‘UBE’ จับมือภาครัฐ-เอกชน-เกษตรกรชาวไร่มันอินทรีย์ ก้าวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม“ขุด ขาย ปลูก รับฤดูกาลใหม่” หนุนเกษตรกรต้นแบบเข้าถึงแอปฯ C-STOCK ดันผลผลิตพุ่งและลดต้นทุนสู่ความยั่งยืน

‘บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล’ หรือ UBE ผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจร ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ปักหมุดเปิดโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ (Field day) ประจำปี 2568” มุ่งส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืน ชูต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ หนุนการเข้าถึงแอปฯ C-STOCK ปรับปรุงการเพาะปลูก ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ดันภาคเกษตรกรรมสู่คาร์บอนต่ำ โชว์ความสำเร็จเกษตรกรต้นแบบใช้แอปฯ C-STOCK ดันผลผลิตพุ่งเกือบ 50% ต่อไร่
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ดำเนินโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ (Field day) ประจำปี 2568” ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ตอกย้ำการมุ่งส่งเสริมผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืน ภายใต้ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่ผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ โดยให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้แอปพลิเคชัน C-STOCK เพื่อช่วยให้เกษตรกรปรับปรุงการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนด้วยการใช้เครื่องจักรกล ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก้าวสู่การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ
ล่าสุดบริษัทฯ ได้จัดโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2568” โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ รวมทั้งสาธิตการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรทางการเกษตรที่ทันสมัย ซึ่งภายในโครงการดังกล่าว เกษตรกรจะได้เรียนรู้การใช้งานจริงและบริหารจัดการแปลงปลูกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ประกอบด้วย 1) Test Box ตรวจดิน สำหรับตรวจวิเคราะห์ดินโดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2) ชุดตรวจวิเคราะห์ดินแบบพกพา (Smart NPK) โดยนำเทคโนโลยี Bio Hub และ PGPR 3 มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการธาตุอาหารของมันสำปะหลัง เพื่อการบำรุงที่ตรงจุด และ 3) เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะนำเสนอเครื่องมือเตรียมดิน เครื่องมือปลูก เครื่องมือบำรุงรักษา และอุปกรณ์กำจัดวัชพืชที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก
ขณะที่การใช้แอปพลิเคชัน C-STOCK สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เป็นผู้สนับสนุนงบการพัฒนาแอปฯ ในครั้งนี้ เกษตรกรจะได้เรียนรู้การใช้ฟีเจอร์ต่างๆ บนแอปพลิเคชัน C-STOCK โดยสามารถใช้ตรวจวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเองจากเครื่องมือข้างต้น และนำผลลัพธ์ไปป้อนลงในแอปพลิเคชันจะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชและดินได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมันสำปะหลัง อีกทั้ง C-STOCK ยังช่วยเก็บข้อมูลการผลิตเพื่อคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ สู่การสร้างมูลค่าจากคาร์บอนเครดิตตามแนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งภายในงานยังส่งเสริมปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกสู่ระบบอินทรีย์อย่างเป็นระบบ การให้ความรู้ทำแปลงสาธิต โดยมีเกษตรกรและผู้นำชุมชนจากอ.โพธิ์ไทรและตาลสุม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 150 ราย ณ ลานมันสำปะหลัง หมู่ 9 บ้านโนนศาลา ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี
“UBE ยึดมั่นในแนวการพัฒนาด้านความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลภาย ใต้กรอบ ESG (Environmental Social and Governance) โดยใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งบริษัทฯ ได้ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรกรรม เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตภัณฑ์และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ทั้งยังมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ในระดับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร” นางสาวสุรียส กล่าว
นางหนูนา หลวงไชย์ เกษตรกรต้นแบบ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ (Field day) ประจำปี 2567 กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบซึ่งได้รับการอบรมและการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น Test Box ตรวจดิน และเครื่องวัดธาตุอาหารในดิน ทำให้สามารถวิเคราะห์ดินด้วยตนเอง โดยหาธาตุอาหารที่เหมาะสมกับสภาพดิน และกำหนดปริมาณสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างแม่นยำเหมาะสมกับความต้องการของดินและพืช ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 47.5% ต่อไร่ หรือเพิ่มเป็น 6,839 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 3,251 กิโลกรัมต่อไร่ และต้นทุนการปลูกลดลง เนื่องจากลดการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์เพราะช่วยส่งเสริมการทำเกษตรยุคใหม่ที่เข้าถึงแอปพลิเคชัน C-STOCK และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างแท้จริง
ด้านนางสาวกัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายความยั่งยืนองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กร ซึ่งจากความสำเร็จเกษตรกรต้นแบบ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของเรา โดย UBE ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมและสังคมโดยรวม ซึ่งจะเดินหน้าพัฒนาและขยายผลโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป