“ทำเล” ในการสร้างบ้านถือว่ามีผลต่อบ้านของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการกำหนดว่าทำเลที่ตั้งนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เราสามารถดูได้จากการตั้งผังเมืองที่ทางราชการได้กำหนดไว้เบื้องต้น ซึ่งผังเมืองคือแผนผังที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแต่ละประเภทที่ดิน โดยมุ่งหวังให้เป็นการส่งเสริมสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชาชน และสวัสดิภาพของสังคม อีกทั้งยังให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของการให้บริการระบบคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค และการสาธารณูปการในแต่ละบริเวณ เพื่อรองรับการพัฒนาของเมืองในอนาคตตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองเดิม วันนี้ Homeday นำสีผังเมืองแต่ละประเภทมาให้ทำความรู้จักกัน
ประเภทที่ดินและการกำหนดสีผังเมืองของที่ดิน
ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร หรือ ผังเมืองกรุงเทพฯ มีการแบ่งประเภทของที่ดินไว้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมบนพื้นที่ออกเป็น 6 ประเภทด้วยกัน และมีสีผังเมืองแตกต่างกันไป ดังนี้
1. โค้ดสีเหลือง ส้ม น้ำตาล
สีผังเมืองเหลือง ส้ม และน้ำตาล สำหรับที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย
ที่ดินประเภทนี้มีวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเป็นหลัก และถูกแบ่งสีผังเมืองโซนย่อยเป็น 3 เฉดสีตามปริมาณความหนาแน่นของการอยู่อาศัยในพื้นที่ ได้แก่
- ที่ดินอยู่อาศัยสีเหลือง สำหรับบริเวณที่มีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่ำ
- ที่ดินอยู่อาศัยสีส้ม สำหรับบริเวณที่มีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยปานกลาง และ
- ที่ดินอยู่อาศัยสีน้ำตาล สำหรับบริเวณที่มีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยสูง
2. โค้ดสีแดง
สีผังเมืองแดง สำหรับที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
ที่ดินประเภทนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ โดยในผังเมืองกรุงเทพฯ จะแทนที่พื้นที่ประเภทนี้ด้วยสีผังเมืองสีแดง โดยมีรหัสกำกับตั้งแต่ พ.1-พ.5 โดยแบ่งตามลักษณะของทำเลที่ตั้งเป็นหลัก
- ที่ดินสีแดงรหัส พ.1 และ พ.2 นั้นจะอยู่ในบริเวณชานเมือง โดยมีจุดประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชน เพื่อกระจายกิจกรรมการค้า ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการ ที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
- ส่วนที่ดินสีแดงรหัส พ.3 นั้นมีจุดประสงค์ต่างจากที่ดิน พ.1-2 ตรงที่จะเป็นการพาณิชย์ที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่เท่านั้น
- สำหรับที่ดินสีแดงรหัส พ.4 นั้นเริ่มมีวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า บริการ และนันทนาการ รวมไปถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากที่ดิน พ.4 จะตั้งอยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- ขณะที่ที่ดินสีแดงรหัส พ.5 นั้นขยายจุดประสงค์ให้กว้างขึ้นจากที่ดิน พ.4 โดยให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า บริการ นันทนาการ และการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดินสีแดงนี้สามารถสร้างที่อยู่อาศัยก็ได้และมีข้อจำกัดน้อยกว่าที่ดินสีอื่น
3. โค้ดสีม่วง
สีผังเมืองม่วง สำหรับที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
ที่ดินประเภทนี้มีจุดประสงค์ของการ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรม โดยใช้สีผังเมืองสีม่วงแทนในผังเมือง พร้อมรหัสควบคุม อ.1-อ.3
- ที่ดินรหัส อ.1 นั้นสำหรับการประกอบกิจการที่มีมลภาวะต่ำ
- ที่ดินรหัส อ.2 มุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมการผลิต
- ส่วนที่ดิน อ.3 นั้นกำหนดให้เป็นสีเม็ดมะปรางสำหรับใช้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. โค้ดสีเขียว
สีผังเมืองเขียว สำหรับที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
ที่ดินประเภทนี้จะแสดงเป็นกรอบขาวและเส้นทแยงสีเขียว รหัสกำกับ ก.1-ก.3 หรือแสดงเป็นพื้นที่สีเขียวรหัส ก.4 และ ก.5 จุดประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทนี้คือการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและแหล่งเกษตรกรรม การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อย รวมไปถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร นอกจากนี้อีกจุดประสงค์หนึ่งของที่ดินประเภทนี้คือการเป็นกันชนระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งยังมีหน้าที่รองรับน้ำให้กับกรุงเทพฯ ด้วย
5. โค้ดสีน้ำตาลอ่อน
สีผังเมืองน้ำตาลอ่อน สำหรับที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทย
เป็นสีผังเมืองสีน้ำตาลอ่อน มักจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ จุดประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทนี้อยู่ที่การอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงกิจกรรมการพาณิชย์และการท่องเที่ยว อันเป็นการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ที่ดินประเภทนี้จะอยู่ภายใต้รหัส ศ.1 และ ศ.2
6.โค้ดสีน้ำเงิน
สีผังเมืองน้ำเงิน สำหรับที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
เป็นที่ดินสีผังเมืองสีน้ำเงิน รหัส ส. ที่ดินประเภทนี้เป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งจะใช้เพื่อเป็นสถาบันราชการ หรือการดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ ยกตัวอย่างที่ดินของสถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน เป็นต้น ที่ดินสีน้ำเงินจึงกระจายอยู่ทั่วทุกเขตของกรุงเทพฯ และที่ดินบางแห่งซึ่งรัฐไม่ได้ใช้งานก็มีการนำมาสัมปทานให้เอกชนทำสัญญาเช่าเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ห้างสรรพสินค้า สำนักงานหรือคอนโดมิเนียมบางแห่งตั้งอยู่บนที่ดินสีน้ำเงิน
เมื่อเรารู้จักสีผังเมืองแล้ว เราก็จะทราบถึงทำเลเหล่านั้นว่ามีแนวโน้มความเป็นอยู่อย่างไร และในอนาคตที่ดินบริเวณนั้นมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ซึ่งมีผลต่อราคาที่ดิน สภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของเราด้วย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาจากทำเลในการสร้างบ้านเป็นปัจจัยในการเลือกสร้างบ้านแต่ละครั้งด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ