7 ข้อควรรู้ ขับรถลุยน้ำยังไง ให้ไปรอด!

           ก่อนออกจากบ้านวันนี้ อย่าชะล่าใจเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะช่วงนี้ฝนตกหนัก หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังสูง หลายคนอาจจะยังไม่เคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไรดี วันนี้ Homeday มี 7 ข้อควรรู้ ขับรถลุยน้ำยังไง ให้ไปรอด มาฝากกันค่ะ แนะนำว่าให้ Save บทความเก็บไว้อ่านกันก็ดีนะคะ เพราะบทความนี้รวบรวมให้ตั้งแต่ก่อนออกรถ จนถึง Worst case ในกรณีที่รถดับกลางทางเอาไว้ให้แล้วค่ะ ใครที่เป็นมือใหม่หัดขับ หรือยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมมาก่อน ห้ามเลื่อนผ่านโดยเด็ดขาดเลยนะคะ ทั้ง 7 ข้อควรรู้จะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านที่บทความนี้ได้เลยค่ะ

1. เช็กสถานการณ์พื้นที่

           หากเป็นไปได้ ก่อนจะออกเดินทางไปที่ไหน ที่ไม่ได้รีบด่วน หรือกระทันหัน แนะนำให้เช็ก CCTV ของย่านนั้นดูเสียก่อนค่ะ ที่เว็บไซต์ www.bmatraffic.com/index.aspx หรือเช็กจาก Twitter ด้วยคีย์เวิร์ดของโลเคชันนั้น ๆ ก็ได้เช่นกันนะคะ หากจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปจริง ๆ ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือได้อย่างถูกวิธี หรือหากไม่ได้มีความจำเป็น ก็จะได้หลีกเลี่ยง ไม่ต้องขับผ่านบริเวณพื้นที่นั้น ๆ

2. เช็กระดับน้ำ

          หากบังเอิญเจอเข้ากับพื้นที่น้ำท่วม ให้ประเมินสถานการณ์ของระดับน้ำคร่าว ๆ ก่อนเลยค่ะ เพื่อที่เราจะได้เตรียมรับมือ ตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง 

    • ระดับน้ำต่ำกว่า 20 เซนติเมตร สามารถขับผ่านได้อย่างปลอดภัยค่ะ 
    • ระดับน้ำ 20-40 เซนติเมตร รถเล็กอาจจะเริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ เพราะท่อไอเสียมีสิทธิ์จมน้ำ หากจุดที่ท่วมขัง เป็นเพียงระยะทางสั้น ๆ ก็ยังพอค่อย ๆ ไปได้อยู่ค่ะ แต่หากระยะทางค่อนข้างไกลก็เสี่ยงรถดับค่ะ ส่วนใครที่ขับรถใหญ่หรือยกสูง ก็สามารถลุยผ่านไปได้แบบสบาย ๆ
    • ระดับน้ำ 40-60 เซนติเมตร รถเล็กอย่างรถเก๋งทุกรุ่น ไม่ควรขับผ่านแล้วค่ะ ส่วนรถใหญ่อย่างกระบะ หรือ SUV ที่ยกสูง สามารถขับผ่านได้ค่ะ
    • ระดับน้ำ 60-80 เซนติเมตร เป็นระดับที่แม้แต่รถใหญ่ก็ถือว่าเสี่ยงแล้วค่ะ ไม่ควรขับผ่านโดยเด็ดขาด แต่สำหรับท่านใดที่ขับรถใหญ่แต่งยกสูงเอาไว้ ก็ถือว่ายังพอไปได้ค่ะ

3. วิธีขับรถลุยน้ำ

           ในกรณีที่จำเป็นจะต้องขับรถผ่านในบริเวณที่น้ำท่วมขังจริง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็มีขั้นตอนและวิธีการตามลำดับอยู่ค่ะ เราไม่สามารถขับแบบปกติผ่านไปได้นะคะ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อรถของเราแล้ว ยังส่งผลต่อเพื่อนร่วมทางของเราอีกด้วย

    1. ก่อนถึงจุดน้ำท่วม ให้ทำการปิดแอร์และเปิดกระจกระบายอากาศให้เรียบร้อย หากไม่ปิดแอร์ใบพัดอาจพัดน้ำเข้าเครื่องได้ ส่งผลเสียต่อระบบไฟฟ้าของรถอย่างแน่นอนค่ะ
    2. เมื่อเข้าถึงจุดที่น้ำท่วม เปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ ควบคุมให้อยู่ที่ประมาณ 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขับเร็วผ่านน้ำไปเลย อาจทำให้เสียการทรงตัวและควบคุมรถไม่อยู่ได้ค่ะ 
    3. รักษาความเร็วให้คงที่ที่ประมาณ 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขับช้าเกินไปก็เสี่ยงรถดับ ขับเร็วไปน้ำก็อาจจะเข้าเครื่องพังเสียหายได้ค่ะ
    4. แรงปะทะจากรถที่สวนมาจะทำให้เกิดคลื่นชนกัน น้ำจะสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้อาจกระฉอกเข้ามาจนเกิดความเสียหายแก่ระบบเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นในกรณีที่ต้องขับรถสวนกัน ให้ลดความเร็วลงอีกเล็กน้อยค่ะ
    5. รักษาระยะห่างคันหน้าให้มาก ๆ ไม่ต้องกลัวคันหลังจะจี้ค่ะ เพราะระบบเบรกแช่น้ำ ทำให้เบรกไม่ค่อยอยู่ เมื่อพ้นพื้นที่น้ำท่วมแล้วให้ขับช้า ๆ ต่อไป พร้อมเบรกเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง 

4. น้ำเข้าท่อไอเสียทำอย่างไร

           น้ำเข้าท่อไอเสีย ไม่ได้ส่งผลให้เครื่องดับเสมอไปค่ะ หากเราทำตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว และพ้นออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เมื่อขับรถด้วยความเร็วปกติ ก็จะสามารถไล่ความชื้นและน้ำออกไปจากท่อได้เองค่ะ และหากอยากดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้ท่อเกิดสนิม เมื่อถึงบ้านแล้ว จะใช้ผ้ามาเช็ดทำความสะอาดบริเวณท่อด้วยก็ได้ค่ะ

5. รถดับทำอย่างไร

           ห้ามสตาร์ทเครื่องโดยเด็ดขาดค่ะ! เพราะจะทำให้เครื่องยนต์ของเราพังเสียหาย ให้เปิดไฟฉุกเฉิน แล้วพยายามเข็นรถให้พ้นออกมาจากระดับน้ำที่สูง หากเข็นรถมาจนถึงบริเวณที่น้ำท่วมไม่เกินครึ่งล้อ ให้ลองสตาร์ทรถใหม่อีกครั้ง หากสตาร์ทไม่ติดให้โทรติดต่อศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยบนท้องถนนได้เลยค่ะ

6. ถึงจุดหมาย อย่าเพิ่งดับเครื่อง

           แม้เราจะขับรถบนถนนที่แห้งมาสักพักนึงแล้วก็ตาม ก็แนะนำว่าเพื่อความชัวร์ ให้สตาร์ทรถทิ้งไว้อีกสัก 5 นาทีก็ได้ค่ะ เพื่อให้น้ำในหม้อพักท่อไอเสียระเหยออกมาให้หมดเสียก่อน และขณะเดียวกันก็ให้ย้ำเหยียบเบรคไปเรื่อย ๆ ด้วย เพื่อให้ผ้าเบรคแห้งให้ได้มากที่สุดค่ะ

7. เบอร์โทรฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ

    • เหตุด่วนเหตุร้าย 191 และ 1190
    • ตำรวจทางหลวง 1193
    • โจรกรรมรถยนต์ 1192
    • ข้อมูลจราจร 1197
    • อุบัติเหตุบนทางหลวง 1193
    • สอบถามเส้นทางบนทางด่วน (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) 1543
    • ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท 1146
    • สายด่วนอุบัติเหตุ 02-711-9161-2
    • สายด่วนรถหาย 02-711-9160
    • หน่วยแพทย์กู้ชีพ 1154
    • ตำรวจท่องเที่ยว 1155
    • สายด่วนประกันภัย 1186
    • แจ้งอุบัติเหตุ รพ.ตำรวจ 1691
    • ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข 1669
    • ศูนย์เอราวัณ 1646
    • หน่วยกู้ชีวิต วชิรพยาบาล 1554
    • สวพ.91 1644
    • จส.100 1137
    • ร่วมด้วยช่วยกัน 1677
    • สถานีวิทยุ สวพ.91 1644
    • สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 1677
    • ศูนย์วิทยุรามา 02-3546999
    • ศูนย์วิทยุกรุงธน 02-4517227-9
    • ศูนย์วิทยุปอเต๊กตึ๊ง 02-2264444-8

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://promotions.co.th
www.axa.co.th 
www.grandprix.co.th

           หากวันไหนที่ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังบางแห่ง ถ้ารู้ก่อน ก็แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงไปเลยจะดีที่สุดนะคะ เพราะนอกจากเราจะไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่คาดหวังแล้ว ยังอาจเกิดความเสียหายกับรถของเราได้อีกด้วย นอกจากจะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังต้องเสียค่าซ่อมรถอีกด้วย ไม่คุ้มกันเลยค่ะ แต่หากมีธุระจำเป็นจริง ๆ ก็แนะนำให้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ ก็จะช่วยหลีกเลี่ยง ไม่ให้รถของเราต้องออกไปเสี่ยงได้นั่นเองค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด