TQR ฝ่าความท้าทายปี 67 กวาดรายได้ 258.92 ลบ. – กำไรสุทธิ 100.25 ลบ. บอร์ดสายเปย์! จ่ายเงินปันผลรวมปี 67 เป็นเงินสด 0.40 บ./หุ้น ชูเทรนด์ประกันภัยต่อ Alternative โตแรง หนุนรายได้ปี 68 โต 5-10%

บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) สุดแกร่ง! โชว์ผลงานปี 67 มีรายได้ 258.92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 100.25 ล้านบาท รับอานิสงส์รายได้ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ Traditional-Alternative โดดเด่น บอร์ดเคาะจ่ายปันผลเป็นเงินสดอีก 0.216 บาท/หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บาท/หุ้น พร้อมจ่าย 16 พฤษภาคม 2568 ฟากบิ๊กบอส “ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์” ระบุ ปี 68 มุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประกันภัยและประกันภัยต่ออย่างครบวงจร นำนวัตกรรมมาพัฒนา Product ใหม่ ส่วน 2 บริษัทร่วมทุน ทั้ง อัลฟ่าเซคฯ และอาร์สแควร์ฯ นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการ หวังดันรายได้ปี 68 โต 5-10%
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) เปิดเผยว่า ภาพผลการดำเนินงานในปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีรายได้รวม 258.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.60% จากปีก่อน ที่มีรายได้รวม 249.93 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 100.25 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ผลงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบทั่วไป (Traditional Business) และธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน (Alternative Business) รับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.40 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่าย 92 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วในปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.184 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 42.32 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ดังนั้น คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายจากกำไรสุทธิ ประจำปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.216 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 49.68 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ โดยวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 17 มีนาคม 2568 กำหนดวันที่จ่ายเงินปันผลวันที่ 16 พฤษภาคม 2568
“ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัยและประกันภัยต่อ จากการเผชิญกับความเสี่ยงและข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การแข่งขันด้านราคาสินค้าจากต่างประเทศ ภาวะหนี้สินครัวเรือนไทยและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง นำไปสู่มาตรการการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ความผันผวนในภาคการเกษตร ความแปรปรวนในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยศักยภาพของ TQR สามารถปรับกลยุทธ์ บริหารความเสี่ยงได้อย่างดี ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของคู่ค้าและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ทำรายได้และกำไรออกมาได้ตามเป้าหมาย และจ่ายปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นได้” นายชนะพันธุ์ กล่าว
นางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตที่ระดับ 5-10% จากปีก่อน และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประกันภัยและประกันภัยต่ออย่างครบวงจร โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ร่วมกับบริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) (TQM) และบริษัทประกันภัยชั้นนำ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต ทั้งประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยเฉพาะในด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกันภัยต่อสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident and Health) ประกันภัยไซเบอร์ (Cyber), ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers) ประกันภัยต่อการก่อการร้ายและภัยทางการเมือง (Political Violence) ประกันภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งธุรกิจประกันภัยต่อจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันภัย
ในส่วนของบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อาร์สแควร์ จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการ (Service) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการปรับปรุงคุณภาพของแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการลูกค้า โดยนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในด้าน Face Recognition ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้วจำนวน 4 ราย
สำหรับ บริษัท อัลฟ่าเซค จำกัด โดย TQR ถือหุ้นในสัดส่วน 30% เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยไซเบอร์ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automatically) และนำเทคโนโลยี AI มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในรูปแบบการควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทฯ