แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. ที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) อำเภอแม่สะเรียง อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง แพร่ ดอยสุเทพ อำเภอเมือง อำเภอเชียงดาว อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่ อำเภอเมือง เพชรบูรณ์ อำเภอเมือง หนองคาย อำเภอเมือง นครพนม อำเภอเมือง ชัยนาท อำเภอนครหลวงพระนครศรีอยุธยา ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.5 – 75 มคก./ลบ.ม.) ได้แก่ เชียงราย อุทัยธานี สุโขทัย ลำพูน ลำปางพิษณุโลก พะเยา น่าน นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุบลราชธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม บุรีรัมย์ บึงกาฬ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธ์ุ อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท กาญจนบุรี ปราจีนบุรี

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ พบว่า ภาคเหนือมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) เกือบทุกพื้นที่ และสูงสุดของประเทศ กรมอนามัยจึงมอบหมายให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เร่งแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสาร และสร้างความรอบรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ขอให้งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องออกภายนอก ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเลือกหน้ากากที่มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้าและสวมใส่ให้กระชับ หากรู้สึกอึดอัดอาจเข้าไปในอาคารและถอดหน้ากากก่อน หากสีของหน้ากากเปลี่ยนสีไปจากเดิมหรือฉีกขาดให้เปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่ทันที
นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่1 เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานีข่าวโทรทัศน์ NBT เชียงใหม่ มอบมุ้งสู้ฝุ่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน พร้อมแนะนำ การทำห้องปลอดฝุ่น สามารถปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง เพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง ด้วยการใช้เครื่องฟอกอากาศ กำจัดอนุภาคของฝุ่นละอองที่อยู่ภายในห้อง หรือใช้เครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมอากาศสะอาดเข้าไปให้ห้อง ซึ่งควรอุปกรณ์ดังกล่าว ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง หากเป็นบ้านที่มีรูรั่วหรือมีช่องลมจำนวนมาก อาจใช้มุ้งสู้ฝุ่น โดยใช้มุ้งผ้าฝ้าย และใช้เครื่องเติมอากาศ ส่งอากาศสะอาดเข้ามุ้ง ซึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่นได้เช่นเดียวกัน สามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่นได้ที่ หน่วยบริการสาธารณสุข หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน ที่เว็ปไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th
