–
อากาศที่ร้อนอบอ้าวเป็นเหตุที่ทำให้ใครหลายๆ คนต้องล้มป่วย
ซึ่งฤดูร้อน เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย
จึงต้องระมัดระวังโรคติดต่อต่างๆ ที่มาพร้อมกับฤดูร้อนด้วยค่ะ
ซึ่งจะมีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ
.
โรคอุจจาระร่วง
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิในลำไส้ จากการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนค่ะ
อาการ : ถ่ายอุจจาระเหลว มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และมีภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่
การป้องกัน : เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ควรดื่มน้ำที่สะอาด และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหารค่ะ
.
โรคอาหารเป็นพิษ
สาเหตุ : เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส
อาการ : รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ และจะเหนื่อยง่าย
การป้องกัน : รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืน และควรเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู และสัตว์ชนิดอื่นๆ
.
โรคบิด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือโปรโตซัวบางชนิดมี ชื่อว่า อะมีบา (Ameba) เป็นเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันได้ โดยเมื่อเชื้อของโรคบิดปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย ก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ค่ะ
อาการ : ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย เมื่อถ่ายอุจจาระจะมีมูกหรือมูกเลือดออกมาด้วย และปวดท้องเป็นพักๆ และอาจจะมีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียสค่ะ
การป้องกัน : ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดจดค่ะ
.
อหิวาตกโรค
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ที่ลำไส้เล็ก ซึ่งการแพร่เชื้อเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่เชื้อโรคปนเปื้อน แม้ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ค่ะ
อาการ : มีอาการท้องเสียฉับพลัน คลื่นไส้อาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง
การป้องกัน : ดื่มน้ำให้มากๆ หรือจิบน้ำเกลือแร่เรื่อยๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดจดค่ะ
.
ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่ม และอาหารที่ไม่สะอาด
อาการ : มีไข้ต่ำๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน อาจพุ่งสูงถึง 40.5 องศาเซลเซียสได้ค้ะ รวมถึงมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูกค่ะ
การป้องกัน : ดื่มน้ำให้มากๆ หรือจิบน้ำเกลือแร่เรื่อยๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดจดค่ะ
.
โรคไข้เลือดออก
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค และพบมากเฉพาะในตอนกลางวันค่ะ
อาการ : มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางคนอาจจะคลื่นไส้อาเจียน หรือพบผื่นแดง มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัวค่ะ
การป้องกัน : สวมเสื้อ และกางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน ฉีดสเปรย์ หรือทายากันยุง หลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อค่ะ
.
โรคพิษสุนัขบ้า
สาเหตุ : เกิดจากการโดนสุนัขกัด ซึ่งเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” (Rabies virus) โดยโรคนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งมีชีวิตอื่น ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ค่ะ
อาการ : โรคนี้จะมีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 4 วันจนถึง 12 สัปดาห์ โดยมีอาการกลัวน้ำ ไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อมีอาการเกร็งตามใบหน้าและลำคอ เหงื่อและน้ำลายหลั่งมากกว่าปกติ สมองอักเสบ และพูดไม่ค่อยชัดค่ะ
การป้องกัน : ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด และการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งตัวของเรา และตัวของสัตว์เลี้ยงค่ะ
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว อุณหภูมิในประเทศไทยก็สูงขึ้นทุกวันๆ ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี ดื่มน้ำให้มากๆ ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำสะอาด และถูสบู่บ่อยๆ สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า อย่าลืมสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องออกจากบ้านนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองค่ะ
.
ที่มา : pobpad