–
มีใครยังไม่รู้จักวัสดุเมทัลชีทบ้างไหมคะ แต่หลาย ๆ คนคงจะรู้จักกันแล้ว เพราะวัสดุเมทัลชีทได้รับความนิยมมายาวนาน และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เราอาจจะคุ้นเคยกับการนำมาทำหลังคา แต่จริง ๆ แล้ววัสดุเมทัลชีทสามารถนำมาใช้ได้กับทั้งงานหลังคา รั้ว และผนังเลยค่ะ วันนี้ Homeday ได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุเมทัลชีทกับงานผนัง รั้ว และหลังคามาฝากเพื่อน ๆ ค่ะ รู้ก่อนเลือกดีกว่านะคะ
คุณสมบัติของเมทัลชีท
เมทัลชีท (Metal Sheet) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า แผ่นโลหะรีดลอน คือแผ่นเหล็กเคลือบโลหะผสมอะลูมิเนียมและสังกะสี และนำมาขึ้นรูปเป็นลอน เหมาะสำหรับงานหลังคา รั้ว ผนังทั้งภายในและภายนอก ติดตั้งได้ทั้งบนพื้นระนาบ และพื้นที่โค้ง จะติดในแนวนอน หรือแนวตั้งก็ได้
เลือกเมทัลชีทแบบไหนให้เหมาะสม
งานหลังคา
สำหรับงานหลังคานั้นมีให้เลือกความหนาของวัสดุเมทัลชีทหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของหลังที่ต้องการ ดังนี้
- หลังคาบ้านทั่วไป โรงจอดรถ และกัดสาด ควรใช้เมทัลชีทความหนา 0.30-0.35 มิลลิเมตร
- หลังคาขนาดกลาง เช่น โรงงาน ควรใช้เมทัลชีทความหนา 0.35-0.40 มิลลิเมตร
- หลังคาขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ความแข็งแรง เช่น อาคารหรือโรงงานขนาดใหญ่ ควรใช้ความหนา 0.47 มิลลิเมตรขึ้นไป
งานผนังและรั้ว
งานผนังหรือกำแพงบ้านนั้นสามารถใช้เมทัลชีทที่มีความหนาอยู่ในช่วง 0.30-0.45 มิลลิเมตร ได้เลยค่ะ หากต้องการความแข็งแรง ความหนามากก็เลือกเมทัลชีทที่มีความหนาที่มากขึ้นได้ ซึ่งวัสดุเมทัลชีทก็มีหลายสีให้เลือก สามารถเลือกสีที่เหมาะสมกับสไตล์ของบ้านได้ค่ะ
การเลือกลอนของเมทัลชีท
วัสดุเมทัลชีทนั้นมีลอนหลายแบบให้เลือกใช้งาน ทั้งลอนสูง, ลอนเตี้ย, ลอนเล็ก, ลอนรูปกระเบื้อง และลอนสำหรับผนัง ดังนั้นการเลือกลอนให้สวยงาม เหมาะกับจุดประสงค์ของการใช้งานก็สำคัญค่ะ
- พื้นที่ขนาดเล็ก เหมาะกับลอนเล็กและลอนเตี้ย เพื่อให้ดูสมส่วนกัน
- บ้านอยู่ในพื้นที่ฝนชุกลมแรง แนะนำให้ใช้ลอยสูงเพื่อช่วยระบายน้ำได้ดี
- บ้านที่มีสไตล์เฉพาะตัว เลือกใช้ลอนกระเบื้องที่เข้ากับสไตล์นั้น ๆ ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น ลอนหลังเต่า, ลอนเมอริเดียน, ลอนสเปน, ลอนซากุระ, ลอนทีโมเนีย เป็นต้น
การติดตั้ง
- ระบบยิงสกรู (Bolt System) ใช้สกรูยิงยึดระหว่างแผ่นเมทัลชีทกับแปหรือโครงสร้างหลังคา สามารถใช้ได้ทุกความหนา ติดตั้งง่าย จึงได้รับความนิยมมาก
- ระบบไม่ใช้สกรู (Boltless System) แผ่นเมทัลชีทที่ไม่ต้องติดตั้งด้วยสกรู คือ แผ่นเมทัลชีทลอนคลิปล็อก โดยใช้สกรูยึดอุปกรณ์ติดตั้งที่เรียกว่า คอนเน็กเตอร์ กับแป จากนั้นนำแผ่นเมทัลชีทยึดติดกับคอนเน็กเตอร์ โดยกดที่สันลอนให้ลงล็อก จึงลดการรั่วซึมได้ดีเพราะไม่มีการใช้สกรูในการเจาะยึดแผ่น
- ระบบไร้รอยต่อ (Seamless System) โดยใช้แผ่นเมทัลชีทซีมเลส ติดตั้งด้วยการเจาะยึดสกรูกับคลิปที่ยึดตัวแผ่น แล้วนำแผ่นต่อไปมาซ้อนทับให้ล็อกกัน แผ่นซ้อนทับกันจึงปิดทับสกรูไปด้วย ส่วนที่ล็อกกันมีลักษณะเป็นครีบสูงตั้งตรง น้ำจึงไม่รั่ว และดูเหมือนไร้รอยต่อ
ขอบคุณข้อมูลจาก : บ้านและสวน
ข้อดีของเมทัลชีท
- ช่วยลดปัญหาการรั่วซึม ซึ่งเมทัลชีทจะผลิตเป็นแผ่นยาวได้ จึงไร้รอยต่อหรือมีน้อย ปัญหารการรั่วซึมจึงเกิดขึ้นน้อย
- การติดตั้งสะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการใช้วัสดุที่ต้องมีการก่อ หรือฉาบ
- มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่แตกหักง่าย และสามารถใช้งานได้นาน
- ตัดปัญหาเสียงรบกวนเมื่อฝนตก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีของวัสดุเมทัลชีทมาพร้อมการฉีดโฟมหรือบุแผ่นโฟมต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการลดเสียงเข้า
- ออกแบบและก่อสร้างบ้านให้แปลกใหม่ สวยงาม และมีสไตล์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันการขึ้นรูปเมทัลชีททำได้หลากหลาย และมีสีให้เบือกเยอะ เช่นทรงโค้ง หรือแบบโปร่งแสงก็สามารถทำได้
ข้อเสียของเมทัลชีท
- วัสดุเมทีลชีทรับความร้อนมากกว่าหลังคาแบบอื่นเพราะทำมาจากเหล็ก จึงต้องมีแผ่นสะท้อนความร้อนหรือฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน
- เมื่อเกิดพายุหรือลมแรงอาจจะเกิดความเสียหายได้เนื่องจากเมทัลชีทมีน้ำหนักเบา
- มีเสียงดังเมื่อฝนตกหากเลือกใช้เมทัลชีทที่ไม่ได้มีการฉีดโฟมหรือบุแผ่นโฟม
- ขนย้ายลำบาก เนื่องจากเป็นแผ่นที่มีความยาวตามการสั่งผลิต
การเลือกใช้วัสดุเมทัลชีทนั้นก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และรูปแบบการใช้งาน อาจจะสะดวก ประหยัดกว่าวัสดุอื่น เมื่อใช้กับงานบางประเภท เช่นบ้านพักชั่วคราว บ้านหลังเล็ก ๆ ตามรีสอร์ท เป็นต้น ลองนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเมทัลชีทจาก Homeday ไปประกอบการตัดสินใจเลือกใช้วัสดุเมทัลชีทกันดูนะคะ