อยากซื้อบ้าน แต่ติดเครดิตบูโร แก้ปัญหาอย่างไร?

ปัญหาที่สร้างความกังวลใจ เกี่ยวกับการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านในอันดับต้นๆ ก็คือ การติดเครดิตบูโร ถ้าหากว่ามีการค้างชำระหนี้มาก่อน จะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ไหม อันดับแรก เราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “เครดิตบูโร” กันก่อนว่า คืออะไร และมีความเกี่ยวข้องกับการขอขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

เครดิตบูโร คือ อะไร

“เครดิตบูโร” คือ “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลประวัติของธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดของเรา ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อเพื่อบ้าน ผ่อนรถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงประวัติการกู้ ผ่อน จ่ายของเรานั่นเอง ดังนั้นประวัติด้านการเงินของเรา เกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ จะถูกบันทึก และจัดเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติที่ดี หรือประวัติที่ไม่ดีก็ตาม

โดยสถาบันทางการเงินต่างๆ จะนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้มาตรวจสอบดูพฤติกรรมการใช้เงิน และวินัยในการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน เพื่อให้แน่ในว่า เมื่อทางสถาบันทางการเงิน หรือธนาคาร ทำการอนุมัติปล่อยสินเชื่อ ให้กับบุคคลดังกล่าวแล้ว ผู้กู้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามข้อกำหนดในสัญญาการกู้ยืม

นอกจากคำว่า “เครดิตบูโร” แล้วยังมีอีกคำหนึ่งที่มักได้ยินควบคู่กันนั่นก็คือ “แบล็คลิสต์” ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 2 คำนี้ ว่าเป็นคำเดียวกัน มีความหมายเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว “เครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” เป็นเพียงตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินให้กับสถาบันต่างๆ ใช้เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปล่อยหรือการอนุมัติสินเชื่อ ให้กับบุคคลที่มาขอยื่นกู้เท่านั้น

แบล็คลิสต์ คือ อะไร

หลังจากที่ได้รู้จักกับ “เครดิตบูโร คือ อะไร” กันไปแล้ว เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “Blacklist / แบล็คลิสต์” กันบ้างว่าคำๆ นี้ มีอิทธิพล และส่งผลกระทบอย่างไรกับการปล่อยกู้ หรือการอนุมัติสินเชื่อซื้อบ้านของเราบ้าง

การขออนุมัติสินเชื่อก่อสร้างหรือซื้อบ้านนั้น ทางสถาบันทางการเงิน หรือธนาคารจะดูปัจจัยหลายๆ ปัจจัยประกอบการตัดสินใจ เพราะ “บ้าน” ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ และมีมูลค่าสูง ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จะนำมาใช้ในการพิจารณานั่นก็คือ ข้อมูลจากทาง “เครดิตบูโร”

หากผู้ขอยื่นกู้มีประวัติดี มีวินัยในการชำระหนี้ดี ก็จะมีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติสูง แต่ถ้าหากผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ผ่อนชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด รวมถึงมียอดค้างชำระหนี้อยู่ในระบบ ทางสถาบันการเงิน หรือธนาคารย่อมไม่ไว้วางใจในการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผู้กู้จะมีหนี้เสีย หรืออาจผิดค้างชำระหนี้จนเกิดปัญหาตามมา

ดังนั้นการติด “แบล็คลิสต์” เป็นเพียงคำนิยามของ “ผู้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ตามข้อตกลง” เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีการขึ้นบัญชีรายชื่อในระบบใดๆ

หากติดเครดิตบูโรแล้ว สามารถกู้ซื้อบ้านได้ไหม

จากข้อมูลข้างต้น เราได้ทำความรู้จักการติดเครดิตบูโร และการติดแบล็คลิสต์มาแล้ว เป็นที่ทราบกันแน่นอนว่า ปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารจะใช้พิจารณาอนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อซื้อบ้านเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ ประวัติธุรกรรมทางการเงิน

ดังนั้นจึงทำให้ผู้ขอยื่นกู้ที่ติดเครดิตบูโร ไม่ได้รับอนุมัติในการขอสินเชื่อดังกล่าว เพราะสถาบันทางการเงิน หรือธนาคาร จะมองในภาพรวม ว่ายังไม่มีความพร้อมในการขอสินเชื่อซื้อบ้านในครั้งนี้ รวมถึงพฤติกรรมที่บ่งบอก ว่าไม่มีวินัยในการผ่อนชำระหนี้ในอนาคตมากพอ อีกทั้งยังมีแนวโน้ม ที่จะผ่อนชำระหนี้ ไม่ตรงตามข้อกำหนดอีกด้วย

แต่ก็ใช้ว่าผู้ที่มีประวัติในการติดเครดิตบูโรแล้ว จะไม่มีโอกาสในการขอสินเชื่อ เพียงแต่ว่าจะต้องทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสินเสียก่อน จึงจะทำการขอยื่นกู้สินเชื่ออีกครั้งได้ค่ะ

ขั้นตอนการแก้ปัญหาเมื่อติดเครดิตบูโร ก่อนทำการกู้ซื้อบ้าน

สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหา ในการขออนุมัติสินเชื่อซื้อบ้านไม่ผ่าน เนื่องจากติดเครดิตบูโร วันนี้เรามีทางวิธีการแก้ไข มาแนะนำค่ะ

1. เราต้องรู้จักสถานะทางบัญชีในเครดิตบูโรของเราก่อน

รายงานข้อมูลเครดิตนั้น จะทำการเก็บข้อมูลของเราย้อนหลังไปทั้งหมด 36 เดือน (หรือ 3 ปี) ว่าเรามีประวัติทางการเงินอย่างไรบ้าง และมีสถานะทางการเงินในบัญชีเป็นอย่างไร โดยให้เราดูที่ตัวเลขที่กำกับไว้ คือ

  • ตัวเลข 10 ความหมาย คือ มีสถานะปกติ โดยเจ้าของบัญชี มีการชำระสินเชื่อตามจำนวนยอดเงินปกติ ตรงตามเงินไข และไม่มียอดค้างชำระ
  • ตัวเลข 11 ความหมาย คือ มีสถานะปิดบัญชีโดยเจ้าของบัญชีได้ทำการชำระหนี้ตามยอดค้างหมดแล้ว
  • ตัวเลข 12 ความหมาย คือ มีสถานะในการพักชำระหนี้โดยเจ้าของบัญชี ได้ทำการขอพักชำระหนี้ที่เคยมียอดค้างชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ ซึ่งทำให้สถานะในระหว่างการพักชำระหนี้ ไม่ปรากฏในระบบ ว่ามียอดค้างชำระ
  • ตัวเลข 20 ความหมาย คือ มีสถานะในการค้างชำระหนี้ในระบบเกิน 90 วันซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อเจ้าของบัญชี เนื่องจากมียอดค้างชำระหนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และหากเจ้าของบัญชี ไม่ทำการติดต่อขอชำระหนี้ อาจถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอีกด้วย

ฉะนั้นแล้วผู้ที่ติดเครดิตบูโร ควรทำการตรวจเช็คสถานะบัญชีตัวเองให้ทราบแน่ชัดเสียก่อน เพื่อทำการวางแผน และจัดการแก้ไขในลำดับต่อไป โดยเราสามารถทำการตรวจสอบสถานะเครดิตบูโรของเราเองเพียง 15 นาที ตามสถานที่ด้านล่างนี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ที่ 100 บาท

1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 
2. อาคารกลาสเฮ้าส์ (ชั้นใต้ดิน) ปากซอยสุขุมวิท 25
3. สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง
4. ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 4
5. อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3
6. CITI Advance สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, เมกา บางนา

2. วางแผน และจัดการด้านการเงิน

หลังจากที่เราทำการเช็คสถานะบัญชีเครดิตบูโรของเราเรียบร้อยแล้ว จากนั้นทำการคำนวณ และวางแผนในการผ่อนชำระหนี้คงค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปลี่ยนสถานะให้กลับมาเป็นบัญชีปกติ โดยเริ่มจากการขอพักชำระหนี้ ชำระหนี้ตามจำนวนขั้นต่ำ หรือมากว่า เพื่อปิดบัญชี ให้ไม่มียอดค้างในระบบ

3. วางแผนก่อนการขอยื่นกู้

สร้างเครดิต เช่น การขอสินเชื่อบัตรเครดิต ที่จำเป็นต้องใช้ โดยทำการชำระเต็มวงเงิน หรือตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดชำระ หรือขอยื่นกู้ร่วมกับคนในครอบครัวที่มีประวัติเครดิตบูโรที่ดี เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ ก็เป็นอีกทางเลือกค่ะ

เชื่อว่าหลายคน คงเข้าใจแล้วว่า เครดิตบูโร คืออะไร ดังนั้นก็ควรจัดการวางแผนด้านการเงินของเราให้ดี เพื่อให้การขอสินเชื่อผ่านการอนุมัติได้โดนง่าย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และแนวทางการแก้ปัญหา ให้กับทุกท่านที่กำลังเผชิญกับเรื่องของการขอสินเชื่ออยู่นะคะ

Related posts:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด