
ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความเอาใจใส่ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง การรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย อาจไม่เพียงพอต่อการดูแลพันธุ์ไม้อีกต่อไป เนื่องจากมีโรคร้ายมากวนใจอยู่บ่อยๆ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า อาการใบไม้แต่ละแบบเกิดจากอะไร แอดมินจึงได้รวบรวม 6 ปัญหาใบไม้ ที่นักปลูกมือใหม่ควรรู้ จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
รากเน่า
อาการรากเน่า ส่วนรากกับโคนต้นจะเป็นสีน้ำตาล มักจะมีราสีขาวจับเป็นเส้นใยหยาบๆ คล้ายเส้นด้าย มีเม็ดราสีขาว หรือสีดำขนาดเท่าเมล็ดผักกาดเกาะติดอยู่
การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
ขุดต้นที่เหี่ยวไปเผาทิ้ง พร้อมทั้งขุดดินบริเวณนั้นออกไปด้วย จากนั้นใช้ยากำจัดเชื้อราผสมน้ำรดให้ทั่วดิน เช่น ยาเทอร์ราคลอร์ ซึ่งเป็นสารกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้อย่างเฉียบพลัน
ราน้ำค้าง
ใบเริ่มเป็นจุดสีน้ำตาลไหม้คล้ายโรคใบจุดสีดำ ซึ่งขยายวงกว้างออกไปเล็กน้อย รูปร่างของแผลที่ขยายวงกว้างออกไปส่วนมากเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่เป็นวงกลม ขนาดแผลกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 0.2 เซนติเมตร บนแผลสีน้ำตาลไหม้ จะมีเส้นใยหยาบๆ สีขาวอมเทา ส่วนใบที่มีแผลเยอะจะเหลือง ทำให้ร่วงอย่างรวดเร็ว
การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
ใช้ยาป้องกันกำจัดรา ส่วนมากให้ผลในการป้องกันกำจัดโรดทัดเทียมกัน แต่ต้องผสมยาเคลือบติดใบเวลาที่ฉีดพ่นยาในฤดูฝนด้วย ยาที่ให้ผลดีมีหลายชนิด เช่น ยาไซเนบ, มาเนบ, ไดเทนเอ็ม 45, ไดโฟลาแทน 80, ดาโคนิล และพวกสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์, คอปปริไซด์ โดยฉีดพ่นยาทุก 7 วันต่อครั้ง
ราแป้ง
เป็นผงสีขาว จับอยู่ตามผิวใบทั้งด้านบนใบ และด้านท้องใบ เนื้อเยื่อส่วนที่มีราเกาะอยู่จะพองออกเป็นคลื่น ทำให้ใบอ่อนบิดงอขึ้น หรือลง รานี้ถ้าเกาะตามใบแก่ จะไม่ค่อยมีอันตรายมากนัก เพียงทำให้ใบแก่แห้งกรอบ มีใบเหลืองผิดปกติ นานไปก็จะแห้งร่วงหล่น เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความสำคัญจนถึงกับทำให้ต้นตาย หรือทำให้ดอกเสีย จึงไม่มีการป้องกัน หรือกำจัด แต่ถ้าจะใช้ยาฉีดป้องกันควรเป็นยาคาราเทน (Karathane) หรือยาชนิดอื่น ถ้าให้ได้ผลดีควรใช้ยาเคลือบติดใบผสมฉีดพ่นด้วยสัก 2 – 3 ครั้ง
ราสนิม
อาการของโรค ปรากฏเป็นแผลนูนสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเหลืองอมน้ำตาล แผลเกิดประปรายทั่วใต้ใบ และเกิดเรียงเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ภายในแผลเต็มไปด้วยสปอร์สีเหลืองส้ม สีน้ำตาลรอบๆ แผลเนื้อเยื่อจะมีสีเหลือง ใบที่มีหลายแผล อาจจะมีปลายใบแห้ง ต้นที่เป็นโรคจะแคระแกร็น มีใบที่ม้วนงอ
การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
ควรใช้สารเคมีจำพวกกำมะถันฉีดพ่น แต่ระวังใบไหม้ อาจจะใช้ยาคาราเทน (Karathane) ยาแคปแทน (Captan) เฟอร์แบม (Ferbam) หรือไซเนบ (Zineb) ในอัตราส่วน 2 – 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นทุกๆ 7 – 10 วัน
ใบจุด
อาการเริ่มแรก ใบจะเป็นจุดสีแดง สีน้ำตาล ซึ่งขยายวงกว้างออกไปเป็นจุดใหญ่ เนื้อเยื่อตรงกลางแผล จะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีเนื้อ มีขอบแผลสีน้ำตาลแดง หรือสีม่วงแดงเห็นได้ชัดเจน ในเวลาที่มีอากาศชื้น จะพบผงสีน้ำตาลดำปกคลุมบางๆ บนแผล ส่วนใบที่มีหลายแผลจะค่อยๆ แห้งไป ถ้าแผลเกิดตามกิ่ง กับลำต้น จะทำให้ต้นทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ
การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกชนิดให้ผลดีทัดเทียมกัน แต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องฉีดพ่นยาให้ทั่วใบที่เกิดอยู่แถวระดับดินให้มากที่สุด ยาที่ฉีด เช่น คิวปราวิต แคปแทน ไซเนบ หรือมาเนบ ซึ่งยาพวกนี้มีขายทั่วไป ยาประเภทดูดซึม เช่น ยาเบนเลท ให้ผลดีในฤดูฝนตกชุก เพราะไม่ถูกน้ำฝนล้างเหมือนยาอื่นๆ ถ้าใช้ยาชนิดเคลือบใบ ก็ควรผสมยาเคลือบติดใบในฤดูฝนด้วย
แอนแทรกโนส
อาการของโรคแอนแทรคโนส เริ่มปรากฏอาการเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ แล้วขยายวงกว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ถ้าอากาศชื้นมาก แผลจะขยายกว้างออกไปมาก ทำให้ใบเน่าไปครึ่งค่อนใบในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าอากาศแห้ง ใบก็จะแห้ง และโรคก็จะลดน้อย หรือหยุดชะงักไปได้ระยะหนึ่ง
การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราประมาณ 10 – 15 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันการระบาด ยาที่ให้ผลการป้องกัน และกำจัด ได้แก่ จำพวกสารประกอบทองแดง เช่น คิวปราวิต คอบปริไซด์ คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ อาจจะใช้ยา ไซเนบ มาเนบ หรือยาประเภทดูดซึมบางชนิดก็ได้เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกในร่ม หรือต้นไม้ที่ปลูกกลางแจ้ง ต่างก็ต้องการความดูแลเอาใจใส่ ดังนั้นหากเจอปัญหาใบไม้ผิดปกติ ควรรีบแก้ไขทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานๆ เพราะอาจจะทำให้ต้นไม้เหี่ยว และเฉาตายในที่สุด อย่างไรก็ตามหากใครปลูกต้นไม้ แล้วเจอปัญหาโรคที่เกิดกับใบไม้ ก็สามารถนำวิธีข้างต้นไปลองใช้กันได้นะคะ
ที่มา : baanlaesuan