–
![](https://pjyjntwzszymfzyqkfvu.supabase.co/storage/v1/object/public/content/2021/8/f814bc94-a1bc-40a8-b739-13ad01c5241d.png)
การย้ายบ้านที่เราอยู่อาศัยมานาน มันไม่เหมือนกับการย้ายออกจากหอพัก หรือบ้านเช่าที่เราสามารถเก็บข้าวของเพียงแค่ไม่กี่ชิ้น แล้วก็ย้ายออกได้เลย จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม และมีแผนการที่ชัดเจน รวมทั้งต้องจัดการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ต่างๆ ที่มีผลทางกฎหมายให้เรียบร้อยด้วย ไม่อย่างนั้นจะมีเรื่องยุ่งยากตามมาในภายหลังแน่นอน ทำให้ต้องวุ่นวายคอยเดินทางกลับไป กลับมาอีกหลายรอบ เสียทั้งเงิน และเวลาโดยใช่เหตุ
หากใครกำลังมีความคิดจะย้ายบ้าน อย่างน้อยควรเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเดือนๆ เพื่อหาแนวทางที่ตัวเองสะดวกมากที่สุด และขาดเหลือสิ่งใดก็จะได้จัดหามาทดแทนได้ทันท่วงที แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน ลองดูแนวทางในการเตรียมตัวต่อไปนี้ได้เลยค่ะ
สิ่งที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนย้ายบ้าน
เมื่อเราเป็นเจ้าของบ้านที่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินชิ้นนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก่อนจะย้ายออกก็ต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะทำอย่างไรก็บ้านหลังเก่า จะปล่อยเช่า หรือประกาศขาย เพราะแต่ละทางเลือกจำเป็นจะต้องดำเนินการในเรื่องของเอกสารแตกต่างกัน
– กรณีปล่อยเช่า เราอาจจะยังไม่ต้องยุ่งยากกับเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ และหนี้สิน แต่ก็ต้องคิดว่าจะให้ใครเป็นผู้ดูแลเรื่องการปล่อยเช่า จะจัดการด้วยตัวเองทั้งหมด หรือมีฝ่ายนิติเป็นคนดูแลให้ ถ้าต้องดำเนินการทุกอย่างผ่านฝ่ายนิติ จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ควรสอบถาม และรีบเตรียมการแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนถึงวันที่ใกล้จะย้ายบ้าน เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าจะติดปัญหาอะไรระหว่างการทำเรื่องหรือไม่
– กรณีประกาศขาย สิ่งแรกที่ต้องทำให้เสร็จลุล่วงไปก็คือภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง และค่าบริหารจัดการต่างๆ อันนี้พูดถึงในกรณีที่เป็นบ้านในโครงการบ้านเท่านั้น แต่หากเป็นบ้านที่เราปลูกสร้างขึ้นมาบนที่ดินของตัวเอง ภาระหนี้สินก็จะอยู่ในรูปแบบของการกู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนด้วยเหมือนกัน จากนั้นก็ประกาศขายได้ทันที พร้อมกับมีการวางแผนเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์เอาไว้ล่วงหน้า เอกสารอะไรที่ต้องใช้ให้จัดหาเอาไว้เลยไม่ต้องรอ เพราะบางอย่างเราอาจต้องขอกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมันจะยุ่งยากมากหากต้องมารื้อในภายหลังที่ย้ายบ้านออกไปนานแล้ว
การเตรียมการทั้งหมดนี้ต้องอ้างอิงกับกำหนดเวลาของเราด้วย ต้องดูว่าวันที่เราต้องย้ายออกคือวันไหน ถ้าใครที่ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร เสร็จเมื่อไรค่อยย้ายออกไป แบบนั้นก็ไม่มีปัญหาเพียงแค่ทำงานไปตามลำดับขั้นก็เป็นอันใช้ได้ แต่บางคนอาจจะเหตุจำเป็นที่ต้องย้ายออกภายในเวลาที่แน่นอน ก็ควรวางแผนย้ายข้าวของทั้งหมดให้เรียบร้อยสัก 1-2 วันก่อนกำหนด เพื่อให้เวลาที่เหลือเป็นช่วงของการเก็บรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
จัดการกับของชิ้นใหญ่ก่อน ย้ายเองได้หรือต้องจ้างขนย้าย
ยิ่งอยู่บ้านหลังเดิมมานานเท่าไร ข้าวของชิ้นใหญ่ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้า เตียงนอน ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น เราต้องทำการประเมินภาพรวมว่าข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน และเราจะขนย้ายอย่างไร ย้ายของด้วยตัวเองได้ไหม หรือจ้างคนอื่นมาย้ายให้ดีกว่า เรามีหลักการพิจารณาง่ายๆ ดังต่อไปนี้
– ถ้าเราอาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง การจ้างคนมาขนย้ายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้กำลังคน 2 คนในการยกของชิ้นใหญ่ ยิ่งถ้าต้องยกขึ้นรถเพื่อขนย้ายด้วยแล้ว การทำด้วยตัวเองคนเดียวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
– ถ้าเรามีรถสำหรับขนย้ายได้เอง และมีคนช่วยอยู่แล้ว ให้ลองคำนวณดูว่าจะต้องขนย้ายกันกี่รอบ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าไร หากบ้านหลังใหม่อยู่ไม่ไกลจากที่เก่านัก ก็น่าจะขนย้ายเองได้ แต่ถ้าอยู่ไกลแบบข้ามจังหวัด ต้องเทียวไปเทียวมาหลายรอบแบบนี้ การจ้างขนย้ายที่มีรถคันใหญ่มาช่วย ก็จะคุ้มค่ากับเงิน และเวลาที่เสียไปมากกว่า
ของชิ้นเล็ก แพ็คลงกล่องขนย้ายง่ายกว่า
หลังจากจัดการกับของชิ้นใหญ่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเหลือแต่ข้าวของจิปาถะชิ้นเล็กๆ วิธีการที่ดีที่สุดในการขนย้ายก็คือ จัดเรียงของทั้งหมดลงกล่องขนาดเท่าๆ กัน ใส่วัสดุกันการกระแทกตามความเหมาะสม พร้อมกับปิดกล่องจนแน่นหนาทุกด้านเพื่อให้ย้ายบ้านได้สะดวก โดยที่ของด้านในไม่เกิดความเสียหาย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ให้คัดแยกก่อนว่าส่วนไหนต้องขนไป และส่วนไหนต้องเก็บทิ้ง เพื่อจะได้ลดปริมาณของที่ไม่จำเป็นให้น้อยลงด้วย
วิธีวางแผนการขนย้ายไม่ให้งบบานปลาย
เวลาที่คนส่วนใหญ่วุ่นวายกับการย้ายบ้านมักจะไม่ทันสังเกตว่าตัวเองจ่ายค่าอะไรไปบ้างแล้ว รู้ตัวอีกทีก็พบว่าค่าใช้จ่ายบานปลายไปมาก มันมักจะเป็นรายจ่ายยิบย่อยที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง ดูเผินๆ ก็เหมือนไม่เท่าไรแต่พอรวมยอดได้กลับเยอะกว่าที่คิด ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเราวางแผนให้ดีตั้งแต่เริ่มต้น โดยกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในตั้งแต่เริ่มต้นจนย้ายบ้านแล้วเสร็จเป็นตัวเลขกลมๆ เอาไว้ก่อน แล้วทำการแจกแจงว่าส่วนไหนมีค่าใช้จ่ายเท่าไรบ้าง เช่น ค่ากล่องและอุปกรณ์สำหรับแพ็คของเป็นเงินเท่าไร ค่าจ้างรถขนย้ายคิดรอบละเท่าไร ค่าดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารรวมเบ็ดเสร็จเป็นเท่าไร เป็นต้น จากนั้นลองรวมยอดดูว่าเกินจากงบประมาณที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ถ้าเกินก็ให้หาช่องทางลดค่าใช้จ่ายลง ดังนี้
– เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการเพิ่มขนาดของรถขนย้ายแล้วลดจำนวนเที่ยวลง กับใช้รถขนาดเล็กลงมาแต่มีจำนวนเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แบบไหนคุ้มค่ามากกว่า
– ตัดใจทิ้งของที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องขนย้าย
– จัดการกับของชิ้นเล็กที่ต้องแพ็คลงกล่องให้เรียบร้อยก่อน ค่อยหาซื้อกล่องบรรจุที่ไม่เล็กเกินไป และซื้อเพียงแค่พอดีที่ต้องใช้
– วางแผนการเดินเรื่องเอกสารให้เสร็จสิ้นในรอบเดียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
เพียงแค่นี้ก็จะทำให้เรารู้ตั้งแต่ต้นเลยว่าทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริงๆ เป็นจำนวนเงินเท่าไร แล้วก็แค่ควบคุมดูแลไม่ให้มีอะไรผิดไปจากแผนที่วางไว้มากนัก ทางที่ดีควรแบ่งเงินก้อนสำหรับการย้ายบ้านเอาไว้ต่างหากด้วย จะได้สามารถจัดการดูแลได้ง่ายขึ้นค่ะ