–
ปัญหาฤดูฝนเป็นปัญหาประจำปีที่คนไทยต้องเผชิญ เพราะประเทศไทย มีสภาพอากาศหลัก ๆ อยู่ 2 ฤดูกาล คือฤดูร้อนและฤดูฝน ถึงแม้จะมีสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงปลายปี แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากเท่าไหร่ ส่วนฤดูร้อน ก็จะสร้างผลกระทบกับค่าไฟเป็นหลัก สำหรับฤดูฝนนั้น อาจทำให้บ้านของเรา รวมถึงชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบได้ไม่มากก็น้อย จะมีปัญหาอะไรที่เราต้องเตรียมรับมือบ้างนั้น ติดตามอ่านในบทความนี้ได้เลยครับ
1. ปัญหาหลังคารั่วในฤดูฝน
ยิ่งบ้านเก่ามากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีปัญหาหลังคารั่วซึมก็อาจมีได้มากขึ้นเท่านั้น ปัญหาหลังคารั่ว นอกจากจะทำให้เพดานของเราได้รับความเสียหายแล้ว มันยังทำลายผนังและทำให้เกิดคราบสกปรกที่ไม่สวยงามอีกด้วย แถมบางเคสน้ำรั่วหนัก พื้นบ้านเปียก ไฟฟ้าอาจลัดวงจร เฟอร์นิเจอร์ก็ชื้นอีก ทำความสะอาดอย่างไรก็อาจเกิดเชื้อราได้
ไม่ต้องรอให้ถึงหน้าฝน รีบทำการตรวจสอบหลังคาบ้านของเรา ว่ามีจุดไหนที่รั่วหรือเปล่า หากพบปัญหาให้ใช้ยาแนวอุดรอยเหล่านั้นให้เรียบร้อย หากไม่มีอุปกรณ์ยาแนว อาจใช้วิธีการชั่วคราวอย่างดินน้ำมันไปก่อนก็ได้ครับ ทางที่ดีที่สุดคือใช้บริการช่างซ่อมหลังคาที่เชื่อถือและไว้ใจได้ รับรองว่าหน้าฝนปีนี้ ปลอดภัย อุ่นใจแน่นอน
2. ปัญหากระเบื้องหลังคาหลุดในฤดูฝน
ความแรงของลมที่รุนแรงในช่วงฤดูฝนฟ้าพายุ เมื่อบวกเข้ากับหลังคาที่ใช้การผูกลวดยึดกระเบื้องกับโครงหลังคา มีโอกาสสูงมากที่หลังคาจะปลิวหลุดออก เป็นอันตรายและสร้างความเสียหายให้กับบ้านของเรา หรือเพื่อนบ้านของเราได้เลยครับ หากเคยเกิดปัญหานี้มีก่อน และบ้านของเราใช้วิธีการยึดหลังคารูปแบบเดิม ก่อนฤดูฝนจะมาถึง ควรเปลี่ยนระบบยึดกระเบื้องหลังคาให้ดียิ่งขึ้น ด้วยวิธีการติดตั้งโดยยึดกระเบื้องหลังคาทุกแถวทุกแผ่น จะช่วยให้การยึดหลังคาทั้งผืนแข็งแรงมากขึ้น โดยสามารถปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญก่อนดำเนินการได้ครับ
3. ปัญหาผนังและพื้นชื้นในฤดูฝน
ปัญหาความชื้นเป็นของคู่กันกับฤดูฝน หากบ้านของเราก่อสร้างโดยไม่ใช้น้ำยากันซึมที่มีคุณภาพ ก็อาจพบปัญหาเหล่านี้ได้ วิธีสังเกตุที่ง่ายที่สุด คือการมองหาเชื้อราบนยาแนว แผ่นกระเบื้อง พื้นปูน หากพบรอยเชื้อราให้ทำความสะอาดทันที ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ต้องเสียเงินในการแก้ไขมากกว่าเชื้อรา คือปัญหาพื้นบวม ซึ่งการแก้ไขจะต้องรื้อพื้นบริเวณที่เสียหายออกแล้วปูใหม่ในบริเวณนั้น หรือในบางวัสดุจำเป็นต้องรื้อปูใหม่ทั้งหมด วิธีแก้ไขคือควรระบายอากาศภายในบ้านอยู่เสมอ การปิดบ้านและเปิดแอร์ตลอดเวลา จะทำให้บ้านยิ่งชื้น เป็นแหละสะสมของเชื้อโรคครับ
4. ปัญหาท่อระบายน้ำในฤดูฝน
ปัญหาท่อระบายน้ำในช่วงฤดูฝน สามารถพบได้ทั้งปัญหาท่ออุดตันและปัญหาท่อรั่วครับ สำหรับปัญหาท่ออุดตันนั้น ส่วนใหญ่ก็เกิดจาก ฝุ่น ดิน เศษใบไม้ต่าง ๆ ที่ชะล้างลงมาด้วยพร้อม ๆ กับน้ำฝน ดังนั้นก่อนช่วงฤดูฝน ให้ทำความสะอาดรางน้ำฝน นำเศษขยะ เศษใบไม้ สิ่งสกปรกออกทั้งหมด แค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ ส่วนปัญหากรณีรั่ว หากเร่งด่วนก็สามารถใช้สีโป๊วอีพ็อกซี่หรือเทปกาวซ่อมแซมไปก่อนชั่วคราวได้ และให้รีบติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ามาแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยครับ
5. ปัญหาตะไคร่น้ำในฤดูฝน
ตะไคร่น้ำ นอกจากจะดูไม่สวยงามน่ามองแล้ว อาจทำให้เกิดการลื่นไถล หกล้ม บาดเจ็บได้ครับ ยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งสะสมมากขึ้น หนาขึ้น ยากที่จะทำความสะอาด หากพื้นบริเวณบ้านของเราเริ่มมะตะไคร่ขึ้นแล้ว ให้ผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำในปริมาณเท่า ๆ กัน นำมาราดบริเวณที่มีตะไคร่น้ำและปล่อยไว้สัก 20 นาที จากนั้นขัดล้างพื้นตามปกติ เพียงเท่านี้คราบตะไคร่น้ำก็หลุดออกได้อย่างง่ายดายแล้วครับ
6. ปัญหาสวนเสียหายในฤดูฝน
ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ส่วนลมที่กระโชกแรง ก็อาจดึงรั้งต้นไม้ให้หลุดออกจากดินได้ ต้นไม้ ดอกไม้ พืชแต่ละชนิด มีความคงทน แข็งแรง และชอบระดับน้ำที่ไม่เท่ากัน ระวังให้แน่ใจว่าต้นไม้ที่เรารัก อยู่ในกระถางที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปในที่ปลอดภัยได้ง่ายหรือไม่ หรือหากไม่ต้องการเคลื่อนย้าย ก็ควรทำหลังคากำบังชั่วคราวให้ เพื่อให้ต้นไม้ได้รับผลกระทบจากฝนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ
7. ปัญหาโรคที่มากับฤดูฝน
ปัญหาน้ำขัง เป็นต้นตอของโรคไข้เลือดออกและโรคฉี่หนู สำหรับไข้เลือดออก เราควรจัดการแหล่งสะสมน้ำรอบบริเวณบ้านของเราเป็นประจำในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาเพาะพันธุ์ในพื้นที่ใกล้บ้าน อาจติดตั้งเครื่องดักยุง ปิดบ้านให้มิดชิด ทายากันยุง เพื่อดูแลตัวเองเพิ่มเติมในช่วงฤดูนี้ด้วยก็ได้ครับ หากมีความกังวล หรือมีคนในชุมชนที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ก็สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้ามาฉีดพ่นควันกำจัดยุงลายได้เลย ส่วนโรคฉี่หนูนั้น วิธีป้องกันคือไม่ควรเดินลุยน้ำขังโดยไม่จำเป็น หรือหากจำเป็นต้องลุยเข้าไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังจริง ๆ ก็ให้สวมใส่รองเท้าบูทยางให้มิดชิด เท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ
8. ปัญหาผ้าอับในฤดูฝน
ปัญหาผ้าเหม็นอับ กวนใจทั้งผู้สวมใส่และคนรอบข้าง แถมยังทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย แต่บ้านคนไทยส่วนใหญ่ มักไม่มีเครื่องอบผ้า เพราะในหนึ่งปี จะมีโอกาสได้ใช้แค่ไม่กี่วันเฉพาะในช่วงฝนตกหนักเท่านั้น แต่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องอบผ้า ก็มีวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผ้าเหม็นอับอยู่ครับ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนมาซักผ้าในตอนเช้า โดยใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่มีคุณสมบัติช่วยลดกลิ่นอับชื้น เพิ่มกลิ่นหอมที่ชอบจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยปกติหากใช้เครื่องซักผ้าในการซัก ผ้าจะถูกบิดหมาดมาอยู่แล้ว ตอนตากแค่ระวังอย่าให้ผ้าติดชิดกันจนเกินไป สามารถใช้พัดลมหรือไดร์เป่าผม เพื่อช่วยให้ผ้าแห้งไวขึ้นด้วยก็ได้ครับ
9. ปัญหาไฟดับในฤดูฝน
ฝนตกกับไฟดับ ถือเป็นของคู่กัน ดังนั้นในช่วงฤดูฝน ควรแน่ใจว่าเรามีแบตสำรองเพียงพอ สำหรับชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราที่จำเป็น และควรมีพัดลมพกพาที่ใช้ระบบการชาร์จ รวมไปถึงไฟฉาย ไฟฉุกเฉินต่าง ๆ เผื่อเอาไว้สำหรับใช้งานด้วย อย่าลืมเช็กสภาพอากาศคร่าว ๆ จากทางพยากรณ์อากาศเอาไว้ด้วยนะครับ จะได้เตรียมตัวชาร์จพลังงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สแตนบายพร้อม
10. ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรในฤดูฝน
มีไฟฟ้าดับก็ต้องมีไฟฟ้าลัดวงจรครับ ยิ่งบ้านเก่า สายไฟก็ยิ่งเก่า บางบ้านไม่เคยตรวจเช็กความเสื่อมสภาพของสายไฟมาก่อน ก็มีโอกาสเกิดได้ เนื่องจากความชื้นเข้าไปภายในระบบจ่ายไฟนั่นเอง นอกจากจะเสี่ยงทำให้ไฟไหม้แล้ว อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังเสียหายได้ด้วยครับ ทางที่ดีควรหมั่นตรวจเช็กสภาพสายไฟต่าง ๆ ก่อนเข้าฤดูฝน ซ่อมแซม ปรับปรุง ให้เรียบร้อย แค่นี้ก็ปลอดภัยแล้วครับ
11. ปัญหาฟ้าผ่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียในฤดูฝน
เมื่อฟ้าผ่าลงมาอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระชาก วิ่งเข้ามาตามสายไฟ สายโทรศัพท์ เสาอากาศต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเปิดทำงานอยู่ ณ ขณะนั้นโดยตรง ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ได้รับความเสียหาย ไปจนถึงเกิดอันตรายต่อผู้ที่กำลังใช้งาน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ควรใช้งานในเวลาฝนตกฟ้าคะนอง ได้แก่ โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, เครื่องทำน้ำอุ่น (ที่ไม่มีสายดิน), เครื่องปรับอากาศ เพราะเมื่อฟ้าลงเมื่อไหร่ มีโอกาสที่เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จะได้ครับความเสียหายจากสระแสไฟฟ้าจนไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาดังเดิมได้ วิธีที่ดีที่สุด เมื่อฝนฟ้าเริ่มมีท่าทีรุนแรง ให้ปิดสวิตซ์ ถอดปลั๊ก หรือจะปิดคัทเอาท์ไปเลยก็ได้ เมื่อฝนสงบลงแล้ว ค่อยกลับมาเปิดใช้งานใหม่ครับ
12. ปัญหาต้นไม้หักโค่นในฤดูฝน
ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในบ้านของเรา แนะนำให้ทำการตัดกิ่งตกแต่งอยู่สม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ยื่นมาใกล้กับตัวบ้านของเรา และบ้านของเพื่อนบ้านมากจนเกินไป เพราะเมื่อถูกพายุพัดหักโค่นลงมาโดนอาคารบ้านเรือน อาจได้รับความเสียหายรุนแรงได้ หากมีรถที่อยู่ใกล้กับต้นไม้ใหญ่ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน ส่วนใครที่ชอบจอดรถเอาไว้นอกบ้าน ก็หลีกเลี่ยงที่จะจอดใกล้กับต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะด้วยนะครับ
12 ปัญหาฤดูฝน ถือว่าไม่น้อยเลยครับ เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยเจอกับปัญหาหนึ่งในข้อเหล่านี้กันอย่างแน่นอน ก่อนเข้าหน้าฝนปีนี้ อย่าลืมจดเช็กลิสต์ต่าง ๆ ให้ดี จะได้เตรียมความพร้อมให้เรียบร้อย หากทำตามคำแนะนำทั้งหมดนี้ รับรองว่าฝนตกพายุแรงแค่ไหน ก็ทำอะไรเราไม่ได้ครับ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ‘สวนรถไฟ’ ในความทรงจำ พื้นที่กิจกรรมนอกบ้านสำหรับคนกรุง
- พิกัด 6 ร้านเด็ด ‘ตลาดเตาปูน’ แหล่งชอป ชิม ชิลล์ ติด MRT สายสีม่วงที่ห้ามพลาด
- 10 ร้านอร่อยย่านเตาปูน ใครมาแล้วไม่ลอง เหมือนมาไม่ถึง
- MRT เตาปูน เดินทางแบบไหนได้บ้าง?
- รวม 12 คอนโดใกล้ BTS อโศก ย่านชิค ของทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน
- รวม 15 คอนโดใกล้ BTS ทองหล่อ ทำเลในฝัน สำหรับไลฟ์สไตล์คนเมือง
- 15 คอนโดใกล้ MRT เตาปูน-บางซื่อ Interchange สำคัญย่านชานเมือง