ESG คืออะไร? รู้จักกับเทรนด์รักษ์โลกอย่างยั่งยืน ที่ภาคธุรกิจต้องตามให้ทัน

           “Sustainability ESG คืออะไร?” ESG คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงผลกำไร ควบคู่ไปกับการพัฒนา Environment (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งทั้ง 3 ส่วน เป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องมี ในยุคนี้ แม้เทรนด์ ESG จะเป็นเทรนด์เก่าที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หลังจากยุคโควิด-19 ที่เศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศได้รับความเสียหาย แนวคิด ESG ก็กลับมาเป็นกระแสขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งผู้บริโภคเริ่มมองเห็นปัญหาจากการทำธุรกิจมากขึ้น กลุ่มธุรกิจก็ต้องรีบปรับตัวตาม เพื่อให้ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกอยู่เสมอ และการที่จะเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคไว้ใจและเชื่อใจได้นั้น จะต้องมีมากกว่าแค่คุณภาพของสินค้า แต่ทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 3 มิติให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

@homeday.co.th 🌎 ESG คืออะไร? รู้จักกับเทรนด์รักษ์โลกอย่างยั่งยืน ที่ภาคธุรกิจต้องตามให้ทัน 🌳 #รู้หรือไม่ #tiktokuni #esg #ธุรกิจ #องค์กรธุรกิจ #รักษ์โลก #สิ่งแวดล้อม #ดูแลสิ่งแวดล้อม #ธุรกิจเพื่อสังคม #ตลาดหลักทรัพย์ #การลงทุน ♬ Suns – Official Sound Studio

Environment (สิ่งแวดล้อม)

           ตัว E จาก ESG คืออะไร? E ย่อมาจาก Environment การดำเนินธุรกิจ ทุกรูปแบบ ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาฯ, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจแฟชัน, ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจยา, ธุรกิจน้ำมัน หรือธุรกิจไหน ๆ ก็ย่อมมีส่วนในการทำลายโลกของเราด้วยกันทั้งสิ้น แนวคิดการทำธุรกิจที่ยึดหลัก Sustainability ESG ในส่วนของ “สิ่งแวดล้อม” เจ้าของธุรกิจ จะต้องมองภาพกระบวนการผลิตทั้งหมดของตัวเอง เพื่อหาจุดที่จะสามารถลด ละ หรือเลิก กระบวนการบางอย่าง ที่จะส่งผลเสียต่อโลก เช่น หากธุรกิจธุรกิจหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องกำจัดน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีการบำบัดน้ำเสีย ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เป็นต้น

Social (สังคม)

           ตัว S จาก ESG คืออะไร? S ย่อมาจาก Social ในแง่มุมของสังคม หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า CSR อย่างเช่นการบริจาคในนามขององค์กรภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งการทำ CSR ก็ถือว่าเป็นการตอบแทนสังคมรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่สิ่ง ๆ นั้น อาจไม่สอดคล้อง หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ เช่น การบริจาคผ้าห่ม, การบริจาคอาหาร, การบริจาคสิ่งของ หรือการบริจาคเงิน ให้กับพื้นที่ยากไร้ แต่ในแง่มุมของ ESG นั้น จะแตกต่างออกไป ไม่ใช่เพียงการบริจาคที่ปลายทางหลังจากบริษัทได้ผลกำไรมาแล้วเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงไปถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชน, สุขภาพ, ความปลอดภัย ต่อบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องในระบบธุรกิจทั้งหมด เช่น หากธุรกิจธุรกิจหนึ่ง ต้องการผลิตเสื้อผ้าตามเทรนด์ขายในจำนวนมาก ต้องการขายสินค้าราคาแพง แต่ต้องการต้นทุนที่ต่ำ จึงเลือกวิธีบังคับใช้แรงงาน ให้ทำงานหนัก และกดค่าแรง หรือแม้แต่ธุรกิจที่นำข้อมูลของลูกค้าไปเผยแพร่ ธุรกิจเหล่านี้ ก็จะถือว่าสอบตกในมิติของ “สังคม” ตามความหมายของแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Governance (ธรรมาภิบาล)

           ตัว G จาก ESG คืออะไร? G ย่อมาจาก Governance ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ Governance ก็คือหลักคุณธรรมที่ผู้ดำเนินธุรกิจจะต้องมี ในส่วนของการกำกับดูแลนั่นเอง ว่าการบริหารจัดการนั้น มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ วิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นอย่างไร ผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิและความเท่าเทียมกันหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารใช้เงินบริษัทในการใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว ก็จะถือว่าขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร เป็นต้น

           เมื่อภาคธุรกิจ สามารถดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ได้แล้ว ธุรกิจก็จะเกิดภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจในระยะยาวขององค์กรนั้น ๆ นักลงทุนก็ย่อมให้ความสนใจ แถมตัวภาคธุรกิจเองก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เมื่อทราบแล้วว่า ESG คืออะไร ผู้บริโภคอย่างเรา นอกจากจะได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพแล้ว ก็ยังเป็นการสนับสนุนองค์กรที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอีกด้วย เรียกว่าได้รับผลประโยชน์กันทุกฝ่าย โลกและสิ่งแวดล้อมของเราก็จะดีขึ้นอย่างยั่งยืนตามไปด้วย

บทความที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด