ขอทะเบียนบ้าน ทำอย่างไร? มีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้าง

การขอเลขที่บ้าน หรือขอทะเบียนบ้าน ถ้าในกรณีซื้อบ้านจากโครงการ ทางโครงการจะมีเอกสารให้เราไปยื่นขอทะเบียนบ้าน โดยที่เราไม่ต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เอง แต่ถ้าเป็นบ้านที่เราสร้างเอง ต้องทำการเตรียมเอกสารด้วยตัวเองทั้งหมด วันนี้แอดมินจึงอยากแนะนำ วิธีการขอทะเบียนด้วยตนเอง จะมีขั้นตอนในการขออย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

ข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้าน

เจ้าของบ้านจะต้องทำการดำเนินการยื่นเอกสารขอทะเบียนบ้าน ภายในระยะเวลา 15 วัน หลังการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ (ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534) ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่ดำเนินการขอทะเบียนบ้านภายใน 15 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ก่อสร้างบ้านเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้น จะถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ทะเบียนบ้าน

คือ ทะเบียนประจำบ้านของบ้านแต่ละหลัง มีเลขที่ประจำบ้านกำกับอยู่ รวมถึงรายชื่อของสมาชิก ที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยทะเบียนบ้านแยกออกเป็น 5 แบบ ด้วยกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. ทะเบียนบ้านชั่วคราว

เป็นทะเบียนบ้านที่ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ทะเบียนบ้านชั่วคราว จะถูกใช้ในกรณีที่บ้านไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือเป็นบ้านที่ปลูกสร้าง อยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ เขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาติ หรือไม่มีเอกสิทธิ์ในการก่อสร้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการออกทะเบียนบ้านชั่วคราวก่อน และหลังจากมีการพิสูจน์ หรือดำเนินการตรวจสอบเป็นที่แล้วเสร็จ จึงจะได้รับเอกสารทะเบียนบ้านฉบับปกติ

  1. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน

เป็นทะเบียนบ้านที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการลงรายการชื่อของบุคคลต่างๆ ที่ทำการขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ทำการย้ายออก

  1. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลของคนต่างด้าวที่เข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  1. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทย และบุคคลต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว

  1. ทะเบียนบ้านกล้า

เป็นเอกสารที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน จะใช้ลงรายการชื่อบุคคล ในกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

เอกสารที่ใช้ในการติดต่อขอทะเบียนบ้าน

  1. เอกสาร ท.ร.9 หรือใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ออกโดยหน่วยงานท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน /อบต.)
  2. ใบอนุญาตก่อสร้าง หรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร
  3. โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง
  4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน
  5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งขอทะเบียนบ้าน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
  6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • หนังสือมอบอำนาจ จะใช้ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถติดต่อยื่นเรื่องขอเลขที่บ้าน หรือทะเบียนบ้านด้วยตัวเอง และมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการยื่นเรื่องขอทะเบียนบ้านแทนตน โดยจะมีเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้าน พร้อมลงกำกับสำเนาถูกต้องในเอกสารสำคัญอย่างละ 1 ชุด ซึ่งใช้ประกอบในหนังสือมอบอำนาจ
  • รายละเอียดในเอกสารหนังสือมอบอำนาจ จะต้องมีพยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงชื่อรับทราบ เพื่อเป็นพยานในการมอบอำนาจ และรูปถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวบ้าน

ขั้นตอนในการขอทะเบียนบ้าน

หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการขอทะเบียนบ้าน ดังนี้

    1. ยื่นเรื่องติดต่อขอเลขที่บ้าน และสมุดทะเบียนบ้าน ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ปลูกสร้าง
    2. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง
    3. ออกเลขที่ประจำบ้าน รวมถึงจัดทำสมุดทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน
    4. ส่งมอบทะเบียนบ้านให้แก่เจ้าของบ้าน หรือผู้ได้รับมอบอำนาจ

ค่าใช้จ่ายในการขอทะเบียนบ้าน

สามารถสอบถามได้ที่สำนักทะเบียนท้องที่ หรือ Call Center 1548

การขอทะเบียนบ้านนั้น จะอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการก่อสร้างบ้าน โดยถือได้ว่าบ้านมีความสมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากที่ได้เลขที่บ้าน และสมุดทะเบียนบ้านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าบ้านจะต้องนำเลขที่บ้านที่ได้ ไปใช้ในการขอใช้ไฟฟ้า กับน้ำประปาในลำดับต่อไป

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นเจ้าบ้าน และหน้าที่ของเจ้าบ้าน

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการขอทะเบียนบ้านนั้น ไม่ได้มีอะไรที่ยุ่งยาก แต่เมื่อเราได้เป็นเจ้าของบ้านที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายแล้ว จะมีหน้าที่อะไรบ้าง ที่เจ้าของบ้านจะต้องดูแลรับผิดชอบ ตามไปดูเกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าบ้าน และหน้าที่ของเจ้าบ้านกันเลยค่ะ

  1. เจ้าบ้านคือ ผู้ที่อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือผู้เช่าที่ทำหน้าที่แทนในกรณีเจ้าของบ้านตาย หายสาบสูญ หรือไม่สามารถทำหน้าที่เจ้าบ้านได้ โดยให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้าน ณ ขณะนั้น เป็นเจ้าบ้าน
  2. เจ้าบ้านมีหน้าที่ในการแจ้งเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือย้ายที่อยู่อาศัย รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้านที่บัญญัติไว้ตา พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
  3. กรณีเจ้าบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างประเทศสามารถมอบอำนาจการจัดการเรื่องต่างๆ ภายในบ้านให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง ที่มีรายการชื่อบุคคลอาศัยอยู่ในสมุดทะเบียนบ้านดำเนินการทำหน้าที่แทนเจ้าบ้านได้ตามอำนาจ โดยเจ้าบ้าน จะต้องแจ้งเรื่องไปยังนายทะเบียนบ้าน ซึ่งนายทะเบียนบ้านจะทำการบันทึกถ้อยคำต่างๆ ที่เจ้าบ้านมอบอำนาจดูแลการจัดการต่างๆ ภายในบ้านไว้ให้ทราบเป็นข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าว มีหน้าที่ในการดูแลจัดการแทนเจ้าของบ้านในช่วงเวลาที่ระบุไว้

รายละเอียดเอกสารการมอบอำนาจ

โดยเอกสารที่ใช้ในการติดต่อมอบอำนาจในการดูแล จัดการเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน กรณีเจ้าบ้านไม่อยู่ และขั้นตอนในการดำเนินการมอบอำนาจ มีดังนี้

  1. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน โดยมีเนื้อความระบุชัดเจนว่ามอบอำนาจการจัดการให้ใคร จัดการแทนในเรื่องอะไรภายในบ้านบ้าง เป็นช่วงเวลาเท่าไหร่ พร้อมทั้งลงชื่อมอบอำนาจ จำนวน 1 ฉบับ
  2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
  3. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
  4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
  5. ติดต่อยื่นเรื่อง ณ สำนักทะเบียน
  6. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร และดำเนินการตามคำร้องตามประสงค์จนแล้วเสร็จ
  7. คืนหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินการแก่ผู้ยื่นคำร้อง

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอน รายละเอียด เอกสารที่ใช้ในการขอทะเบียนบ้าน รวมถึงเกร็ดความรู้เพิ่มเติม ที่แอดมินอยากนำเสนอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกท่านนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด