% ในปี 2567-2571 ด้วยขนาดธุรกิจไม่น้อยกว่า 9.5 พันล้านบาท ในช่วงปี 2572-2576 คาดว่าจะมีอัตราการขายตัวเฉลี่ยปีละ 15.0% มูลค่าไม่น้อยกว่า 1.92 หมื่นล้านบาท ในปี 2576
เนิร์สซิ่งโฮม หรือ สถานบริบาลผู้สูงอายุ เป็นประเภทที่อยู่อาศัยผู้สูงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีจำนวน 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด (ข้อมูล ณ ไตรมาส 2 ปี 2566)
หากแบ่งเป็นรายภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราเข้าพักสูงที่สุด 81.4% รองลงมาคือภาคเหนือ 70.9% และภาคกลาง 68.6%
ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดหลักและจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น โดยมีค่าเช่าตลาด ‘เนิร์สซิ่งโฮม’ ทั่วไทยต่อเดือน ดังนี้
อันดับ 1. ราคา 50,000 บาทขึ้นไป 5.7%
อันดับ 2. 30,001-50,000 บาท 14.2%
อันดับ 3. 20,001-30,000 บาท 36.1%
อันดับ 4. 10,001-20,000 บาท 42.6%
ทั้งนี้ ช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท มีสัดส่วน 1.5% เท่านั้น สะท้อนให้เห็น เนิร์สซิ่งโฮมที่เข้าถึงได้ (Affordable Nursing Home) สำหรับผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ยังมีอยู่อย่างจำกัด
‘สูงวัย’ เช่าอยู่รายเดือน
สิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่แล้วเน้นไปที่การเช่าเป็นรายเดือนมากที่สุดโดยพักอาศัยในอาคารแบบบ้านเดี่ยว 56.6% รองลงมาเป็น อาคารพักอาศัยรวม 33.3%
- สิทธิแบบเช่ารายเดือน 699 แห่ง 92.5%
- รองลงมาเป็นประเภทสิทธิแบบการอยู่อาศัยตลอดชีวิต 34 แห่ง 4.5%
- สิทธิแบบมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จำนวน 14 แห่ง 1.9%
- สิทธิการเช่าระยะยาว 9 แห่ง 1.2% ของโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด
‘เนิร์สซิ่งโฮม’ ที่พักสุดฮอตคนสูงวัย
โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวน 758 แห่ง “เนิร์สซิ่งโฮม” เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมีจำนวนถึง 708 แห่ง รองรับได้ 15,324 คน และมีอัตราการเข้าพัก 63.7%
ถัดมาเป็นโครงการ Residential หรือที่อยู่อาศัยซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ออกแบบโดยใช้หลักการ Universal Design มีจำนวน 19 แห่ง รองรับได้ 1,328 คน เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย, โครงการเวลเนสซิตี้ และบุศยานิเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการเข้าพัก 73%
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้บริการแบบสถานสงเคราะห์/มูลนิธิ อีก 26 แห่ง รองรับได้ 2,681 คน มีอัตราการเข้าพัก 100%
สุดท้ายคือ โรงพยาบาล จำนวน 4 แห่ง รองรับได้รวม 155 คน มีอัตราการเข้าพัก 53.5% รวมทั้งโครงการประเภท Day Care อีกจำนวน 1 แห่ง
การขยายตัวของตลาด “เนิร์สซิ่งโฮม” สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจที่ต้องเร่งสปีดโตให้ทันกับความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่กำลังเติบโตไม่หยุด
ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
สำรวจภาพรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย