สถานีกลางบางซื่อ หรือในชื่อใหม่ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อแทนชื่อเดิมสถานีกลางบางซื่อ มีความหมายว่า “ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร” แต่หลายคนก็ยังเรียกสั้น ๆ ติดปากว่า “สถานีกลางบางซื่อ” สถานีแห่งนี้ จะมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีรายละเอียดการเดินรถอย่างไรบ้าง วันนี้ Homeday นำข้อมูลมาฝากทุกคนกันครับ
รู้จักกับสถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีรถไฟที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย แทนที่สถานีหัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพ) ที่เรารู้จักกันดีนั่นแหละครับ โดยสถานีกลางบางซื่อนั้น ตั้งอยู่ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ใจกลางศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ถือเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและของอาเซียน (ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ภายในสถานี มีชานชาลามากถึง 26 ชานชาลา และเมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทาง สถานีแห่งนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยเลยล่ะครับ
สถานีกลางบางซื่อมาแทนที่สถานีหัวลำโพง
หลายท่านคงจะคุ้นเคยกับสถานีหัวลำโพงกันเป็นอย่างดี เพราะที่นี่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นจุดรวมรถไฟหลักที่วิ่งหลากหลายเส้นทางในประเทศ การย้ายสถานีหลักอย่างหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อแทนนั้น มีเหตุผลครับ โดยเหตุผลหลัก ๆ จาหตัวแทนรัฐบาล คือเรื่องของการแก้ไขปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเหตุผลรองลงมา ก็เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพงเดิม ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์แทน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมของการรถไฟ และเปลี่ยนตัวสถานีให้เป็นพิพิธภัณฑ์แทน ซึ่งทั้งสองเหตุผล ก็มีความคิดเห็นจากประชาชนที่แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกันครับ เนื่องจากมองว่าการแก้ปัญหาสามารถเลือกวิธีอื่น ๆ ได้ แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อ ก็ได้เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วล่ะครับ
สถานีกลางบางซื่อเชื่อมต่อกับระบบรางใดบ้าง
สถานีกลางบางซื่อ เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว จะสามารถรองรับรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทุกเส้นทางครับ รวมไปถึงผู้ให้บริการอื่น ๆ โดยในปัจจุบันเส้นทางรถไฟที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อมีทั้งหมดดังต่อไปนี้ครับ
การรถไฟแห่งประเทศไทย
-
- รถไฟสายเหนือ
- รถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
- รถไฟสายใต้
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการเดินรถชั่วคราว)
-
- รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
- รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
โดยในอนาคต จะมีการเพิ่มการเข้าถึงเส้นทางรถไฟอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และทำให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นจุดศูนย์รวมการเดินทางที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ครับ โดยเส้นทางรถไฟที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อในอนาคต ได้แก่
บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
-
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ส่วนรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง เป็นเส้นทางรถไฟอนาคต (อันไกล) จากสถานีรถไฟคุนหมิง ประเทศจีน ไปยังสถานีรถไฟจูรงตะวันออก ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งตัวสถานีจะทำหน้าที่เป็นสถานีชุมทางในการเปลี่ยนสายระหว่างช่วง กรุงเทพฯ-ลาว-จีน (สายอีสาน) และกรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (สายใต้) ซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็อาจจะอีก 10 ปีข้างหน้าโน่นเลยครับ ต้องติดตามกันต่อไปครับ สำหรับสายเชื่อมหลายประเทศสายนี้
รายละเอียดภายในสถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 304,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยบริษัท ดีไซน์ คอนเซป จํากัด กว้าง 180 เมตร ยาว 520 เมตร สูง 43 เมตร ภายในสถานีกลางบางซื่อ ไม่ได้มีแค่เฉพาะชานชาลาเท่านั้นครับ แต่ยังมีพื้นที่ใช้งานอื่น ๆ ที่สามารถใช้จัดงานต่าง ๆ ได้ อย่างที่งานหนังสือเองก็เคยมาจัดที่นี่เช่นกัน หรือแม้แต่การเข้ารับการฉีดวัคซีนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางสถานีกลางบางซื่อก็ให้พื้นที่สำหรับประชาชนในการเข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน โดยรายละเอียดของแต่ละชั้นภายในสถานีกลางบางซื่อมีดังต่อไปนี้ครับ
-
- บึงน้ำ: พื้นที่ขนาด 14,000 ตารางเมตร
- ชั้นใต้ดิน (ที่จอดรถ): พื้นที่ขนาด 72,000 ตารางเมตร เป็นที่จอดรถยนต์สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน ที่จอดรถคนพิการ 19 คัน รวมสามารถจุรถได้ 1,700 คัน
- ชั้นลอย: พื้นที่ขนาด 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ของร้านค้าและห้องควบคุมต่าง ๆ
- ชั้นที่ 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว: พื้นที่ขนาด 86,000 ตารางเมตร เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว, ร้านค้า, ศูนย์อาหาร, อาคารสำนักงาน, พื้นที่พักคอย, ห้องน้ำ และเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือ MRT สถานีบางซื่อได้อีกด้วย
- ชั้นที่ 2 ชานชาลารถไฟ Meter Gauge: พื้นที่ขนาด 67,000 ตารางเมตร ชานชาลาขนาดทาง 1 เมตร ประกอบไปด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชลา และ รถไฟชานเมือง สายสีแดง 4 ชานชลา
- ชั้นที่ 3 ชานชาลารถไฟ Standard Gauge: พื้นที่ขนาด 67,000 ตารางเมตร ชานชาลาขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าความเร็วสูง 10 ชานชลา และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ แอร์พอาร์ต เรล ลิงก์ 2 ชานชลา
สถานีกลางบางซื่อคิดค่าบริการจอดรถอย่างไร?
สำหรับราคาค่าที่จอดรถสถานีกลางบางซื่อใน 30 นาทีแรก สามารถจอดได้ “ฟรี” ครับ แต่หากจอดนานเกินกว่า 30 นาที จะคิดเพิ่มชั่วโมงละ 20 บาท ถ้าไม่ได้มาบ่อย ๆ นาน ๆ มาที จ่ายแบบนี้ไปก็ได้ครับ แต่หากต้องแวะมาจอดและจรเป็นประจำทุกวัน ที่สถานีกลางบางซื่อมีราคาเหมาจ่ายให้เลือก 2 แบบ แบบแรกคือแบบเหมาจอดรายวัน ราคาจะอยู่ที่ 250 บาท และแบบที่สองคือแบบเหมาจอดรายเดือน ราคาจะอยู่ที่ 2,500 บาทครับ
รถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี เส้นทางสถานีกลางบางซื่อ-สถานีหัวลำโพง
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดให้บริการรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) โดยปรับเปลี่ยนต้นทาง/ปลายทางกลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ด่วน เร็ว จำนวน 52 ขบวน จากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินรถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี เส้นทาง “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ทางด่วน)” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทาง เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ ทั้ง 2 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
โดยผู้โดยสารสามารถใช้บริการขึ้นรถ Shuttle Bus ได้ที่ป้ายรถเมล์สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ประตู 12 เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. เป็นประจำทุกวัน โดยในชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 05.00-09.00 น. และเวลา 16.00-18.00 น. รถ Shuttle Bus จะออกทุก ๆ 15 นาที
นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้ เช่น ขบวนรถไฟชานเมืองที่ให้บริการเดินรถเข้า-ออกสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 26 ขบวนต่อวัน ให้บริการตั้งแต่เวลา 04.15-20.17 น. หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยสอบถามตารางเวลารถ หรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Facebook Fanpage “ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย”
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีกลางบางซื่อ
-
- กล้องวงจรปิด
- บันไดเลื่อน
- เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
- ศูนย์อาหาร
- SRT BOT หุ่นยนต์ต้อนรับอัจฉริยะ
- ที่จอดรถสำหรับคนพิการ
- ป้ายบอกทาง
- ลานจอดรถใต้ดิน
- ลิฟท์
- ที่พักคอยผู้โดยสาร
- Wheelchair นำทางอัจฉริยะ
จุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานีกลางบางซื่อ
เป็นสถานี “อารยสถาปัตย์” ตามหลัก Universal Design โครงสร้างนาฬิกาแบบหน้าปัดมีเข็มนาฬิกา ซึ่งหน้าปัดมีเพียงตัวเลขบอกเวลาหมายเลข ๙ เท่านั้น ได้ถูกยกเพื่อติดตั้งที่หน้าโดมของสถานีกลางบางซื่อแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้จัดการวางระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ใช้งานได้เป็นปกติ จากภาพนาฬิกานี้ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นาฬิกานี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งอยู่บนผนังกระจกสถานีกลางบางซื่อ มีความสูงจากระดับพื้นดินถึงจุดศูนย์กลางนาฬิกา 21 เมตร สำหรับหน้าปัดนาฬิกาที่มีเพียงหมายเลข ๙ เกิดจากความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๙ และตั้งใจที่จะให้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของสถานี
โครงการนําร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G เป็นการพัฒนาต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้จากที่นี่ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง เชื่อมโยงไปถึงทางน้ำและทางอากาศด้วย ยกตัวอย่างบริการ 5G ที่อยู่ภายในสถานีกลางบางซื่อ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเดินทาง ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ มีระบบรักษาความปลอดภัย การให้บริการข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงในระหว่างการเดินทาง รวมถึงการจัดการเดินขบวนต่าง ๆ คาดว่ามีผู้ใช้บริการกว่า 200,000 คน/วัน
โครงการนําร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G เป็นการพัฒนาต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้จากที่นี่ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง เชื่อมโยงไปถึงทางน้ำและทางอากาศด้วย ยกตัวอย่างบริการ 5G ที่อยู่ภายในสถานีกลางบางซื่อ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเดินทาง ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ มีระบบรักษาความปลอดภัย การให้บริการข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงในระหว่างการเดินทาง รวมถึงการจัดการเดินขบวนต่าง ๆ คาดว่ามีผู้ใช้บริการกว่า 200,000 คน/วัน
สถานีกลางบางซื่อ เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามหลัก TOD เป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) คือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีหรือระบบขนส่งมวลชน ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมในรูปแบบผสมผสาน ทั้งตั้งอยู่ในระยะเดินเท้าจากสถานีขนส่งมวลชนและศูนย์กลางพาณิชยกรรม โดยจัดสรรการใช้พื้นที่ให้มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน พื้นที่โล่งว่าง และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งบริการพื้นฐานต่าง ๆ และส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดินทางด้วยยานพาหนะหลากหลายประเภท ทั้งระบบขนส่งมวลชน จักรยาน และการเดินเท้า ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งแนวคิด TOD ได้รับความสนใจในนโยบายการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ สร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนให้ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ การพัฒนาขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูงจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง การที่ปริมาณผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสูงขึ้น นอกจากจะเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีมูลค่าสูงรวมทั้งต้นทุนในการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ความหนาแน่นสูงแล้ว ยังทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ที่พักอาศัยและสำนักงานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสูงขึ้น โดยภาครัฐหรือเอกชนที่ลงทุนในการพัฒนาระบบสามารถนำมูลค่าส่วนเพิ่มมาสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนได้ โดยต้องมีการวางแผนครอบคลุมทุก ๆ ด้าน ได้แก่ ผังเมือง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และมาตรการต่าง ๆ
แม้ว่าตอนนี้สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้ใช้งานแล้ว แต่ก็ถือว่ายังไม่ได้เปิดบริการอย่างสมบูรณ์แบบครับ ยังคงมีการพัฒนาขยับขยายต่อไปในอนาคตที่ต้องคอยติดตามกันต่อไป เพราะตอนนี้ก็ถือได้ว่าสถานีกลางบางซื่อ กลายมาเป็นหัวใจแห่งใหม่สำหรับระบบขนส่งทางรางแล้ว หากมีความคืบหน้าใหม่ ๆ เมื่อไหร่ ทาง Homeday ไม่พลาดที่จะนำมาฝากทุกคนกันอย่างแน่นอนครับ
บทความที่คุณอาจสนใจ