ใบกระท่อม เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมายที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านานแล้วค่ะ เพราะมันสามารถรักษาและบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะอาการท้องร่วง ท้องบิด ปวดมวนท้อง บ้างก็นำมาทานเพื่อชูกำลัง ให้สามารถทำงานตากแดดได้อึดทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีหลากหลายประเทศที่นำสรรพคุณของใบกระท่อม ไปใช้ในทางการแพทย์ แต่ก็มีหลายคนเลยค่ะ ที่นำใบกระท่อม ไปใช้ในทางผิดกฎหมาย โดยผสมสูตรให้กลายเป็นยาเสพติด จึงทำให้มีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับใบกระท่อม และทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะใช้ค่ะ วันนี้ Homeday นำ 12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับใบกระท่อมมาฝากกัน เพื่อลดความเข้าใจผิด และเป็นการอธิบายถึงสรรพคุณทางยา ว่าถ้าหากเราใช้อย่างถูกต้องแล้ว ใบกระท่อมจะช่วยรักษาโรคอะไรให้เราได้บ้างค่ะ
1. สารสำคัญที่พบในสารสกัดใบกระท่อม
คือสาร Mitragynine เป็นสารกลุ่ม Indole alkaloids มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย ช่วยลดการเจ็บปวด, ต้านการอักเสบ, กระตุ้นประสาท, ต้านการซึมเศร้า, ลดการหลั่งกรด, ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก, ลดการอยากอาหาร, มีผลต่อความจำ ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในมนุษย์
2. คำแนะนำการกินใบกระท่อมตามหลักแพทย์แผนไทย
หากเราเลือกที่จะกินใบสด ใน 1 วัน เราสามารถกินได้ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ใบค่ะ โดยต้องไม่ลืมที่จะดื่มน้ำตามให้มาก ๆ ด้วยนะคะ หากอยากต้มดื่ม ก็สามารถใช้ใบสด 3-4 ใบ ต้มกับน้ำสะอาด 1 สิตร เคี่ยวจนน้ำเหลือครึ่งหนึ่ง แล้วแบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้วชา หรือครึ่งแก้วชาก็ได้ค่ะ แต่ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 5 กรัมหรือประมาณ 5 ใบนะคะ เพราะจากประโยชน์จะกลายเป็นโทษได้
3. ใบกระท่อมรักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ได้
ไม่ว่าจะเป็นอาการ ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องบิด ปวดมวนท้อง หรืออาการใด ๆ ที่เกิดจากลำไส้ เราสามารถใช้ใบกระท่อมสดหรือใบกระท้อมแห้ง ในการเคี้ยว หรือต้มดื่ม เพื่อรักษาอาการได้ค่ะ
4. ใบกระท่อมบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ใบกระท่อมช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เพราะฤทธิ์ของใบกระท่อม จะช่วยกดความรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัวได้ ช่วยให้มีความอึดมากขึ้น หรือที่คนใช้แรงงานนิยมใช้ใบกระท่อมกัน ก็เพราะเหตุจากสรรพคุณในข้อนี้นั่นเองค่ะ เพราะเมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ก็จะทำงานหนักได้ทนทานมากขึ้นนั่นเอง
5. ใบกระท่อมช่วยบำรุงกำลัง และช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น
สืบเนื่องมาจากข้อที่ 4 เลยค่ะ นอกจากกล้ามเนื้อจะผ่อนคลายแล้ว ใบกระท่อมยังชูกำลัง กระตุ้นให้ร่างกายมีความสามารถในการอดทนต่อการใช้แรงงานหนัก ทนแดดได้นานขึ้น แม้จะใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็พบว่ามีผู้ที่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีอาการไม่พึงประสงค์อย่าง ปากแห้ง ท้องผูก ผิวคล้ำ เบื่ออาหาร และน้ำหลักลดลงได้ด้วยเช่นกันค่ะ
6. ใบกระท่อม ใช้แก้ปวดแทนมอร์ฟีนได้
ในใบกระท่อมมีสารสำคัญที่ชื่อว่า Mitragynine ซึ่งพบในใบกระท่อมไทยมากถึง 66% เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่ม LSD และยาบ้า จึงมีฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด กระตุ้นความรู้สึกเคลิ้มสุข และทำให้ง่วงซึม นอกจากนี้ก็ยังพบสาร 7-hydroxymitragynine ในใบกระท่อมอีกด้วย สารตัวนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวดในหนูทดลองได้ดีกว่ามอร์ฟีนถึง 13 เท่า! อีกทั้งยังให้ผลข้างเคียงน้อยกว่าอีกด้วย
7. ใบกระท่อมสามารถแก้ไอ รักษาแผลในปาก และถอนพิษได้
ตามหัวข้อเลยค่ะ กระท่อมเป็นยาสมุนไพรที่สามารถรักษาอาการไอ อีกทั้งยังสามารถสมานแผลในปาก ห้ามเลือด และถอนพิษจากพืชหรือสัตว์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้กับพิษได้ทุกรูปแบบนะคะ อย่างไรก็ตามหากถูกพิษจากสัตว์ร้ายก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
8. ใบกระท่อมช่วยเลิกยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ได้
ด้วยความที่ใบกระท่อมไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงเหมือนกับสารตัวอื่น ๆ ในต่างประเทศจึงนิยมใช้ใบกระท่อมในการลดอาการขาดยาเสพติดอย่างพวก ฝิ่น เฮโรอีน มอร์ฟีนด้วยค่ะ
9. ใบกระท่อมช่วยลดความดันได้
ใบกระท่อมมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จึงช่วยลดความดันโลหิต และผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ค่ะ อีกทั้งในตำรับยาแผนโบราณยังมีการใช้ใบกระท่อมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วยค่ะ
10. ใบกระท่อมช่วยรักษาเบาหวานได้
สารสกัดในใบกระท่อมช่วยเพิ่มการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส ซึ่งอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานของอินซูลิน แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมให้มากกว่านี้เสียก่อน เพื่อเปรียบเทียบผลดีและผลเสียที่จะได้ แม้ตำหรับยาไทยจะมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาโรคเบาหวานมาอย่างช้านานแล้วก็ตาม
11. ใบกระท่อมช่วยลดความอ้วนได้
ยังไม่มีการยืนยันนะคะ ว่าใบกระท่อมสามารถลดความอ้วนได้จริง แม้ว่าการเคี้ยวใบกระท่อมจะช่วยลดความรู้สึกอยากอาหารได้ก็ตาม ทางที่ดีควรลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีที่สุดค่ะ
12. ใบกระท่อม ใช้มากเกินพอดี มีอันตราย และไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ได้
การใช้ใบกระท่อมต่อวันมากกว่า 15 กรัม จะส่งผลให้มีอาการมึนเมา คลื่นไส้อาเจียน เห็นภาพหลอน ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้คนท้อง, คนที่กำลังให้นมลูก, ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อประสาทส่วนกลาง ตับและไตบกพร่อง, ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด, ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ควรหลีกเลี่ยงเลยค่ะ เพราะอาจส่งผลร้ายและอันตรายมากถึงชีวิตได้
และนี่ก็เป็น 12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับใบกระท่อมที่เรานำมาฝากกัน จะเห็นได้เลยว่ามีประโยชน์มากมายหลากหลายประการเลย ถือเป็นสมุนไพรไทยที่ดีอีกหนึ่งชนิด ที่ไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรระมัดระวังในการบริโภคให้มาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงและอันตรายได้ เพียงเท่านี้ เราก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนแล้วล่ะค่ะ