ช่วงนี้ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล จนเกิดปัญหาน้ำรอระบาย ท่วมขังเข้าบ้านเรือนและชุมชนในหลายพื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อน้ำท่วม นอกจากเศษขยะ เศษใบไม้ ที่พัดมาพร้อมกับน้ำแล้ว สัตว์ร้าย สัตว์อันตรายต่าง ๆ ก็มาพร้อมกับน้ำที่ท่วมขังเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยสัตว์อันตรายที่เรามักจะโดนกัดกันมากที่สุดก็จะเป็นพวกแมงป่อง, ตะขาบ, งู และปลิง เนื่องจากพวกมันตัวเล็ก มองไม่เห็นได้ในน้ำ หรือบางตัวก็หนีน้ำ เข้ามาแอบซ่อนตัวอยู่ในบ้านของเรา จนเราเผลอเหยียบ หรือโดนพวกมันจู่โจมโดยไม่รู้ตัว วันนี้ Homeday เลยจะมาแนะนำวิธีรับมือกับสัตว์เหล่านี้ พร้อมวิธีป้องกันและรักษาให้ทุกคนได้เตรียมตัวรับมือกันเอาไว้ค่ะ
1. แมงป่อง
วิธีป้องกัน : แมงป่องชอบอยู่ในที่ที่รกและอับชื้น แต่บางครั้งเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ก็มักจะหนีน้ำแอบเข้ามาอยู่ในบ้านของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะต้องเดินไปในที่มืดรกร้าง ควรเปิดไฟให้สว่าง และหากต้องลุยเข้าไป ก็ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมบูทยาง และใช้ไม้ตีตามจุดต่าง ๆ ก่อนจะเดินเข้าไป เพื่อให้แม่งป่องตกใจและหนีไป
อาการ : หากไม่แพ้ก็จะมีอาการทั่ว ๆ ไป คือปวด บวม แดง แสบร้อน บริเวณที่ถูกต่อย ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีปฐมพยาบาล :
- ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำสะอาด
- ประคบเย็นลดบวม ในบริเวณที่ถูกต่อย ครั้งละประมาณ 10 นาที
- หากรู้สึกปวด สามารถทานยาพาราเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือมีความผิดปกติใด ๆ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
2. ตะขาบ
วิธีป้องกัน : ตะขาบชอบพื้นที่ชื้นและแฉะ เช่น ลานซักล้าง, ห้องครัว, ห้องน้ำ รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ภายในบ้านที่มีความชื้น ดังนั้นเราต้องคอยดูแลทำความสะอาดและตรวจสอบอยู่เสมอ หรือจะนำซองกันชื้นมาวางไว้ตามมุมต่าง ๆ ภายในบ้านก็ได้เช่นกันค่ะ
อาการ : ในกรณีที่ไม่แพ้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการปวด บวม คัน แดง แสบร้อน บริเวณที่โดนกัด ไปจนถึงมีไข้ และมักจะดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากผู้ถูกกัดมีอาการแพ้ จะมีอาการหน้าบวม หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงขั้นช็อคหมดสติได้
วิธีปฐมพยาบาล :
- ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
- ประคบเย็นลดบวม ในบริเวณที่ถูกต่อย ครั้งละประมาณ 10 นาที
- หากรู้สึกปวด สามารถทานยาพาราเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
- ระมัดระวัง อย่าทำให้แผลติดเชื้อ งดแกะ เกา บริเวณที่ถูกกัด หากแผลมีอาการแย่ลง มีอาหารบวม พุพอง เจ็บปวดมากขึ้น หรือมีน้ำเหลือง ให้รีบไปพบแพทย์
- ในกรณีที่มีอาการแพ้ ผิดปกติทางกายร่วมด้วย ให้นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
3. งู
วิธีป้องกัน : ให้นำปูนขาวหรือผงกำมะถันมาโรยรอบบริเวณที่คิดว่างูจะสามารถเลื้อยผ่านเข้ามาในบ้านได้ หรือใช้ประโยชน์จากกลิ่นฉุน ๆ ของมะกรูดผ่าซีกนำมาวางกั้นทางไว้ก็ได้เช่นกัน ตรวจสอบช่อง รู ภายในบ้าน และทำการอุดให้เรียบร้อย หรือทางที่ดีที่สุด คือการปิดประตูบ้านให้มิดชิด ในช่วงน้ำท่วม ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านได้ดีที่สุด
อาการ : จะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ตามชนิดของงูที่กัด งูที่มีผลต่อระบบประสาทจะส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง, งูที่มีผลต่อระบบเลือดจะส่งผลให้เลือดไหลไม่หยุด และงูที่มีผลต่อระบบกล้ามเนื้อจะส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง
วิธีปฐมพยาบาล :
- แล้วรีบนำผู้ที่ถูกกัด ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที หากสามารถจำลักษณะของงู ถ่ายรูปงู หรือนำซากงูไปด้วยได้ก็จะดีมาก เพื่อให้แพทย์วิเคราะห์และรักษาได้อย่างถูกต้อง
- หากต้องเสียเวลารอรถ หรือไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ในทันที ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกฉกด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อ พยายามทำให้บริเวณที่ถูกฉกเคลื่อนไหวน้อยที่สุดด้วยการดามและปิดแผลด้วยผ้าก๊อช จากนั้นค่อยนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
- และไม่ควรทำอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่น การดูดเลือดด้วยปาก, การขันชะเนาะ หรือทาสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ลงบนแผล เพราะจะยิ่งทำให้แผลแย่ลง
4. ปลิง
วิธีป้องกัน : หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ให้ใส่ชุดที่เหมาะสม เช่น ชุดเอี๊ยมกันน้ำ หรือกางเกงขายาวผ้าหนา ๆ และสวมใส่รองเท้าบูทยางให้เรียบร้อย หากในกรณีจำเป็นที่ต้องลุยน้ำโดยไม่มีชุดป้องกัน แนะนำให้คั้นลูกมะกรูดเอาน้ำมันกับน้ำมาทาผิวไว้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ปลิงมาเกาะได้
อาการ : การโดนปลิงดูดเลือด จะไม่แสดงอาการใด ๆ ไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณที่โดนดูด ต้องสังเกตเอาเองเท่านั้น
วิธีปฐมพยาบาล :
- ห้ามดึงตัวปลิงออกมาเองโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลใหญ่ขึ้น และเลือดไม่หยุดไหลได้
- ให้ใช้น้ำเกลือเข้มข้น, เกลือป่น, น้ำส้มสายชูเข้มข้น, น้ำมะนาว, น้ำมะกรูด, น้ำแช่ยาสูบ หรือแอลกอฮอล์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หยอดรอบ ๆ ปากของปลิง หากไม่มี อาจใช้ไม้ขีดหรือบุหรี่จุดไฟจี้ที่ตัวปลิง เพื่อให้ปลิงหลุดออกมา
- จากนั้นค่อยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อที่คอตตอนบัดเช็ดเป็นวงรูปก้นหอย เริ่มจากส่วนในของแผลวนออกรอบนอก เช็ดเพียงรอบเดียว แล้วเปลี่ยนคอตตอนบัดอันใหม่ ประมาณ 2-3 อัน เพื่อความสะอาด จากนั้นปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย
- ถ้าเลือดไม่หยุดไหล ให้ห้ามเลือดโดยใช้ Astringent และยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแผล หากมีผื่นคันให้ทาคาลาไมน์หรือยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
หากวิธีการทั้งหมดที่นำเสนอไปนั้น ไม่ได้ผล เกิดการแพ้รุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหรือโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีนะคะ เพราะอาจส่งผลอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้เลยค่ะ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ ให้คอยสังเกตรอบตัวอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราและของทุกคนในครอบครัวด้วยนะคะ