ใครที่เคยดูหนัง ซีรี่ย์ หรือMV ของประเทศทางฝั่งตะวันตก หลายๆ ครั้ง เราจะเจอกำแพงของอาคารบ้านเรือนที่มีไม้เลื้อยเกาะอยู่ ดูสวยงาม คลาสสิคมาก ปัจจุบันในประเทศไทย ก็มีหลายๆ รีสอร์ท และคาเฟ่ที่เริ่มใช้ไม้เลื้อยบนผนัง เพื่อตกแต่งให้ดูสวย ดูดีมีสไตล์ นอกจากนั้นยังทำให้รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกด้วย
พันธุ์ของไม้เลื้อยที่นิยมปลูกกันบนกำแพงในประเทศไทย ได้แก่ ต้นตีนตุ๊กแก ต้นมธุรดา ต้นเหลืองชัชวาลย์ ต้นไอวี่ ซึ่งแล้วแต่ความชอบ กับความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ แต่การปลูกไม้เลื้อยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะพืชไม้เลื้อยบางชนิดที่กล่าวมา ก็เหมาะสมกับสภาพอากาศบางแบบเท่านั้น อีกทั้งไม้เลื้อยเหล่านี้ยังสามารถทำให้ผนัง หรือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนเสียหายได้ ถ้าไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เราจำเป็นต้อง รู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า ข้อดี และข้อเสียของการปลูกไม้เลื้อยบนผนัง รวมไปถึงการแก้ไขข้อเสียต่างๆ นั้น สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
ข้อดีของการปลูกพืชไม้เลื้อยปกคลุมผนัง
- ส่วนต่างๆ ของไม้เลื้อย ไม่ว่าจะเป็นใบ กิ่งก้าน หรือดอก จะช่วยกรองแสง ให้แสงอาทิตย์กระทบกับผนังอาคารบ้านเรือนน้อยลง ทำให้ช่วยลดอุณหภูมิสถานที่โดยรอบได้ เพราะไม้เลื้อยที่ปกคลุมผนังเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน 1 ชั้น และคายความร้อนออกไป โดยที่ความร้อนจะไม่สะสมอยู่ที่กำแพง หรือผนัง
- ใบของพืชไม้เลื้อยหลายชนิด โดยเฉพาะตีนตุ๊กแก มีความหนาแน่น ทำให้ช่วยกรองฝุ่นละอองที่ลอยฟุ้ง ช่วยดูดจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และช่วยเติมออกซิเจนให้กับบริเวณที่ปลูกพืชอีกด้วย
- ไม้เลื้อยบางชนิด สามารถป้องกันงูเลื้อยเข้ามาที่กำแพงได้ เพราะพื้นผิวของต้นพืชเหล่านี้ จะทำให้งูรู้สึกระคายส่วนท้องเมื่อเลื้อยผ่าน งูจึงไม่สามารถเลื้อยผ่านต้นพืชไม้เลื้อยเหล่านี้ได้
- ทำให้รู้สึกสดชื่น และรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งจะได้ดีผลมากในเมืองใหญ่ ที่ไม่ค่อยเห็นสีเขียวจากธรรมชาติมากนัก
- ไม้เลื้อยหลายชนิด สามารถทนต่อแสงแดด และอากาศร้อนที่บ้านเราได้ ยกเว้นต้นไอวี่ที่ชอบอากาศเย็นมาก จึงไม่สามารถปลูกในพื้นที่ที่แดดแรง หรือมีอากาศร้อนจัดได้
ข้อเสียของการปลูกไม้เลื้อยบนผนัง
- การที่มีไม้เหลืออยู่บนผนัง แม้บางชนิดจะทำให้งูไม่สามารถเลื้อยผ่านได้ แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีแมลง หรือสัตว์เล็กๆ เข้าไปอาศัยอยู่ในดงไม้เลื้อยได้ จึงต้องระวัง และดูแลให้ดี
- โดยปกติแล้วตัวพืชไม้เลื้อยบนผนัง จะไม่ได้ทำลายโครงสร้างของอาคารโดยตรง จะมีเพียงกิ่งก้าน และใบที่เหลือขึ้นมาเท่านั้น แต่รากอยู่ใต้พื้นดิน สิ่งที่จะทำให้ผนังเสียหายได้นั้น คือ ความชื้น เพราะเราจะต้องรดน้ำ หรือสเปรย์น้ำบนผนังเป็นประจำ จึงอาจเกิดปัญหาความชื้นบนผนัง จนทำให้เกิดเชื้อรา ตะไคร่ขึ้นที่ผนังได้
- การปลูกต้นตีนตุ๊กแก จะต้องไม่มีรอยร้าวที่ผนัง เพราะรากของตีนตุ๊กแก สามารถชอนไชเข้าไปตามร่องรอยเหล่านี้ และทำให้ผนังร้าวเสียหายมากขึ้นได้
- รากของต้นไม้เลื้อยที่ยึดเกาะอาคาร จะมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ไม่ว่าจะชอนไชเข้าไปในโครงสร้าง หรือในดิน เมื่อเวลาที่ต้องการรื้อออก จะทำให้ผิวหน้าดินกับผนังเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นตัวสีที่หลุดล่อนออกมา หรือปูนที่ผนังกระเทาะออกเป็นรอย ดูไม่สวยงาม
- ไม้เลื้อย ต้องหมั่นตัดแต่ง ดูแลให้ดีอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นอาจจะเลื้อยไปในบริเวณที่เราไม่ต้องการ ทำให้ดูรกรุงรังได้
การป้องกัน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพืชไม้เลื้อยบนผนัง
เมื่อได้รู้ข้อดี และข้อเสียของไม้เลื้อยแล้ว แต่บางท่านยังรู้สึกอยากที่จะปลูกไม้เลื้อยเหล่านี้บนผนังอยู่ ก็สามารถนำเทคนิคต่อไปนี้ไปใช้ได้ คือ การติดแผงตาข่าย หรือลวดขึงกรงไก่ นำมาติดตรึงตามแนวห่างจากผนังเล็กน้อย แล้วค่อยปลูก เพื่อให้รากของต้นของไม้เลื้อย ไต่ลวดแทนที่จะเกาะบนผนังตรงๆ วิธีนี้จะช่วยไม่ให้ไม้เลื้อย ทำอันตรายต่อผิวผนังให้เป็นรอยร้าว อีกทั้งยังช่วยป้องกันการซึมผ่านของความชื้น ตอนที่รดน้ำอีกด้วย ถือเป็นไอเดีย และการป้องกันอันตรายต่อพื้นผิวของผนังได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ข้อดี ข้อเสีย วิธีป้องกัน แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับไม้เลื้อยตกแต่งผนัง และเทคนิคการปรับปรุง สำหรับบางท่านที่สนใจจะปลูกไม้เลื้อย โดยที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจส่งผลต่อพื้นผิวผนังของท่าน สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันได้นะคะ