ซื้อบ้านใหม่ ย้ายเข้าใหม่ หลายท่านเผลอ มัวแต่จัดของ แต่งห้อง จนลืมไปย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ต้องระวังเลยครับ เพราะหากไปแจ้งย้ายออกและย้ายเข้า ล่าช้ากว่า 15 วัน มีโทษปรับ 1,000 บาทเลยทีเดียว (เสียดายเงินมาก ๆ) ส่วนในกรณีที่มีบ้านหลายหลัง หากอยากมอบชื่อให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านก็ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเราครับ ถ้าไม่ได้ต้องการย้ายชื่อตัวเองเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง แต่สำหรับใครที่ต้องการแจ้งย้าย แต่ไม่รู้ว่ามีขั้นตอนการเตรียมเอกสารอย่างไร จดตามเช็กลิสต์ในบทความนี้ได้เลยครับ
ทะเบียนบ้าน เจ้าของบ้าน และเจ้าบ้าน คืออะไร?
“ทะเบียนบ้าน” คือ ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายชื่อของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดให้มีคนอยู่อาศัยได้ 1 คน ต่อพื้นที่ 3 ตารางเมตร
“เจ้าของบ้าน” คือ “เจ้าของกรรมสิทธิ์” ในตัวบ้าน และที่ดิน หรืออาจเฉพาะตัวบ้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีอำนาจที่จะใช้สอย จำหน่าย จ่ายโอน ได้ดอกผล กับทั้งติดตามและเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนรวมถึงขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิจารณาจาก ผู้มีชื่อตามเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย ฯลฯ การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร สัญญาจ้างสร้างบ้าน และอื่น ๆ
“เจ้าบ้าน” ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 คือ “ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม” ซึ่งการเป็นเจ้าบ้านมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือตัวบ้านนั้น ผู้ที่ครอบครองบ้านอาจเป็นผู้เช่า ผู้อาศัย ผู้ดูแลบ้าน ดังนั้น ทะเบียนบ้าน ท.ร. 14 จึงมิใช่เอกสารที่จะอ้างถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใด ๆ ในที่ดิน รวมทั้งตัวบ้านนั้น
ดังนั้น “เจ้าบ้าน” และ “เจ้าของบ้าน” ต่างกันที่อำนาจการครอบครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้
- “เจ้าของบ้าน” เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของบ้าน ซึ่งกฎหมายการทะเบียนราษฎรไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นเจ้าบ้าน และการที่ให้บุคคลอื่นทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านก็มิได้ทำให้สิทธิการครอบครองบ้านเสียไป ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน สามารถให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าบ้านแทนตนเองได้
- “เจ้าบ้าน” จะเป็นผู้ครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือมิใช่เจ้าของเจ้าของบ้านก็ได้ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเท่านั้น และมิได้ทำให้เกิดสิทธิในการครอบครอง “บ้าน” ตามกฎหมายอื่น
“หน้าที่ของเจ้าบ้าน” กฎหมายกำหนดให้บ้านแต่ละหลังจะต้องมีเจ้าบ้านอยู่ตลอดเวลา เจ้าบ้านต้องทำหน้าที่แจ้งต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายทะเบียนราษฎร เช่น แจ้งเกิด, แจ้งตาย, แจ้งย้ายเข้า, แจ้งย้ายออก, แจ้งปลูกบ้านใหม่, แจ้งรื้อบ้าน ฯลฯ
“เจ้าบ้าน” ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ปรากฏชื่อในทะเบียนบ้าน ขึ้นอยู่กับสถานะการครอบครองบ้านในขณะนั้น โดยให้นายทะเบียนบันทึกปากคำเป็นหลักฐานไว้ว่าในขณะนั้น ใครทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน บุคคลนั้นก็จะมีฐานะเป็นเจ้าบ้าน หากปรากฏภายหลังว่าการให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวเป็นเท็จ ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
“สรุปได้ว่า “เจ้าบ้าน” เป็นผู้ที่จะต้องแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางนั่นเอง”
การแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง คืออะไร?
การแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง หมายถึง การแจ้งย้ายออกจากเขต/อําเภอหนึ่ง เข้าไปยังอีกเขต/อําเภอหนึ่ง โดยผู้ย้ายที่อยู่ สามารถไปแจ้งย้ายออกและย้ายเข้าที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของที่อยู่ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องไปแจ้งย้ายออก ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของที่อยู่เก่า ส่วนการย้ายออกและย้ายเข้าภายในเขต/อําเภอเดียวกัน เช่น ย้ายออกจากอำเภอปากเกร็ด เข้าไปยังอำเภอปากเกร็ด ลักษณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง หลักฐานที่ใช้จะแตกต่างกันครับ
ประโยชน์ของการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
- ทะเบียนบ้าน สามารถใช้เป็นหนึ่งในเอกสารหลักฐานยืนยันตัวตนสำหรับขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้
- ทะเบียนบ้าน สามารถใช้เป็นหนึ่งในเอกสารหลักฐานยืนยันตัวตนสำหรับการขอเปลี่ยนชื่อ ซึ่งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนชื่อ สามารถติดต่อที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เลย
- ทะเบียนบ้าน ใช้ในการระบุตัวตนให้ตรงกับบัญชีรายชื่อ เพื่อมอบสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ชื่อในทะเบียนบ้านของเราอยู่ที่ไหน ก็ต้องไปเลือกตั้งที่นั่น ชื่อของเราจึงอยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียงหลังเดียว
- ทะเบียนบ้าน สามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานยืนยันตัวตนสำหรับการดำเนินการต่าง ๆ ได้อีกมากมาย
วิธีแจ้งย้ายทะเบียนบ้านทางออนไลน์
แอปพลิเคชัน ThaID เป็นแอปฯ ที่ใช้ยืนยันตัวตน เข้าเว็บหน่วยงานรัฐผ่านสมาร์ทโฟนของเรา โดยเราสามารถใช้งานในการ
-
- ดูบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านได้ภายในแอป
- ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-นอกเขตราชอาณาจักร
- ใช้ยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ
- ใช้เพื่อลงชื่อเสนอกฎหมายของเว็บสภา
- คัดสำเนาทะเบียนรษฎรย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ได้
ขั้นตอนแรก ลงทะเบียนแอปพลิเคชัน ThaID ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงในโทรศัพท์มือถือ ใช้ได้ทั้ง ระบบไอโอเอส (iOS) และ ระบบแอนดรอยด์ (Android)
- เปิดแอป เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
- ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ
- ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน
- ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน
- ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน
- ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
- ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้ง โดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว
- ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน
*กรณีลืมรหัสผ่าน สามารถรีเซ็ตรหัสผ่านได้ โดยการถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเองเพื่อขอสร้างรหัสผ่านใหม่
วิธีการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางผ่านแอปพลิเคชัน ThaID
- เลือกที่ “การให้บริการระยะที่ 1”
- กดที่ลิงก์
- เลือก “ระบบการแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง”
- กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน แล้วกดส่ง
- เมื่อกดส่ง แอปพลิเคชันจะขึ้นข้อความว่า “เจ้าบ้านได้รับคำขอแล้ว กรุณารอเจ้าบ้านยืนยัน”
- จะมีข้อความส่งไปยังเครื่องของเจ้าบ้าน
- ให้เจ้าบ้านกด “ยืนยัน”
- จากนั้นรอให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนกดยืนยันในระบบอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อเจ้าหน้าที่ยืนยันแล้ว เอกสารทะเบียนบ้านที่ย้ายแล้วก็จะปรากฏในแอปฯ
วิธีแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางด้วยตนเอง
เอกสารที่ใช้
- สำเนาทะเบียนบ้านที่จะย้ายเข้า (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย
- หนังสือยินยอมให้เข้ามาอยู่ในบ้านของเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
ขั้นตอนการติดต่อ
- ยื่นเอกสาร และหลักฐานต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะย้ายเข้า
- นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการใบแจ้งการย้ายที่อยู่ โดยผู้แจ้งย้าย จะต้องลงลายมือชื่อทั้งช่องย้ายออก และย้ายเข้า
- ระบบเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน หลังจากที่นายทะเบียนได้รับใบตอบรับการย้ายออกจากท้องที่ต้นทาง ก็จะสามารถเพิ่มชื่อผู้แจ้งย้ายเข้า ทะเบียนบ้านหลังใหม่ได้เลย
- ชำระค่าธรรมเนียม 20 บาท ต่อการยื่นเรื่อง 1 ครั้ง
วิธีแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านด้วยตนเอง
เอกสารที่ใช้
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมาย)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง
ขั้นตอนการติดต่อ
- ยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ถึงแม้ว่าเจ้าบ้านไม่สามารถไปแจ้ง ย้ายออกให้ได้ผู้ที่ย้ายอยู่สามารถขอทำหน้าที่เจ้าบ้านเพื่อย้ายชื่อตนเองออกได้
- นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการบุคคลที่จะย้ายออกลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และจำหน่าย รายการบุคคลที่ย้ายออกในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยจะประทับคำว่า “ย้าย” สีน้ำเงินไว้หน้ารายการ ฯ และระบุว่าย้ายไปที่ใด
- นายทะเบียนมอบหลักฐานการแจ้งคืนผู้แจ้ง พร้อมทั้งใบแจ้งย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และ 2 เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป
วิธีแจ้งย้ายเข้าในทะเบียนบ้านด้วยตนเอง
เอกสารที่ใช้
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
- ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
ขั้นตอนในการติดต่อ
- ยื่นเอกสาร และหลักฐานต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะย้ายเข้า
- นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการใบแจ้งการย้ายที่อยู่และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยตรวจสอบรายการให้ถูกต้องตรงกัน แล้วมอบสำเนาทะเบียนบ้านและ หลักฐานคืนให้ผู้แจ้ง
กรณีผู้เยาว์ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)
กรณีบิดาเป็นผู้ดำเนินการ เอกสารที่ใช้
- สูติบัตรของบุตร (ฉบับจริง)
- สำเนาสูติบัตรของบุตร
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา (ฉบับจริง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบิดา ที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้
- ทะเบียนการสมรส, ทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า บิดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร (ฉบับจริง)
- สำเนาทะเบียนการสมรส, ทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า บิดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร
- เจ้าบ้านหลังที่จะแจ้งย้ายเข้ามาให้ความยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) และสำเนา 1 ชุด (กรณีเจ้าบ้านไม่ได้มาด้วยต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน ลงชื่อรับรองสำเนา จำนวน 1 ชุด)
- ทะเบียนบ้านเล่มที่จะแจ้งย้ายเข้า (ฉบับสมุดพกสีน้ำเงิน)
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล (ถ้าบิดา มารดา หรือบุตร เคยเปลี่ยน) ฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
กรณีมารดาเป็นผู้ดำเนินการ เอกสารที่ใช้
- สูติบัตรของบุตร (ฉบับจริง)
- สำเนาสูติบัตรของบุตร
- บัตรประจำตัวประชาชนของมารดา (ฉบับจริง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของมารดา ที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้
- ทะเบียนการสมรส, ทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า มารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร (ฉบับจริง)
- สำเนาทะเบียนการสมรส, ทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า มารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร
- เจ้าบ้านหลังที่จะแจ้งย้ายเข้ามาให้ความยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) และสำเนา 1 ชุด (กรณีเจ้าบ้านไม่ได้มาด้วยต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน ลงชื่อรับรองสำเนา จำนวน 1 ชุด)
- ทะเบียนบ้านเล่มที่จะแจ้งย้ายเข้า (ฉบับสมุดพกสีน้ำเงิน)
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล (ถ้าบิดา มารดา หรือบุตร เคยเปลี่ยน) ฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
จะย้ายทะเบียนบ้านปลายทางออนไลน์ หรือจะย้ายทะเบียนบ้านปลายทางด้วยตัวเอง เอกสารที่ต้องเตรียมนั้นไม่ยุ่งยากเลยครับ แนะนำว่าเอกสารที่ต้องถ่ายสำเนาต่าง ๆ ให้เตรียมไปเผื่อเกิน 1 ชุดจะดีที่สุด หรือหากมีหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกจากนี้ จะพกไปด้วยเพื่อความอุ่นใจก็ได้เช่นกันครับ เกินดีกว่าขาดแน่นอน ถ้าไม่อยากเสียค่าปรับ อย่าลืมว่าต้องรีบไปดำเนินการแจ้งภายใน 15 วันด้วยนะครับ