ห้องน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับสมาชิกในบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยต้องใช้ทุกวัน จึงต้องดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี ถ้าหากหมั่นดูแล ทำความสะอาดห้องน้ำให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของทุกคนในบ้าน ไม่เจ็บป่วยนั่นเองค่ะ หลายๆ คนมักจะคิดว่า การทำความสะอาดห้องน้ำเป็นงานหนัก แต่แอดมินอยากจะบอกว่า ไม่หนักอย่างที่คิดเลยนะคะ เพียงแค่รู้เคล็ดลับต่อไปนี้ ที่แอดมินตั้งใจนำมาแบ่งปัน ให้กับผู้อ่านทุกท่านค่ะ
1. การทำความสะอาดเซรามิก
สุขภัณฑ์ในห้องน้ำที่ทำมาจากเซรามิค ได้แก่ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ โถสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น ปูผนัง วางสบู่ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเซรามิคสีขาว และเมื่อใช้งานนานไปอาจจะหม่นหมองลง เรามีวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้
- เช็ดสุขภัณฑ์ด้วยผ้าชุบน้ำสบู่อ่อนๆ หลังจากนั้นชุบผ้าในน้ำสะอาดบิดหมาด แล้วนำไปเช็ดซ้ำอีกครั้ง จะช่วยทำความสะอาดคราบสกปรกออกได้ แต่ถ้าเกิดคราบที่ขจัดออกยาก สามารถใช้กระดาษทิชชูชนิดหนา ชุบด้วยน้ำส้มสายชู แล้วนำไปแปะเอาไว้ที่คราบนั้นๆ ทิ้งเอาไว้ 30 นาที หลังจากนั้นดึงออก แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด เพียงเท่านี้คราบสกปรกก็จะหายไป
- อีกวิธีหนึ่งที่คนนิยมใช้ คือ การนำน้ำส้มสายชูผสมเบกกิ้งโซดาด้วยอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้วใช้ฟองน้ำชุบ นำไปขัดสุขภัณฑ์ที่มีคราบ แล้วปล่อยทิ้งเอาไว้อย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือถ้าโถสุขภัณฑ์เซรามิคมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เรก็สามารถใช้น้ำส้มสายชู เพื่อขจัดกลิ่นได้เช่นกัน
ในส่วนของกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องปูผนังที่ทำจากเซรามิค จะขออธิบายแยกระหว่างโซนเปียก และโซนแห้ง ดังต่อไปนี้
- โซนเปียก เป็นสถานที่สำหรับการอาบน้ำ จึงจะต้องมีคราบน้ำสบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์อื่นๆ และทำให้เกิดปัญหาตามมาก็คือ เชื้อรากับแบคทีเรียที่มักเกิดขึ้นในที่ชื้น ดังนั้นเราควรจะทำความสะอาดคราบต่างๆ หลังจากใช้งานเสร็จทันที ควรทำความสะอาดด้วยน้ำ และน้ำยาล้างห้องน้ำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง สำหรับร่องยาแนวที่มักจะเป็นคราบดำ เราสามารถใช้น้ำส้มสายชูนำมาขัดด้วยแปรงสีฟันเบาๆ คราบก็จะหลุดลอกออกไปได้
- โซนแห้ง ถึงแม้จะไม่โดนน้ำ หรือเปียกชื้น แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเช่นกัน โดยการขัดพื้นอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะอาจจะมีฝุ่น หรือคราบที่เรามองไม่เห็น เพราะจะได้ไม่เกิดการสะสมจนทำให้เกิดเป็นคราบดำ
2. การทำความสะอาดโครเมี่ยม และสเตนเลส
วัสดุที่เป็นโลหะในห้องน้ำส่วนมากจะทำมาจากโครเมียม หรือทังสเตน เช่น ก๊อกน้ำ สต๊อปวาล์ว หัวฝักบัว ราวแขวนผ้าต่างๆ เป็นต้น เมื่อไม่ได้ทำความสะอาดนานๆ จะมีคราบตะกรันเกาะ เนื่องจากแร่ธาตุในน้ำประปาที่เราใช้นั้น ทิ้งคราบตะกรันเอาไว้ที่หัวก๊อกต่างๆ เราสามารถทำความสะอาดด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ทำการเช็ดถูบ่อยๆ
- ถ้าเป็นคราบฝังลึก เราสามารถใช้เปลือกมะนาว เปลือกส้มมาขัด หรือจะใช้ยาสีฟันก็ได้ และใช้แปรงสีฟันขัดเบาๆ ที่วัสดุแล้วทิ้งเอาไว้ 15 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด
- ถ้าเป็นคราบฝังแน่น ควรใช้น้ำมะนาวผสมกับน้ำยาล้างจาน หรือน้ำส้มสายชูผสมน้ำยาล้างจานก็ได้ นำมาขัด แล้วทิ้งเอาไว้ 15 นาที หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้กับสุขภัณฑ์โครเมียม และสแตนเลสในห้องน้ำทั้งหมด รวมทั้งในห้องครัวด้วย
3. การทำความสะอาดกระจกเงา
สิ่งสำคัญของกระจกเงา คือ จะต้องใส สะอาด เพื่อส่องได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ดังนั้นเมื่อเราเริ่มเห็นว่ากระจกเงามีคราบสกปรก เราควรต้องทำความสะอาดทันที ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้หนังสือพิมพ์ชุบน้ำเล็กน้อย หรือน้ำส้มสายชู ซึ่งน้ำส้มสายชูใช้ได้กับหลากหลายวัสดุ สำหรับกระจกเงาสามารถใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำ นำฉีด หรือใช้ผ้าชุบเช็ดให้ทั่วกระจกเงา หลังจากนั้นเช็ดออกด้วยผ้านุ่มๆ ก็จะทำให้กระจกกลับมาใสเหมือนเดิม
- สำหรับกระจกฉากกั้นอาบน้ำ จะมีคราบฝังลึกมากกว่า สามารถใช้น้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตวงผสมกับน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะและน้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมใส่ในขวดสเปรย์ หรือใช้ผ้าชุบ ขัดถูออกเบาๆ หลังจากนั้นล้างน้ำเปล่า ก็จะทำให้กระจกกลับมาใสสะอาดเหมือนใหม่
4. การทำความสะอาดพลาสติก PVC
สุขภัณฑ์ในห้องน้ำที่ทำมาจาก PVC ตัวอย่างเช่น หัวฉีดชำระ ฝารองนั่ง หรือฝักบัวที่เป็นหัว PVC เมื่อใช้งานนานไป อาจหม่นหมองเป็นสีอมเหลือง ทำให้ดูไม่สวยงาม และเกิดรอยขูดขีดต่างๆ สิ่งที่ไม่ควรจะนำมาทำความสะอาดวัสดุประเภท PVC คือ ใยขัดที่ทำมาจากโลหะ เช่น ฝอยโลหะต่างๆ ควรจะทำความสะอาดด้วยวิธีต่อไปนี้
- ใช้น้ำส้มสายชูผสมกับน้ำยาล้างจานในสัดส่วนเท่ากัน ใช้ฟองน้ำชุบ ขัดทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงแล้วจึงล้างออก หากคราบยังอยู่ให้ทำซ้ำ หรือเมื่อขัดเสร็จแล้วให้ wrap พันเอาไว้ทิ้งข้ามคืน ตอนเช้าค่อยล้างออก ก็จะกลับมาสะอาดเหมือนเดิม
- ส่วนหัวฝักบัว PVC สามารถถอดออกมาทำความสะอาด โดยนำไปแช่น้ำส้มสายชู แล้วทิ้งเอาไว้ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ก็จะได้หัวฉีดที่สะอาดสวยงามกลับคืนมา
ถึงแม้จะบอกว่าน้ำส้มสายชูไม่เป็นอันตรายต่อวัสดุในห้องน้ำ แต่อย่างไรก็ตามน้ำส้มสายชูก็มีฤทธิ์เป็นกรด สามารถกัดกร่อนวัสดุต่างๆ ได้ เวลาใช้จึงควรผสมน้ำให้เจือจาง เพื่อเป็นการรักษาวัสดุให้คงทน และสามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกท่านนะคะ