เทคนิคเตรียมตัว ตรวจรับคอนโดก่อนโอน

เมื่อเราได้ตัดสินใจเลือกคอนโดจากโครงการที่ถูกใจแล้ว และสินเชื่อก็อนุมัติผ่าน ขั้นตอนต่อไปก่อนโอนกรรมสิทธิ์ ก็คือ การตรวจรับห้อง ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เราจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการตรวจรับห้องก่อนที่จะโอน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งหากพบจุดผิดพลาดจะได้ให้ทางโครงการแก้ไขให้เรียบร้อย วันนี้แอดมิน จึงอยากมาแนะนำเทคนิคการตรวจรับห้อง ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1. ตลับเมตร 
  2. กล้องถ่ายรูป อาจจะใช้กล้องมือถือถ่ายได้
  3. Post it เวลาเจอจุดที่ผิดพลาดให้แปะไว้ตรงจุดนั้น
  4. เหรียญ 5 หรือเหรียญ 10 พกติดกระเป๋าไว้ด้วยสำหรับเคาะกระเบื้อง
  5. สายชาร์จโทรศัพท์สำหรับลองปลั๊กไฟ หรือตัววัดแรงดันไฟก็ได้ ถ้ามี 
  6. ลูกแก้ว หรือลูกปิงปอง ถังน้ำ เพื่อเช็คสโลปของพื้น

การตรวจเช็คตามจุดต่างๆ

ผนัง 

  • ต้องไม่มีจุดแตกร้าว ผิวผนังต้องเรียบ โดยเราสามารถเอามือลูบไล่ไปตามผนังได้
  • หากผนังติดวอลล์เปเปอร์ วอลล์เปเปอร์ต้องเรียบ ไม่นูน และไม่มีสูญญากาศอยู่ข้างในให้เราเห็น
  • หากผนังปูกระเบื้อง กระเบื้องต้องไม่กลวงอยู่ด้านใน ต้องปูเต็มแผ่น โดยเราจะใช้เหรียญที่เราเตรียมมาเคาะที่กระเบื้อง เพื่อฟังเสียงความแข็งของปูนที่อยู่หลังกระเบื้อง เมื่อเราลองฟังดูเราก็จะรู้ได้ทันทีว่ากระเบื้องกลวง หรือแน่นเต็มแผ่น

เพดานฝ้า

  • เราควรตรวจสอบความสูงจากพื้นถึงเพดานว่าสูงตรงกับโครงการระบุในสัญญาหรือไม่ โดยเราจะใช้ตลับเมตรในการวัด ดึงสายตลับเมตรขึ้นให้สูงถึงเพดาน นอกจากนั้นระดับฝ้าเพดาน ต้องระนาบเสมอกัน ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีสีด่างให้มองเห็นชัด และไม่มีคราบน้ำจากการรั่วซึมของฝ้า

เช็คงานพื้น

  • หากเป็นไม้เทียม พื้นลามิเนต ควรดูเรื่องของรอยต่อระหว่างแผ่นว่าต่อกันสนิทหรือไม่ ให้เราใส่ถุงเท้าลองลากเท้าไปตามพื้นได้เลยเราก็จะรู้สึกได้ถ้าเกิดเจอกับรอยต่อที่ปูไม่สนิท จากนั้นลองทิ้งน้ำหนักตัวลงไป พื้นต้องไม่ควรยวบลงไปเกิน 3 มิลลิเมตร และต้องไม่มีเสียงดัง หากเจอจุดไหนพลาดให้แปะ Post it ไว้ได้เลยกันลืม ถ้าพื้นที่เป็นกระเบื้องก็ให้เช็ครอยต่อ การเก็บยาแนว รวมไปถึงการเช็คว่าปูเต็มแผ่นหรือเปล่า ต่อมาให้ดูบัวเชิงผนัง ว่ามีความต่อเนื่องกันไหม รอยต่อตรงบริเวณมุมต้องไม่เผยอออกมา และเส้นบัวต้องไม่เป็นคลื่น

หน้าต่าง และประตู 

  • สีที่ทาต้องเรียบร้อย ไม่มีรอยถลอก
  • วงกบ และบานประตู สันต้องไม่บิ่น เข้าฉากกันสนิท 
  • รอยต่อของไม้ ที่ถูกใช้ตามวงกบ ต้องเรียบร้อย
  • ประตูบานเลื่อนให้ลองเลื่อนดู จะต้องไม่มีเสียงดัง และไม่มีการแกว่งที่ดูเหมือนไม่แข็งแรง
  • บานพับประตูให้ดูว่าเฉียงตกร่อง ตกขอบหรือไม่
  • มือจับ ตัวล็อก ลูกบิด อุปกรณ์กันกระแทกต่างๆ ให้ดูว่าการใช้งานสมบูรณ์หรือไม่

ห้องน้ำ 

เป็นจุดที่มีความอ่อนไหวมากที่สุด เพราะความชื้น และเชื้อราที่อาจเกิดขึ้น เราจึงต้องเช็คความเรียบร้อยให้ดีตั้งแต่ครั้งแรก

  • กระเบื้องผนังที่ปูในห้องน้ำให้เช็คว่ากลวงหรือไม่ ให้ใช้เหรียญไล่เคาะตามมุมของกระเบื้อง หากกระเบื้องกลวงจะส่งผลถึงการหลุดร่อนในอนาคตได้
  • ในพื้นที่อาบน้ำให้ตรวจสอบสโลปทิศทางไหลของน้ำ โดยใช้ลูกแก้ว หรือลูกปิงปองที่เตรียมมา และดูการกลิ้งว่ากลิ้งไปในจุดที่ระบายน้ำหรือเปล่า
  • ตรวจสอบอุปกรณ์การใช้งาน ฝักบัว ก็อกน้ำทุกจุด สายฉีดชำระ โถสุขภัณฑ์ ให้ลองเปิดใช้งานดูว่าใช้งานได้หรือไม่ น้ำไหลแรงไหม 
  • บานเลื่อนของห้องน้ำให้เช็คว่าเลื่อนสะดวกหรือไม่ สามารถล็อคได้แน่นหรือไม่ ขอบกระจกกั้นรอยต่อ ต้องตรงกันพอดี 
  • รอยต่อของชักโครก แน่นหนาหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นดันมาจากท่อข้างล่าง 
  • ฝ้าเพดานในห้องน้ำ ต้องไม่มีคราบการรั่วซึม หรือรอยเปื้อนต่างๆ 
  • ทดสอบพัดลมดูดอากาศว่าใช้งานได้หรือไม่ 
  • เช็คเครื่องทำน้ำอุ่นว่าติดตั้งสายดินหรือไม่

ระเบียง

  • เช็คสโลปพื้นระเบียง เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง ถ้าไม่มีก็อกเราอาจต้องเตรียมถังน้ำใส่น้ำให้เต็ม และลองราดน้ำดูว่าพื้นสโลปหรือไม่ 
  • การปูกระเบื้อง ให้ดูรอยต่อ ยาแนว ว่าเรียบร้อยหรือไม่ 
  • Floor drain สามารถระบายน้ำได้ดี และรวดเร็วหรือไม่ บางกรณีอาจจะมีเศษปูนเศษขยะตกค้างอยู่ จึงทำให้น้ำไหลลงไปได้ไม่ดี เมื่อเราเช็คแล้วก็สามารถแจ้งให้ทางโครงการแก้ไขได้

ระบบไฟฟ้า

  • เปิดดูสวิทช์ไฟทุกจุด ว่าใช้งานได้หรือไม่ ลองสับคัทเอาท์ลงดูได้
  • เช็คปลั๊กไฟ ให้ลองนำสายชาร์จที่เราเตรียมมา เสียบดูทุกจุดเพื่อดูว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้าใครมีตัววัดแรงดันไฟก็นำใช้ได้
  • แอร์ ให้ลองเปิดดูว่าเย็นปกติหรือไม่ มีเสียงดังเกินไปหรือเปล่า และการระบายน้ำออกของแอร์ 

ระบบน้ำ

  • อ่างล้างจาน อ่างล้างมือ ให้เปิดน้ำจนเต็มอ่าง และปิดน้ำปล่อยน้ำทิ้ง แล้วไปตรวจดูที่ท่อใต้อ่าง เพื่อดูว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ 

เตาไฟฟ้า และเครื่องดูดควัน

  • โครงการมักจะแถมมาให้อยู่แล้ว เราลองเปิดเช็คดูว่าสามารถใช้งานเบื้องต้นได้หรือไม่ เช็คพัดลมดูดอากาศ พัดลมดูดควันในห้องว่าใช้งานได้ดี หรือมีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ ตรงบริเวณเคาน์เตอร์ครัวให้ลองใช้มือลูบดูว่ารอยต่อเรียบสนิทกันหรือเปล่า ลูบแล้วจะต้องไม่สะดุด และไม่เจอความแหลมคม

และทั้งหมดนี้ คือ วิธีการตรวจเช็คห้องก่อนเตรียมรับโอน เราจะต้องตรวจเช็ค และต้องเป็นไปตามสัญญาที่ทางโครงการได้แจ้งกับเราก่อนหน้านั้น เพราะจะต้องอาศัยอยู่ในระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้นเราควรจะต้องตรวจเช็คให้ละเอียดถี่ถ้วน ก่อนเซ็นต์รับโอนห้องค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด