กทม. ขยายเวลาตรวจสอบบัญชีรายการที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างแล้วนะทุกคน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงให้ขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศพร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ ภายในเดือนมกราคม 2564 นี้ค่ะ!!วันนี้แอดมินเลยมาแนะนำ เรื่องต้องรู้ ! ก่อนจ่ายอัตราภาษีที่ดินมาฝากกันค่ะ
ถ้าจ่ายภาษีที่ดินล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ ?
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้เสียภาษีภายในเดือนถัดไป เพื่อให้มาชําระภาษีค้างชําระ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยจะเสียค่าปรับดังนี้
- ถ้าไม่ได้มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กําหนด (ภายในเดือนเมษายน 2564) แต่ต่อมาได้มาชําระภาษีก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 10 ของจํานวนภาษีค้างชําระ
- ถ้าจ่ายภาษีภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือนให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของจํานวนภาษีค้างชําระ
- ถ้าจ่ายภาษีภายหลังจากเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 40 ของจํานวนภาษีค้างชําระ
- ผู้เสียภาษีที่มิได้ชําระภาษีภายในเวลาที่กําหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของ จํานวนภาษีค้างชําระ โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกําหนดเวลาชําระภาษีจนถึงวันที่มีการชําระภาษี แต่ต้องไม่เกินกว่าจํานวนภาษีที่ต้องจ่าย
นอกจากนี้ ถ้าผู้เสียภาษีไม่มาชําระภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะส่งข้อมูลการค้างชำระไปให้สำนักงานที่ดิน ทำให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจะทําไม่ได้
หากมีภาษีค้างชำระ และหากพ้นกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ค้างชําระภาษีได้รับหนังสือแจ้งเตือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยึด อายัด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชำระภาษีไปขายทอดตลาดได้
อัตราการจัดเก็บ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ อยู่อาศัยหลังแรก (ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน)
** เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน **
- ราคา 0-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% ต่อปี หรือล้านละ 200 บาท
- ราคา 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% ต่อปี หรือล้านละ 300 บาท
- ราคา 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% ต่อปี หรือล้านละ 500 บาท
- ราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.1% ต่อปี หรือล้านละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ กรณีของโฮมสเตย์ โฮสเทล และ Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) นั้น ถือว่าเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก จะต้องเสียอัตราภาษีในเชิงพาณิชย์ (เสียภาษีล้านละ 3,000 บาท)
** เป็นเจ้าของบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ** (บ้านหลังแรกและมีชื่อในทะเบียนบ้าน)
กฎหมายก็ยกเว้นภาษีที่ดินให้เช่นกัน โดยคนที่เป็นเจ้าของบ้านมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีค่ะ
ส่วนคนที่เป็นเจ้าของบ้าน มูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ในช่วง 2 ปีแรก ต้องเสียภาษีที่ดินแบบขั้นบันได ตามราคาของสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ 0.02 – 0.10% แล้วหลังจากนั้นจะเสียภาษีที่ดินในอัตราไม่เกิน 0.3%
ส่วนวิธีคำนวณภาษีที่อยู่อาศัยที่เราเป็นเจ้าของบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เหมือนกับกรณีที่อยู่อาศัยหลังแรก โดยต้องลบมูลค่าที่กฎหมายยกเว้นให้ออกไปก่อน ซึ่งกรณีนี้คือ 10 ล้านบาทแรก แล้วค่อยนำมูลค่าที่เหลือมาคูณอัตราภาษีที่ดินค่ะ
ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป
กรณีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 จะไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ โดยช่วง 2 ปีแรกต้องเสียภาษีที่ดินแบบขั้นบันได ตามราคาของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ 0.02 – 0.10% และหลังจากนั้น จะเสียภาษีที่ดินในอัตราไม่เกิน 0.3% ค่ะ
วิธีคำนวณภาษีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป
ภาษีที่ดินที่ต้องจ่าย = มูลค่าบ้าน/คอนโด x อัตราภาษีที่ดิน
ตัวอย่าง มูลค่าคอนโดฯ 3 ล้านบาท 3,000,000 x 0.02% เท่ากับเราต้องเสียภาษีที่ดิน 600 บาท (ช่วง 2 ปีแรก) หรือล้านละ 200 บาทค่ะ
สำหรับคนที่มีบ้านหลายหลังควรทำอย่างไรดี ?
- โอนบ้านเป็นชื่อทายาทหรือลูกหลาน การโอนบ้านเป็นชื่อลูกนั้น จะได้รับสิทธิบ้านหลังแรก ซึ่งยกเว้นภาษี 50 ล้านบาท
- ย้ายชื่อไปอยู่บ้านที่แพงที่สุด ซึ่งบ้านหลังแรกหรือหลังที่เราอยู่จะได้รับการยกเว้นภาษี50ล้านบาท เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปเยอะเลยทีเดียวล่ะค่ะ
ลดภาระภาษี 90% ที่ดินทุกประเภท
กรณีที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
แม้ว่าการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะดูยุ่งยากหลากหลายขั้นตอนจนบางครั้งอาจจะทำให้เราสับสน แต่การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตามบทกฎหมายไทย ที่นอกจากจะเพิกเฉยไม่ได้แล้วยังต้องทำความเข้าใจเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและถูกกฎหมายเช่นกันค่ะ