สนามค้าปลีกในไทยช่วงนี้เรียกได้ว่ากำลังร้อนระอุเลยทีเดียวครับ เบอร์ใหญ่ในแวดวงรีเทลและอสังหาริมทรัพย์ ชิงจังหวะเปิดตัวกันในโค้งสุดท้ายปลายปี 2566 ข้ามไปจนถึงปี 2567 กันแล้ว แต่ละเจ้าจะมีใครบ้าง ทำเลตั้งอยู่โซนไหน มีอะไรที่น่าสนใจและต้องติดตามกันต่อ วันนี้ Homeday นำข้อมูลมาฝากทุกท่านกันแล้วครับ
เซ็นทรัลพัฒนา เตรียมโปรเจกต์ใหม่ โซนสยามสแควร์
สำหรับทำเลใจกลางเมืองยอดฮิตของทุกเพศทุกวัยอย่าง “สยาม” ก็มีรายใหญ่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้วทั้งสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามสแควร์วัน ซึ่งก็เป็นจุดหมายปลายทางของสายชอป ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอยู่เป็นทุนเดิม แต่ต่อจากนี้จะมีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของและผู้พัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัล เข้ามาร่วมสร้างสีสันตรงบริเวณ Block A ของสยามสแควร์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 7 ไร่ 31 ตารางวา ในระยะเวลาสัญญาเช่า 30 ปี จากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) แม้โปรเจกต์นี้จะยังไม่ออกสตาร์ท หรือ เผยคอนเซ็ปต์ออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็เชื่อได้ว่า จะเข้ามาช่วยทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกใจกลางเมืองเป็นที่น่าจับตามองมากขึ้นต่อจากนี้ครับ
Central World-Gaysorn Village อัปเกรดใหม่ ให้เฟรชขึ้น
Central World และ Gaysorn Village โซนราชประสงค์ ทั้งคู่ก็ได้ทำการรีเฟรซตัวเองใหม่ เพื่อเติมความทันสมัย และตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของสายชอปที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น
โดย Central World เฉพาะส่วนห้างฯ ขนาดพื้นที่ประมาณ 830,000 ตร.ม. ที่ผ่านมามีการปรับโฉมไปก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่ Isetan ค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นหมดสัญญาเช่าเมื่อเดือนธันวาคม 2563 พร้อมกันนี้ก็ได้เปิดตัวมัลติแบรนด์สโตร์ “CROSSROOM” บริเวณชั้น 2 ให้เป็นแหล่งรวมแบรนด์แฟชันในช่องทาง Instagram กว่า 30 แบรนด์ เพื่อสร้างประสบการณ์ของการชอปปิงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน
Gaysorn Village กลับมาลงทุนครั้งใหญ่ กว่า 1,000 ล้านบาท ด้วยการพลิกโฉมให้เป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสบนคอนเซ็ปต์ “Placemaking Destination”
- Place for Tasteful Moments โซน Indoor กึ่ง Outdoor ด้านหน้าอาคาร จะมาพร้อมดีไซน์Hanging Garden รองรับอีเวนต์และเอนเตอร์เทนเมนต์
- Place Where Artisans and Admirers Meet โซนที่รวบรวมทั้งแบรนด์ไทยและระดับโลก และพื้นที่รวมร้านค้าสินค้าแฟชัน Infinity Escalator รวมถึง โซน Atrium และ Cocoon ไว้สำหรับนำเสนอผลงานของศิลปินและนักออกแบบต่างประเทศ
- Place for Urbanist Wellness โซนด้านความงาม และการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ
- Place to Collaborate & Grow Creatively สำนักงาน และ Co-Working Space รองรับกิจกรรมและอีเวนต์สำหรับสายธุรกิจด้านเทคโนโลยี
The Em District ที่สุดของ Mega Project จาก The Mall Group
The Mall Group ใช้ทั้งเวลา และเงินทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท ในการเนรมิต The Em District ที่ได้ชื่อว่าเป็น Mega Project ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยลงทุนมา ด้วยพื้นที่โครงการกว่า 50 ไร่ บนทำเลพร้อมพงษ์ ได้รับการออกแบบให้เป็นจุดศูนย์รวมของศูนย์การค้าชั้นนำระดับ Hi-End 3 แห่ง ได้แก่ ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium), ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) และ ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) เพื่อยกระดับให้เป็น World Class Shopping Destination โดยจะมีสกายวอร์คเดินเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์เข้าสู่พื้นที่ชอปปิง
- ศูนย์การค้า The Emporium เปิดให้บริการในปี 2547 พื้นที่ 200,000 ตร.ม.
- The EmQuartier ให้บริการในปี 2558 พื้นที่ 250,000 ตร.ม.
- The Emsphere เปิดตัวธันวาคม 2567 พื้นที่ 200,000 ตร.ม. เฉพาะโครงการนี้ มูลค่าโครงการราว 20,000 ล้านบาท รวม 300 ร้านค้า และสินค้ากว่า 1,000 แบรนด์
นอกจากรองรับการชอปปิง The Emsphere ยังมีพื้นที่กว่า 6,000 ที่นั่ง สำหรับกิจกรรมคอนเสิร์ต บวกกับการดึง IKEA เข้ามาเป็นอีกหนึ่งในแม่เหล็กดึงกำลังซื้อที่รักการตกแต่งบ้านอีก 15,000 ตร.ม. นอกจากนี้ยังมีร้านสตรีทฟู้ดชื่อดัง ร้านระดับมิชลินสตาร์ และ MEGA Club ขนาดพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ที่จะกลายเป็นแหล่ง Hang out ของคนเมืองในย่านนี้ รวมถึงรถยนต์แบรนด์หรูที่จะมาเปิดโชว์รูมทั้ง Rolls – Royce, BMW, Landrover, Porsche, Volvo, Hyundai และ AION แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน เป็นต้น
โซนสีลม-พระราม 4 อนาคต Mixed-Use จัดเต็ม 2 แห่ง
ที่มาภาพ: dusitresidences
ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่รีเทลเปิดใหม่อีกเกือบ 3 ล้านตร.ม. ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ซีพีเอ็นที่จับมือกับกลุ่มดุสิตธานี เดินหน้า Dusit Central Park Silom โครงการ Mixed-Use มูลค่าการลงทุน 46,000 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าบนพื้นที่ 130,000 ตร.ม. เตรียมเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2568 พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อในประเทศ กว่า 25 ล้านคนต่อปี
ถัดมาบนทำเลพระราม 4 เป็นโครงการ One Bangkok ตรงข้ามสวนลุมพินี โครงการร่วมกันระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาในคอนเซ็ปต์ Mixed-Use มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยพื้นที่รีเทล อยู่ที่ประมาณ 190,000 ตร.ม. คาดว่าจะเปิดตัวใน ปี 2569 ครับ
Retail โซนชานเมือง แน่น เปิดตัวต่อเนื่อง
พื้นที่รีเทลใหม่ ในปี 2566-2568 ไม่ได้แข่งขันสูงแค่เฉพาะในทำเลใจกลางเมืองเท่านั้น แต่โซนรัศมีรอบนอกเมืองออกไปก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ทำเลที่ต้องจับตามองก็ ได้แก่ บางแค บางกะปิ และ ช่วงต้นของถนนบางนาตราดครับ
The Mall Group เริ่มต้นกันด้วยการปรับโฉมของ “เดอะมอลล์ บางกะปิ” ขนาดพื้นที่ 350,000 ตร.ม. และ “เดอะมอลล์ บางแค” พื้นที่ประมาณ 350,000 ตร.ม. ที่ทำการอัปเกรดใหม่ไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีโปรเจ็กต์ในแผนอย่าง Bangkok Mall ทำเลช่วงต้นของบางนาตราด ที่เตรียมพัฒนาอีก 1,200,000 ตร.ม. ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นห้างฯ ใหญ่ ที่หลาย ๆ คนกำลังเฝ้าจับตารอคอยวันเปิดตัวกันอยู่เลยล่ะครับ
ส่วน Central ก็มีทั้ง “เซ็นทรัล รามอินทรา” ที่ปรับโฉมไปแล้ว พร้อมกับรีแบรนด์จาก “เซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา” เป็น “เซ็นทรัล รามอินทรา” โดยวางคอนเซ็ปต์ Convenient, Connected และ Comfortable for everyday life ให้เป็นคอมมูนิตีของคนในย่านรามอินทรา
ล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ นี้ ก็มี “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ราชพฤกษ์” ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาด ๆ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้วยรูปแบบห้างฯ Semi-Outdoor มูลค่าการลงทุนกว่า 6,200 ล้านบาท โดยคาดหวังถึงการดึงกำลังซื้อของคนที่พักอาศัยในโซนกรุงเทพฯ ตะวันตก
และยังมี Siam Piwat ที่เตรียมลุยกับ ICONSIAM เฟส 2 วางคอนเซ็ปต์ให้เป็น Mixed-Use Lifestyle Town แห่งใหม่ บนทำเลพื้นที่ 5 ไร่ ตรงข้ามกับ ICONSIAM ทำเลคลองสานครับ
สำหรับยุคนี้ ทำเลใจกลางเมือง คอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอครับ เมื่อคนเดินห้างฯ เปลี่ยนไป การออกแบบเซอร์วิสที่มีให้จึงต้องเจาะลึกถึงความต้องการของแต่ละกลุ่มให้ได้ การสร้างประสบการณ์ที่สัมผัสได้ และเกิดความประทับใจ มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับยุคที่ต้องต่อสู้กับร้านค้าออนไลน์ ก็ต้องจับตาดูการแข่งขันครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมของธุรกิจรีเทลในไทยนี้กันต่อไปครับ ว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินจากนักชอปไทยและชาวต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่รอวันฟื้นตัวเช่นนี้ครับ