บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก ได้รับการประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพต่อเนื่อง จาก Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตและมีธุรกิจอันหลากหลายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศนี้เป็นอันดับเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ได้รับจาก JCR พร้อมกันนี้ JCR ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินในประเทศของบริษัทไว้ที่ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพเช่นเดียวกัน

โดย JCR ได้ระบุว่าสาเหตุที่ไทยยูเนี่ยนได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทลงทุนในเรื่องของนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีศักยภาพ รวมถึงความมั่นคงในการสร้างผลกำไรอันเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ทั้งด้านการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ และการทำตลาดด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานของไทยยูเนี่ยนในปี 2567 ฟื้นตัวตามที่ JCR คาดการณ์ไว้ โดยที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการประกาศเปิดตัวกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายทำยอดขายสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.45 แสนล้านบาท (US$7billion) ภายในปี 2573 และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 100% จากประมาณ 14,000 ล้านบาท (US$400 million) เป็น 24,500 – 28,000 ล้านบาท (US$700-US$800 million) เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การที่ JCR ให้การคงอันดับเครดิตของเราที่ A และมีแนวโน้มมีเสถียรภาพอีกครั้ง นับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ที่ท้าทายและการเดินหน้ากลยุทธ์ใหม่โดยมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ด้วยการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ และรักษาความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยยูเนี่ยนและรักษาความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจให้ไทยยูเนี่ยนขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล”
นอกจากนี้ JCR ยังให้ความเห็นว่าจุดแข็งของไทยยูเนี่ยนคือการมีแบรนด์ที่กระจายอยู่ในตลาดหลักทั่วโลก เช่น Chicken of the Sea ในสหรัฐอเมริกา, John West และ Petit Navire ในยุโรป ตลอดจน มีการดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยมีฐานการผลิตอยู่ใน 13 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เซเชลส์ โปแลนด์ และเวียดนาม ซึ่ง JCR ยังระบุเพิ่มเติมว่าการที่ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้รับผลิตสินค้าให้แบรนด์ในบริษัทอาหารรายใหญ่ที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายไทยยูเนี่ยน นับเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่มั่นคง
ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยยูเนี่ยนได้จัดหาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยยูเนี่ยน โดยมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568 ซึ่งสินเชื่อ SLL นี้ จะมีทั้งในสกุลเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐ สำหรับระยะเวลา 3 และ 5 ปี ซึ่งความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนและเข้าถึงการเงินที่ยั่งยืนครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญ ในการตอกย้ำถึงความทุ่มเทของไทยยูเนี่ยนในด้านความยั่งยืนของท้องทะเล