การซื้อบ้าน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หรือเป็นหนี้ในระยะยาว เราจึงควรคิดให้ดีก่อนทำการตัดสินใจซื้อ ต้องพิจารณาในหลายๆ ด้าน วางแผนการเงินให้ดี วันนี้แอดมิน จะมาแนะนำให้ทุกคนเช็คความพร้อมของตัวเอง ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน จะมีอะไรบ้างที่มาดูกันเลยค่ะ
1. รู้ความต้องการของตัวเอง
บ้านที่ดีควรตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเราได้เป็นอย่างดี โดยควรคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง และรูปแบบของที่พักอาศัย อย่างเช่น ชอบปลูกต้นไม้ ชอบวาดรูป ชอบทำอาหาร ชอบชวนเพื่อนฝูงมาบ้าน ต้องทำงานจากที่บ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะกำหนดรูปแบบบ้านของเราได้ว่า ควรเป็นแบบไหน จะเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม บริเวณรอบบ้าน ห้องอเนกประสงค์ต่างๆ เป็นอย่างไร และควรเลือกที่เดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า มอร์เตอร์เวย์ หรือชอบชานเมือง ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของเราเลย
2. ตรวจสอบความพร้อมด้านการเงินของเรา
ดูรายได้ และรายจ่ายของเราต่อเดือนว่าจะสามารถกู้ และผ่อนจ่ายได้หรือไม่ ที่สำคัญยังต้องมีเงินเก็บสำรอง เผื่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาอีก เช่น ค่าส่วนกลาง ค่ากองทุน ค่าโอน จดจำนอง ยังรวมไปถึง ค่าตกแต่งบ้าน ค่าขนย้าย ซื้อเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น หากเรามีความพร้อมในการจัดสรรด้านการเงินแล้ว ก็จะได้ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา
3. ทำเล และสิ่งแวดล้อม
บ้าน คือ ที่พักอาศัย และพักผ่อนของเรา นอกจากจะดูโครงการที่ดีแล้ว จะต้องพิจารณาถึง สิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยว่า ที่ตั้งของโครงการใกล้กับสถานที่อะไรบ้าง มีความปลอดภัยเพียงใด ที่รกร้างข้างๆ ทางโครงการจะสร้างอะไรในอนาคตไหม เช็คมลภาวะ เสียง กลิ่น ที่อาจส่งผลรบกวนในภายหลังได้ รวมไปถึงความเป็นที่ลุ่มต่ำ การระบายออกของน้ำ เมื่อฝนตกหนักดีหรือไม่ ความสะดวกต่อการใช้ชีวิต ใกล้ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต คนพลุกพล่านเกินไปหรือไม่ อาจจะลองเดินทางเข้าไปสำรวจด้วยตนเองบ่อยๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น ช่วงเช้า กลางวัน และกลางคืน ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
4. เช็คสินเชื่อที่อยู่อาศัย
โดยนำหลายๆ ธนาคารมาเปรียบเทียบกัน ดูที่อัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ ควรเลือกธนาคารที่มีตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดไว้ก่อน
5. ใช้บริการตัวแทนอสังหาริมทรัพย์
เราสามารถใช้บริการตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ได้ หากเราไม่มีความรู้มากเพียงพอ จึงไม่มั่นใจว่าจะได้บ้านที่ดีหรือไม่ การใช้บริการตัวแทน หรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นวิธีการที่ดี เพราะส่วนมากตัวแทน จะมีความรู้ในทำเล และข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในทำเลนั้นเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลราคาซื้อขายที่เหมาะสมให้กับเราได้ดีอีกด้วย
6. การตรวจสอบบ้าน
บางครั้งผู้ซื้ออาจจะไม่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญเพียงพอ จึงไม่ทันได้สังเกตข้อบกพร่อง ปัญหาต่างๆ ของบ้านหลังได้ โดยส่วนมาก หากมีปัญหาจริงๆ ผู้ขายอาจจะทำการปกปิดเอาไว้ การใช้บริการผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยตรวจสอบบ้าน ถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง เพื่อจะได้เห็นจุดบกพร่องต่างๆ ได้ชัดเจน และสามารถแก้ไขได้ทัน ก่อนที่จะเซ็นต์รับโอนบ้าน
7. เช็คด้วยการจดบันทึก
การจดบันทึก เป็นเรื่องที่สำคัญ ในบางครั้งข้อมูลในเอกสาร อาจระบุไว้ไม่หมด หรือไม่ชัดเจน หากมีรายละเอียดเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในเอกสาร ให้ทำการจดบันทึกไว้อย่างละเอียด เพื่อกันการหลงลืม การเข้าใจที่คาดเคลื่อนกัน ถ้าหากมีข้อสงสัยต้องการทราบข้อมูลเพิ่ม ก็ให้เราจดบันทึกเอาไว้ เพื่อหาข้อมูล และคำตอบไว้ก่อนตัดสินใจซื้อ
8. เช็คความพอใจ ก่อนตัดสินใจซื้อ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว รวมไปถึงทราบสถานะทางการเงินของเราแล้ว ก็ให้ตัดสินใจอีกครั้งว่า เรามีความพอใจที่จะซื้อบ้านหลังนั้นแค่ไหน มีข้อดี และข้อเสียอะไรบ้าง ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระไปอีกหลายปี ค่าบำรุง ค่าต่อเติมซ่อมแซมในอนาคต เมื่อเราตอบคำถามได้อย่างครบถ้วนแล้ว เราก็จะสามารถทำการตัดสินใจซื้อบ้านหลังนั้นได้เลย
บางท่านอาจสงสัยว่าระหว่างซื้อบ้าน กับการสร้างบ้านใหม่แบบไหนดีกว่ากัน การซื้อบ้านใหม่ โครงการมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อตอบสนองความต้องการของเราอยู่แล้ว แต่หากอยากได้แบบบ้านที่ตรงกับความต้องการของเราที่สุด การซื้อที่ดินและสร้างบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม แต่การก่อสร้างจะมีความเสี่ยงหลายอย่างมากกว่า ทั้งในเรื่องระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมไปถึงปัญหาของช่างรับเหมาที่อาจจะเจอด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ตามมาจึงจะสูงกว่าการซื้อบ้านใหม่ตามโครงการ
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลที่ต้องเช็คให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องตัดสินใจพลาด และส่งผลทำให้มีปัญหาในภายหลัง เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะคะ