รถไฟฟ้าสายสีแดง ถือได้ว่าเป็นรถไฟฟ้าสีใหม่ป้ายแดงที่เปิดใช้บริการมาได้ราว ๆ 1 ปีครึ่งแล้ว ถือเป็นเส้นที่วิ่งออกชานเมืองอีกเส้นหนึ่ง ที่มุ่งหน้าไปยังปลายทางรังสิตครับ รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเข้ามาช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อถึงชานเมืองในส่วนที่ได้รับความนิยมเพิ่มอีกเส้นทาง โดยตัวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ ก็มีสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ ด้วย ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู รายละเอียดของโครงการในปัจจุบัน และอนาคตจะเชื่อมไปยังเส้นทางไหนบ้าง ติดตามอ่านในบทความนี้กันได้เลยครับ
ที่มาของรถไฟฟ้าสายสีแดง
www.srtet.co.th
รถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในอนาคตจะขยายต่อเนื่องไปยังจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี
รถไฟฟ้าสายสีแดงดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ซึ่งทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองตลอดจนพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงให้สามารถเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีแดงยังเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร หรือ MRT ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), รถไฟฟ้า BTS ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.), รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของทาง รฟท. ได้อีกด้วย
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการใน 2 เฟสแรกไป เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยเฟสอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการต่อไปในอนาคตครับ
รถไฟฟ้าสายสีแดงเชื่อมต่อไปยังที่ใดบ้าง
www.srtet.co.th
รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม
- สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย เชื่อมต่อรถไฟทางไกลไปยังต่างจังหวัดได้
- สถานีจตุจักร อยู่ใกล้กับแหล่งชอปปิงยอดนิยมของชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างตลาดจตุจักรและตลาดสด อ.ต.ก.
- สถานีวัดเสมียนนารี อยู่ใกล้กับวัดเสมียนนารีและตลาดบองมาร์เช่
- สถานีบางเขน อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่
- สถานีทุ่งสองห้อง อยู่ใกล้กับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS และ เดลินิวส์ สำนักงานใหญ่
- สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อแจ้งวัฒนะ แหล่งรวมศูนย์ราชการ ใกล้กับเมืองทองธานี
- สถานีการเคหะ อยู่ใกล้กับร้านเจ๊เล้งดอนเมืองและฐานทัพอากาศดอนเมือง
- สถานีดอนเมือง เชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง อาคารผู้โดยสารในประเทศ และ เชื่อมต่อรถไฟทางไกลสถานีดอนเมือง สายเหนือ และ สายอีสาน
- สถานีหลักหก อยู่ใกล้กับเมืองเอกและมหาวิทยาลัยรังสิต
- สถานีรังสิต อยู่ใกล้กับศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
- สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย เชื่อมต่อรถไฟทางไกลไปยังต่างจังหวัดได้
- สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับ MRT สายสีม่วงสถานีบางซ่อนและตลาดวงศ์สว่าง
- สถานีบางบำหรุ เชื่อมต่อถนนสิรินธร, ถนนรุ่งประชา, ถนนเทอดพระเกียรติ
- สถานีตลิ่งชัน อยู่ใกล้กับตลาดน้ำตลิ่งชัน
รถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต
ภาพที่ 1 จาก www.prachachat.net
ภาพที่ 2 จาก www.srtet.co.th
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน คือเส้นทางหมายเลขที่ 1 และหมายเลขที่ 2 ในภาพที่ 1 ครับ โดยหมายเลขที่ 1 คือ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร และหมายเลขที่ 2 คือ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร
หรือถ้าให้ดูภาพง่าย ๆ สามารถดูจากภาพที่ 2 ได้เลยครับ สถานีบางซื่อในภาพที่ 1 ก็คือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ในภาพที่ 2 นี่แหละครับ โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม จะวิ่งจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ไปยังปลายทางสถานีรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีแดวอ่อน จะวิ่งจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ไปยังปลายทางตลิ่งชัน
โดยโครงการที่ 3, 4, 5 และ 6 ในภาพที่ 1 จะเป็นส่วนต่อขยายที่กำลังเร่งเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างในการดำเนินการก่อสร้างอยู่นั่นเองครับ โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร
- โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฝผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร
โดยทั้ง 3 เส้นทางข้างต้นนี้จะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2566 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา และสถานศึกษาอื่น ๆ ใกล้เคียง จะสามารถเดินทางเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องเดินทางไปทำงานหรือไปใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราชก็สามารถเชื่อมต่อถึงได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นครับ
ประเภทตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง
เหรียญโดยสารเที่ยวเดียว
- เหรียญโดยสารเที่ยวเดียวสำหรับ บุคคลทั่วไป
- เหรียญโดยสารเที่ยวเดียวแบบลดหย่อน
เงื่อนไข เหรียญโดยสารเที่ยวเดียวแบบลดหย่อน ดังนี้
- เด็ก จะต้องมีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และมีช่วงความสูง 91-120 เซนติเมตร
- ผู้สูงอายุ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
- พระภิกษุ/สามเณร
- ผู้ที่ได้รับสิทธิการยกเว้นลดหย่อนตามราชกิจจานุเบกษา (เช่น ทหารผ่านศึก)
บัตรโดยสารแบบเติมเงิน ราคาจำหน่าย 300 บาท
(มูลค่าในบัตร 200 บาท ค่ามัดจำ 50 บาท ค่าออกบัตร 50 บาท)
- ประเภทบุคคลทั่วไป
- ประเภทนักเรียนนักศึกษา (ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% จากราคาค่าโดยสารปกติ เงื่อนไข บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 23 ปีบริบูรณ์ และศึกษาสังกัดสถาบันการศึกษาเฉพาะในประเทศไทย เท่านั้น)
- ประเภทผู้สูงอายุ (ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% จากราคาค่าโดยสารปกติ เงื่อนไข ผู้สูงอายุ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย)
บัตรโดยสารแบบรายเดือน 30 วัน 30 เที่ยว ราคาจำหน่าย 800 บาท
(750 ราคา 30 เที่ยวเดินทาง 50 บาทค่าธรรมเนียมออกบัตร)
บุคคลที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร
- บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 4 ปีบริบูรณ์ และมีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร
- ผู้พิการ ที่แสดงบัตรประจำตัวผู้พิการที่ทางราชการออกให้ ก่อนใช้บริการ
การออกตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง
RED Line SRTET
ทั้งการซื้อเหรียญแบบเที่ยวเดียวและแบบเติมเงิน เราสามารถซื้อหรือเติมได้ด้วยตัวเองที่เครื่องอัตโนมัติเลยครับ ตรงนี้จะมีความแตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่จะต้องออกตั๋วโดยสารผ่านเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยรายละเอียดของการออกตั๋วและเติมเงินในบัตร มีดังนี้ครับ
ออกตั๋วสำหรับเที่ยวเดียว
- ออกเหรียญโดยสาร โดยเครื่องจำหน่ายเหรียญโดยสารอัตโนมัติ เลือกสถานีปลายทาง และจำนวนเหรียญโดยสารที่ต้องการ (สูงสุดได้ 5 เหรียญต่อการทำรายการ 1 ครั้ง) เครื่องจะคำนวณอัตราค่าโดยสารปกติตามระยะทาง เมื่อชำระค่าโดยสารตามกำหนด เครื่องจะออกเหรียญโดยสารสำหรับผ่านประตู เพื่อเข้าสู่ชานชาลา
- ออกเหรียญโดยสาร โดยเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร แจ้งสถานีปลายทางที่ต้องการกับเจ้าหน้าที่ และชำระเงินตามกำหนด
บัตรโดยสารแบบเติมเงิน
- เติมเงิน โดยเครื่องจำหน่ายเหรียญโดยสารอัตโนมัติ นำบัตรโดยสารแบบเติมเงิน วางบริเวณที่อ่านบัตรโดยสาร เลือกเมนู “เติมเงิน” (Top up Purse) จากหน้าจอ และชำระเงินโดยธนบัตรหรือเงินเหรียญ โดยกำหนดการเติมเงินขั้นต่ำที่ 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท (ไม่รวมค่ามัดจำบัตร) เครื่องจะไม่มีการทอนเงิน เมื่อทำรายการเรียบร้อย ให้กดยืนยันในการทำรายการ รอจนกว่าหน้าจอจะแสดงข้อความ “ประมวลผลสำเร็จ” (Complete) ด้านบนของหน้าจอ ค่อยนำบัตรโดยสารออกจากที่อ่านบัตรโดยสาร
- เติมเงิน โดยเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร นำบัตรโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ชำระค่าเติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท และเพิ่มขึ้นทีละ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท (ไม่รวมค่ามัดจำ) ไม่รับการเติมเงินเป็นเศษ (เช่น 101, 110, 155 เป็นต้น) หากต้องการใบเสร็จ สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทุกสถานีก่อนชำระเงิน
บัตรโดยสารแบบรายเดือน
- เติมเที่ยว โดยเครื่องจำหน่ายเหรียญโดยสารอัตโนมัติ นำบัตรโดยสารแบบเติมเงิน วางบริเวณที่อ่านบัตรโดยสาร เลือกเมนู “เติมเที่ยว” (Top up Pass) จากหน้าจอ เลือกจำนวนเที่ยวเดินทางที่ต้องการเติม ชำระเงินโดยธนบัตรหรือเงินเหรียญ ตามราคาจำหน่ายที่กำหนด กรณีเติมเที่ยวเดินทางเพิ่มจะต้องมีเที่ยวเดินทางในบัตรต่ำกว่า 50 เที่ยว เมื่อมีการเติมเที่ยวเดินทางวันหมดอายุของบัตรจะเริ่มนับวันหมดอายุใหม่ทันที เช่น วันหมดอายุในบัตรคงเหลือ 20 วัน เมื่อเติมเที่ยววันหมดอายุบัตรจะคงเหลือ 30 วันทันที ไม่มีการสะสมวันหมดอายุ เครื่องทอนเงินเป็นเงินเหรียญเท่านั้น เมื่อเลือกรายการที่ต้องการ กดยืนยันในการทำรายการ รอจนกว่า “ประมวลผลสำเร็จ” (Complete) ด้านบนของหน้าจอ ค่อยนำบัตรโดยสารออกจากที่อ่านบัตรโดยสาร
- เติมเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร นำบัตรโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ผู้โดยสารสามารถเติมเที่ยวเดินทางได้เฉพาะ 30 เที่ยว ราคา 750 บาท กรณีเติมเที่ยวเดินทางเพิ่มจะต้องมีเที่ยวเดินทางในบัตรต่ำกว่า 50 เที่ยว เมื่อมีการเติมเที่ยวเดินทางวันหมดอายุของบัตรจะเริ่มนับวันหมดอายุใหม่ทันที เช่น วันหมดอายุในบัตรคงเหลือ 20 วัน เมื่อเติมเที่ยววันหมดอายุบัตรจะคงเหลือ 30 วันทันที ไม่มีการสะสมวันหมดอายุ หากต้องการใบเสร็จ สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทุกสถานีก่อนชำระเงิน
การตรวจสอบมูลค่าคงเหลือในบัตร
- เครื่องตรวจสอบมูลค่า (Reaming Value Terminal) ตัวเครื่องจะตั้งอยู่บริเวณรอบห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ชำระค่าโดยสาร โดยนำบัตรโดยสารมาแตะที่สัญลักษณ์ในการอ่านบัตรโดยสาร เครื่องจะแสดงข้อมูลมูลค่าคงเหลือหรือเที่ยวเดินทางคงเหลือ ที่หน้าจอแสดงผล
- เครื่องเติมเงินอัตโนมัติ (Add Value Machine) ผู้โดยสารวางบัตรโดยสาร ไว้ที่อ่านบัตรโดยสาร เลือกที่ Card usage history หน้าจอจะแสดงผลข้อมูลมูลค่าคงเหลือหรือเที่ยวเดินทางคงเหลือ และข้อมูลการใช้งาน 20 รายการย้อนหลัง
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง
- สำหรับผู้ใหญ่ ราคาเริ่มต้นที่ 12 สูงสุดที่ 42 บาท
- สำหรับนักเรียน ราคาเริ่มต้นที่ 11 สูงสุดที่ 38 บาท
- สำหรับผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้นที่ 6 สูงสุดที่ 21 บาท
ความพึงพอใจในการให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีแดง
www.thaigov.go.th
รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เผยผลสำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 โดยได้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) มาเป็นผู้ออกแบบและลงพื้นที่สำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการในครั้งนี้
โดยผลปรากฏว่าจากคะแนนเต็ม 5 ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจด้านการให้บริการ 4.48, ด้านความปลอดภัย 4.43, ด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.30, ด้านการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูล 4.38, ด้านคุณภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีและภายในขบวนรถ 4.40 และด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.25 ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นอย่างมาก
อนาคตเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงมีความคืบหน้ายังไง ทาง Homeday ไม่พลาดที่จะนำข่าวสารมาอัปเดตทุกคนกันอย่างแน่นอนครับ บอกเลยว่าโดยภาพรวมของเส้นทางนี้ จุดเด่นน่าจะอยู่ที่การเชื่อมต่อกับสถานีดอนเมืองนี่แหละครับ เพราะตัวสนามบินสุวรรณภูมิเอง เราก็สามารถเชื่อมต่อได้ง่าย ๆ ผ่านรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์กันอยู่แล้ว คราวนี้ก็ถึงตาของสนามบินดอนเมืองบ้าง เพราะที่นี่ก็ถือเป็นสนามบินที่รวมสายการบิน Low-cost ไว้มากมาย ยิ่งการเดินทางเข้าถึงได้สะดวกแบบนี้ ก็น่าจะเป็นผลดีกับทั้งชาวไทยเองและนักท่องเที่ยวด้วยครับ
บทความที่คุณอาจสนใจ