คนเรามักจะใช้เวลาบนเตียงนอน โดยเฉลี่ยนคืนละ 8 ชั่วโมง คิดเป็นเดือนละ 240 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 122 วันต่อปี เป็นระยะเวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว จากสถิติข้างต้น เราควรที่จะหันมาใส่ใจเรื่องการนอนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเลือกซื้อชุดเครื่องนอนต่างๆ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากสำหรับการนอน และยังรวมไปถึงการจัดห้องนอนเพื่อส่งเสริมสุขภาพทีดี บทความนี้จึงอยากจะแนะนำวิธีการเลือกซื้อชุดเครื่องนอน และการจัดห้องนอนเพื่อส่งเสริมสุขภาพทีดีของทุกคนค่ะ
1. การเลือกซื้อเตียงนอน
การเลือกเตียงนอนเพื่อสุขภาพ ควรเลือกเตียงนอนชนิดขาโปร่ง มีพื้นที่โล่งใต้เตียง เพราะเตียงนอนจะไม่เก็บฝุ่น และสามารถทำความสะอาดได้อย่างสะดวก ถ้าหากว่าเป็นเตียงนอนแบบข้างล่างมีที่กั้น หรือลิ้นชักใต้เตียง ถึงแม้ว่าจะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มักจะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น นอกจากนี้อาจมีพวกแมลง เช่น มด แมลงสาบ ตะขาบ เข้าไปอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นเตียงนอนประเภทขาโปร่งจึงเหมาะสมที่สุดสำหรับเตียงนอนเพื่อสุขภาพ
2. การเลือกซื้อที่นอน
ปัจจุบันที่นอนมีให้เลือกซื้อมากมายหลายแบบ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำมาเพื่อตอบรับความต้องการ และรองรับสรีระต่างๆ เวลาไปเลือกซื้อที่นอน เราควรจะลองนอนอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเรารู้สึกว่านอนสบายจริงๆ หรือไม่ ที่นอนที่ดีจะต้องไม่นุ่ม หรือแข็งจนเกินไป แต่ถึงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ และความรู้สึกสบายของผู้นอนเองด้วย ซึ่งที่นอน 2 ประเภทที่ได้รับความนิยมได้แก่ 1. ที่นอนยางพารา เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการปวดหลัง เพราะยางพารามีความยืดหยุ่น และยุบตัวตามสรีระร่างกาย ไม่นุ่มเกินไป นอกจากนั้นยังมีข้อดี คือ ไม่เก็บไรฝุ่น แต่ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมาก ทำให้ไม่สามารถยกเพื่อเปลี่ยนผ้าปูที่นอนได้ง่ายๆ อาจจะต้องมีคนช่วยกัน 2. ที่นอนแบบพ็อกเก็ตสปริง ซึ่งถูกพัฒนามาจากที่นอนสปริงแบบธรรมดา มีข้อดี คือ ระบบพ็อกเก็ตสปริงจะมีการแยกกันอย่างอิสระ ซึ่งถ้ามีคนนอนมากกว่า 1 คน จะช่วยลดปัญหาเวลามีคนขยับตัว พลิกตัว หรือลุกขึ้นจากเตียง ความสั่นสะเทือนจะน้อยกว่าแบบสปริงธรรมดา
3. การเลือกหมอน
การเลือกหมอนเพื่อสุขภาพที่ดี ต้องรู้ก่อนว่า หมอนที่ดีนั้นจะมีลักษณะรองรับตั้งแต่ต้นคอถึงศีรษะ ความนุ่มพอดี ไม่แข็ง หรือนุ่มเกินไป หมอนพาราเป็นหมอนเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูง เพราะมีความยืดหยุ่น และมีรูระบายอากาศภายใน แม้ว่าหมอนยางพาราจะมีราคาสูง แต่ถือว่าคุ้มค่า สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน และไม่ยุบตัวเมื่อผ่านการใช้งานเหมือนหมอชนิดอื่นๆ หมอนเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่นิยม คือ หมอนวัสดุ เมมโมรีโฟม ด้วยลักษณะของเนื้อโฟมนั้น ทำให้หมอนมีความยืดหยุ่นตามสรีระของผู้นอน และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ไม่เกิดอาการเหน็บชาขณะที่นอนอีกด้วย
4. การเลือกผ้าปูที่นอน และผ้านวม
ผ้าปูที่นอน และผ้านวม ไม่เพียงแต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งบนเตียงนอน แต่ยังเป็นของตกแต่งภายในห้องนอน เพื่อให้เกิดความสวยงาม นอกจากนั้นการเลือกผ้านวมก็ควรคำนึงถึง วัสดุภายใน แนะนำว่าควรเลือกที่เป็นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ซึ่งมีสัมผัสที่นุ่ม และเย็นสบาย ส่วนวิธีการเก็บรักษา คือ การซักด้วยน้ำอุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดไรฝุ่นออกไป
5. การจัดตำแหน่งห้องนอน
ทิศที่เหมาะสมสำหรับห้องนอนคือ ทิศตะวันออก เพราะจะมีแสงสว่างส่องเข้ามาในช่วงเวลาเช้า ซึ่งข้อดีของแสงแดดในยามเช้า จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสดชื่นยามตื่นนอน อีกทั้งยังรู้สึกผ่อนคลาย และลดความตึงเครียดในระหว่างวันอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องทำงานหนัก และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรออกแบบให้ห้องนอนอยู่ติดบริเวณสวน หรือมุมที่มองออกไปแล้ว เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม
6. การเลือกเครื่องปรับอากาศ และพัดลม
การสูดอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่ในเมืองใหญ่ที่ต้นไม้น้อย ทำให้มีอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก การอาศัยอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศจะช่วยให้รู้สึกสบายตัว และอุณหภูมิที่เหมาะสมจะทำให้นอนหลับสบายอีกด้วย ส่วนตำแหน่งการติดตั้งแอร์ และพัดลมนั้น ไม่ควรติดฝั่งตรงข้ามหัวเตียง เพราะจะทำให้ลมจากแอร์ และพัดลมลงตรงๆ ที่หน้า ลมเย็นจะเข้าไปทางจมูก และปากขณะที่นอน และจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย ควรติดเยื้องไปทางด้านปลายเตียง เพื่อให้ลมเย็นพัดมาสัมผัสร่างกายมากกว่าหน้า และที่สำคัญคือต้องหมั่นรักษาความสะอาดของแอร์ และพัดลมอยู่เสมอ
7. การวางตำแหน่งหน้าต่าง
ห้องนอนควรได้รับอากาศถ่ายเทที่เพียงพอ หลังจากตื่นนอนก็ควรปิดเครื่องปรับอากาศ จากนั้นเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เพื่อให้แสงแดดได้ส่องเข้าไปในห้อง และเป็นการฆ่าเชื้อโรค อีกข้อสำคัญที่ควรรู้ คือ ควรปิดเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 15 นาที แล้วจึงเปิดหน้าต่าง เพราะจะทำให้ไม่เกิดความชื้นสะสมในห้อง ถ้าหากห้องนอนของคุณมีหน้าต่างอยู่ใกล้หัวเตียง ควรเลี่ยงการเปิดหน้าต่างขณะที่นอนหลับ เพราะลมที่พัดเข้ามาอาจจะทำให้ป่วยได้ หน้าต่างจึงควรติดตั้งทางฝั่งข้างเตียงจะดีที่สุด
8. ห้องนอนที่มีห้องน้ำ
การสร้างห้องน้ำไว้ในห้องนอน อาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น และความชื้นที่เราไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นตำแหน่งของเตียงนอน ไม่ควรจะอยู่ติดผนังห้องน้ำ ถ้าหากมีพื้นที่ ควรเว้น หรือคั่นไว้ด้วยโซนแต่งตัว เพื่อป้องกันเสียงรบกวนในกรณีที่มีผู้นอน 2 คนขึ้นไป
9. ตู้เสื้อผ้าในห้องนอน
หลายคนที่มีพื้นที่ในบ้าน หรือคอนโดน้อย มักจัดตู้เสื้อผ้าเอาไว้ในห้องนอนด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หลีกเลี่ยง เพราะตู้เสื้อผ้าสามารถเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค หรือกักเก็บฝุ่น แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเอาไว้ในห้องนอน ก็ควรรักษาความสะอาด เลือกตู้เสื้อผ้าที่ปิดได้มิดชิดตอนที่ไม่ได้ใช้งาน ที่สำคัญคือ ไม่ควรตากผ้าในห้องนอน เพราะผ้าเปียกอาจมีผลกับความชื้น ก่อให้เกิดปัญหากลิ่นอับ และอาจเกิดปัญหาเรื่องเชื้อโรคตามมาได้
10. การเลือกวัสดุปูพื้น
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการปูพื้นเพื่อสุขภาพที่ดี คือ พรม เพราะเป็นสิ่งที่ทำความสะอาดยาก และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น กับสิ่งสกปรกได้ง่าย ควรเลือกวัสดุที่คงทนแข็งแรง ทำความสะอาดได้ง่ายอย่างเช่น ไม้ กระเบื้องลามิเนต หรือวัสดุอื่นๆ
11. การเลือกม่าน
ม่านเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับห้องที่มีหน้าต่างกระจก เพื่อกันแสงแดดจากภายนอก รวมถึงความเป็นส่วนตัวของผู้อาศัยอีกด้วย การเลือกม่านเพื่อสุขภาพที่ดี เราควรใช้ม่านที่ทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมฝุ่น หรือมู่ลี่ เพราะสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ถ้าต้องการแบบผ้า ก็ควรเลือกแบบที่ถอดซักได้ง่าย และควรถอดซักทุกๆ 6 สัปดาห์
12. การจัดชั้นวางหนังสือ
คนที่ชอบอ่านหนังสือในห้องนอน มักจะมีชั้นหนังสือเอาไว้ในห้องนอนด้วย ซึ่งตามจริงแล้วห้องนอนไม่ควรมีชั้นหนังสือ เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่กักเก็บฝุ่นได้ดี ควรแยกเอาไว้ในห้องทำงาน หรือห้องนั่งเล่นมากกว่า ถ้าต้องการจะอ่านหนังสือในห้องนอนควรหยิบมาเพียงเล่มที่จะอ่านเท่านั้น
นอกจากการเลือกชุดเครื่องนอน หรือการจัดห้องนอนจะเป็นการส่งเสริมในเรื่องสุขภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศภายในห้องนอน ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายเหมาะแก่การนอนหลับพักผ่อนอีกด้วยค่า