Do & Don’t น้ำส้มสายชูทำความสะอาดบ้าน เช็ดอะไรแล้วปัง เช็ดอะไรแล้วพัง?

ช่วงที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้เห็นการแชร์ประโยชน์ของน้ำส้มสายชูที่ไม่ใช่ในการทำอาหาร แต่เป็นการใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดบ้าน จับน้ำส้มสายชูผสมน้ำยานู่นนี่ก็สะอาดวิ้งวับ ช่วยให้การทำความสะอาดบ้านง่ายกว่าเคย ถูกใจบรรดาพ่อบ้านแม่บ้านสุด ๆ

แต่ใช่ว่าน้ำส้มสายชูจะสามารถใช้ได้กับทุกอย่าง เพราะการนำไปผสมกับน้ำยาบางชนิด หรือการนำไปเช็ดบนพื้นผิวบางพื้นผิวอาจทำให้พ่อบ้านแม่บ้านปวดหัวมากกว่าเดิมได้ บทความนี้ Homeday เลยอยากบอกข้อมูลเกี่ยวกับน้ำส้มสายชูว่าสามารถนำไปใช้งานในการทำความสะอาดแบบไหนได้บ้าง แล้วอะไรที่ไม่ควรใช้น้ำส้มสายชู

น้ำส้มสายชู ตัวช่วยสารพัดประโยชน์เรื่องงานบ้าน

ก่อนจะไปดูวิธีใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดบ้าน เราอื่นไปรู้จักกับน้ำส้มสายชูกันก่อน

น้ำส้มสายชูเป็นกรดประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘กรดน้ำส้ม’ ซึ่งได้จากการนำวัตถุดิบต่าง ๆ ไปหมัก น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ที่นอกจากจะให้รสเปรี้ยวไว้ปรุงเมนูต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้เพื่อทำความสะอาดได้ด้วย โดยฤทธิ์ความเป็นกรดของน้ำส้มสลายชูจะเข้าไปสลายโครงสร้างทางเคมีและการยึดเกาะของคราบต่าง ๆ

น้ำส้มสายชูมี 3 แบบหลัก ๆ ด้วยกัน

  • น้ำส้มสายชูหมัก
  • น้ำส้มสายชูกลั่น
  • น้ำส้มสายชูเทียม

ที่นิยมใช้กัน คือ น้ำส้มสายชูกลั่น เพราะจะมีแต่ส่วนที่เป็นกรดส้ม ไม่มีสี และเจือปนที่ไม่จำเป็น โดยให้เลือกความเข้มข้นที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด อีกข้อดีของการใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาด คือ เป็นพิษน้อยกว่าสารเคมีที่อยู่ในสารทำความสะอาดทั่วไป

DO! น้ำส้มสายชูทำความสะอาดชูเช็ดอะไรแล้วปัง?

มาดูกันว่าเจ้าเครื่องปรุงสีใสที่มีกลิ่นฉุนจะช่วยอะไรคุณพ่อบ้านแม่บ้านได้บ้าง

1. กระจก

ไม่ว่าจะกระจกแต่งหน้า กระจกกั้นในห้องอาบน้ำ หรือกระจุกที่ประตู หน้าต่าง คุณสามารถคืนความเงาวับให้กับกระจกเหล่านั้นได้ 

ส่วนผสม

  • น้ำเปล่า 1 ส่วน
  • น้ำส้มสายชูกลั่น 2 ส่วน

ผสมทั้ง 2 อย่างนี้ใส่ขวดสเปรย์ เขย่าเบา ๆ ให้เข้ากัน แล้วฉีดลงบนกระจก แล้วใช้ผ้าเช็ดตามได้เลย หรือทาคราบฝังแน่นหน่อย แนะนำให้ฉีดให้กระจกให้ชุ่ม รอสัก 1–2 นาที แล้วเช็ดออก

2. เคาน์เตอร์ครัว

ความเป็นกรดของน้ำส้มสายชูทำความสะอาดได้ทั้งคราบ และกลิ่นอาหาร รวมทั้งเชื้อโรคบนเคาน์เตอร์ครัวของคุณ หรือจะเป็นกระจกบนเตาไฟฟ้าก็ได้เหมือนกัน แต่! ถ้าเคาน์เตอร์ครัวของคุณทำจากหินธรรมชาติ เช่น หินอ่อน แกรนิต หรือหินแท้อื่น ๆ ห้ามใช้น้ำส้มสายชูเด็ดขาด เพราะน้ำส้มสายชูสามารถกร่อนเนื้อหิน และทำให้เกิดรอยด่างที่ลบไม่ออกได้

ส่วนผสม

  • น้ำเปล่า 1 ส่วน
  • น้ำส้มสายชูกลั่น 2 ส่วน
  • น้ำยาล้างจาน 1–2 ช้อนชา

ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน จะใช้เป็นขวดสเปรย์ฉีด แล้วเช็ด หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมไว้ แล้วเช็ดก็ได้เหมือนกัน

3. ห้องน้ำ

แทบทุกอย่างในห้องน้ำสามารถล้างได้ด้วยน้ำส้มสายชู แต่อย่างที่ได้บอกไปว่าถ้าในห้องน้ำของคุณมีส่วนประกอบของหินแท้ หินธรรมชาติ ห้ามใช้น้ำส้มสายชู มาดูกันว่าคุณสามารถใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดอะไรในห้องน้ำได้บ้าง

  • พื้นห้องน้ำ: ผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วนกับน้ำเปล่า 1 ส่วน ใช้พ่นที่พื้นห้องน้ำแล้วทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นขัดทำความสะอาดตามปก
  • ผนังห้องน้ำและอ่างอาบน้ำ: ใช้น้ำส้มสายชูกลั่นเทใส่ขวดสเปรย์แล้วฉีดให้ทั่วกำแพง หรืออ่างอาบน้ำ ทิ้งไว้ 5–10 นาที แล้วใช้แปรงหรือฟองน้ำขัดออก น้ำส้มสายชูจะช่วยสลายคราบสบู่ สิ่งสกปรก เชื้อรา และคราบจากเชื้อรา
  • ชักโครก: ราดน้ำส้มสายชู 250–500 มิลลิลิตร ลงในชักโครก โดยพยายามเทราดให้ทั่ว ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง แล้วขัดทำความสะอาดตามปกติ น้ำส้มสายชูจะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากชักโครก และสลายคราบหินปูนที่สะสมอยู่บนพื้นผิวในชักโครก
  • หัวฉีดสายชำระ ก๊อกน้ำ และฝักบัว: ทั้ง 3 จุดนี้เมื่อใช้ไปสักพักจะมีคราบหินปูเกาะ ทำให้น้ำไหลได้ไม่ดี และดูไม่สวยงาม แต่คุณสามารถใช้เทน้ำส้มสายชูใส่ถุงพลาสติก อย่างถุงแกง นำไปครอบบริเวณหัวฉีดและก๊อกน้ำ ทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วใช้แปรงขัดทำความสะอาดในช่วงเช้า

4. เชื้อราบนผนัง

บ้านที่มีปัญหารั่วซึม และเจอกับความชื้นสะสมมักเจอกับปัญหาราขึ้นผนังตามมา ทำให้ผนังมีรอยดำ ดูไม่สวยงาม แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยน้ำส้มสายชูเช่นเดียวกัน เพียงแค่ใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูกลั่นแล้วเช็ดไปที่รอยดำบนผนัง แล้วทิ้งไว้ได้เลยโดยไม่ต้องเช็ดออก นอกจากจะช่วยขจัดรอยดำแล้ว ยังช่วยลดการเติบโตของเชื้อราด้วย

5. ไมโครเวฟ

หลายคนอาจเคยเจอกับปัญหาคราบและกลิ่นอาหารฝังแน่นในไมโครเวฟ แต่ปัญหานี้จะหมดไปถ้าคุณได้รู้จักกับวิธีใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดไมโครเวฟ

ส่วนผสม

  • น้ำส้มสายชูกลั่น 60 มิลลิลิตร
  • น้ำเปล่า 250 มิลลิลิตร

เทรวมกันในชาม หรือแก้ว แล้วนำเข้าไมโครเวฟ 2–3 นาที จากนั้นใช้ผ้าเช็ดให้ทั่ว ถ้ายังมีคราบ และกลิ่น สามารถทำซ้ำได้อีก

นอกจาก 5 อย่างนี้แล้ว น้ำส้มสายชูยังสามารถใช้ทำความสะอาดสิ่งของและพื้นผิวต่อไปนี้ได้ด้วย

  • ซิงก์ล้างจาน
  • เครื่องล้างจาน
  • เครื่องครัวบางชนิด
  • กระเบื้องเคลือบ และเซรามิกเคลือบ

อะไรบ้างที่ไม่ควรทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชู?

แม้ว่าจะประโยชน์เยอะ แต่น้องน้ำส้มสายชูก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ซึ่งคุณควรเช็กให้ดีก่อนทำความสะอาดพื้นผิวต่อไปนี้ด้วยน้ำส้มสายชู

  • ไม้ และไม้เคลือบ
  • หินธรรมชาติ อย่างหินอ่อน และหินแกรนิต
  • หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี มือถือ แล็ปท็อป
  • มีดที่ทำจากเหล็กคาร์บอน
  • ยาง
  • พื้นผิวที่มีรูพรุน

กรดส้มของน้ำส้มสายชูอาจทำปฏิกิริยากับพื้นผิวเหล่านี้ จนเกิดการกัดกร่อน และทำให้พื้นผิวเสียหาย เกิดด่างตามมาได้ บอกเลยว่าเช็ดแล้วพัง ไม่ปังอย่างที่คิด

หลังอ่านบทความนี้จบ คุณพ่อบ้านแม่บ้านอาจเริ่มอยากลองใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดแล้ว สำหรับมือใหม่อาจหนักใจกับกลิ่นหน่อย สำหรับบางพื้นผิวที่อยู่ในที่ปิด คุณสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำส้มสายชูเพื่อกลบกลิ่นได้ด้วยนะ และทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับการใช้น้ำส้มสายชูในการทำความสะอาดบ้านแบบฉบับ Homeday

บทความที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด