ประวัติความเป็นมาของสะพานพระรามต่างๆ จากบทความที่แล้ว มาติดตามกันต่อเลยดีกว่าค่ะ
สะพานพระราม 4
สะพานพระราม 4 หรือสะพานปากเกร็ดสร้างที่ปลายถนนแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งเหนือของเกาะเกร็ด สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ อ.ปากเกร็ด อ.บางบัวทอง และอ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ด เพื่ออำนวยความสะดวก ความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดแห่งนี้ว่า สะพานพระราม 4 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการออกแบบตกแต่งภูมิทัศน์ของสะพานตามแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อที่ได้รับพระราชทานมานั่นเองค่ะ
สะพานพระราม 5
เริ่มก่อสร้างเมื่อพ.ศ. 2542 โดยสร้างเชื่อมกับถนนนครอินทร์ และถนนติวานนท์ ที่ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี สะพานพระราม 5 นั้น สร้างขึ้นตามโครงการแก้ไขปัญหาจราจรแบบจตุรทิศตามแนวพระราชดำริ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 จึงทำการอัญเชิญพระนามพระราชทานพระราม 5 ไปเป็นชื่อสะพาน เมื่อทางกรมโยธาธิการได้ดำเนินการขอพระราชทานนาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดนครอินทร์แห่งนี้ว่า สะพานพระราม 5 เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ซึ่งปีดังกล่าวนี้ ยังเป็นปีที่จังหวัดนนทบุรีมีอายุ 453 ปีอีกด้วยค่ะ
สะพานพระราม 6
เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เชื่อมระหว่างแขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กับแขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2465 ควบคุมโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ต่อมาโดนทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สะพานขาด หลังจากซ่อมแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า สะพานพระราม 6 และโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้รถจักรไอน้ำ “บอลด์วิน” ล้อแบบแปซิฟิก หมายเลข 226 ทำขบวนเสด็จค่ะ
จัดได้ว่า “สะพานพระราม 4-6” นี้มีประวัติที่เก่าแก่มากเลยทีเดียว ซึ่งจากข้อมูลข้างต้น แอดมินได้รวบรวม และสรุปเนื้อหาคร่าวๆ มาบอกทุกคน และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คนนะคะ สามารถติดตามข้อมูลสะพานพระรามที่เหลือในบทความต่อไปได้เลยค่ะ
รู้หรือไม่! สะพานพระราม 1-9 อยู่ที่ไหน และมีความเป็นมาอย่างไร
ตอนที่ 1 https://homeday.co.th/history-of-rama-bridge-part-one/
ตอนที่ 2 https://homeday.co.th/history-of-rama-bridge-part-two/
ตอนที่ 3 https://homeday.co.th/history-of-rama-bridge-part-three/