–
ปัญหาเพื่อนบ้านจอดรถหน้าบ้านของตัวเอง จนขวางทางการเข้า-ออกภายในซอย เป็นปัญหาที่ไม่ว่าจะอยู่ในหมู่บ้านเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะสามารถพบเจอกันได้ทั้งนั้นค่ะ หรือแม้กระทั่งกับตัวเราเอง ที่ซื้อรถมาแล้ว แต่ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะจอดในรั้วบ้าน การนำรถออกมาจอดหน้าบ้านของตัวเองนั้น ผิดกฎหมายหรือไม่ วันนี้ Homeday มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้มาฝากทุกคนกันค่ะ
กฎหมายเกี่ยวกับการจอดหรือหยุดรถ
ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดหรือหยุดรถ ที่เป็นการกีดขวางเส้นทางสัญจร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท โดยมีลักษณะของการกีดขวางเส้นทางสัญจรดังต่อไปนี้
-
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ในช่องเดินรถ (เว้นแต่ว่าจะจอดรถชิดทางซ้ายสุดของเลน และไม่มีช่องเดินรถประจำทาง)
- หยุดรถ หรือ จอดรถ บนทางเท้า หรือ ฟุตบาทคนเดินถนน
- หยุดรถ หรือ จอดรถ บนสะพาน หรือ ในอุโมงค์
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ในทางร่วมทางแยก
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ในเขตที่มีป้ายห้ามหยุดรถ
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ตรงปากทางเข้าออกของอาคาร หรือ ทางเดินรถ
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ในเขตปลอดภัย
- หยุดรถ หรือ จอดรถ ในลักษณะที่กีดขวางทางจราจร
จะเห็นได้ว่าจากข้อที่ 6 หยุดรถ หรือ จอดรถ ตรงปากทางเข้าออกของอาคาร หรือ ทางเดินรถ และข้อที่ 8 หยุดรถ หรือ จอดรถ ในลักษณะที่กีดขวางทางจราจร เป็นลักษณะที่ตรงกับการจอดรถหน้าบ้านนั่นเองค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นถนนในหมู่บ้าน หรือบริเวณหน้าบ้านของตัวเอง ก็ถือว่าตรงกับคุณลักษณะที่กล่าวไปข้างต้นทั้งสิ้น
ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถในทางสาธารณะหรือพื้นที่เอกชน
หากกล่าวอ้างว่าการจอดในถนนที่เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านนั้นไม่ผิด กระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อกฎหมาย กล่าวเอาไว้ว่า การจอดรถที่ถูกต้องและเหมาะสมต้องจอดในพื้นที่ของตนเองที่มีรั้วรอบขอบชิดเท่านั้น เนื่องจากผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถในทางสาธารณะหรือพื้นที่เอกชน เช่น ถนนภายในหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น มิเช่นนั้นจะถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 ประกอบมาตรา 148 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ ซึ่งการจอดรถบนทางสาธารณะแม้จะเป็นหน้าบ้านของตนเอง แต่ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เนื่องจากไม่สามารถสัญจร หรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวก
บทลงโทษทางกฎหมาย
- พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 : หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- กฎหมายอาญา : ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยการกระทำใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- กฎหมายแพ่ง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
แม้ว่าการจอดรถหน้าบ้านของตัวเองนั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่หากเพื่อนบ้านของเราไม่ได้ดำเนินการแจ้งความ หรือตัวเราเองไม่ได้ต้องการที่จะถึงขั้นต้องแจ้งความ ก็เป็นเรื่องที่สามารถมาพูดคุยกันด้วยดีในเบื้องต้นก่อนได้ค่ะ ในบางกรณีที่ไม่สามารถจอดรถภายในรั้วบ้านของตัวเองได้จริง ๆ อาจมีเบอร์ติดต่อกันเอาไว้ เผื่อในยามที่ไม่สะดวกในการถอยรถเข้า หรือนำรถออก ก็สามารถโทรติดต่อให้เลื่อนรถรอเอาไว้ได้ เป็นต้น แต่หากปัญหาไม่มีทางออกในการอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ ก็อาจต้องนำไปสู่การตัดสินใจในทางกฎหมายต่อไปค่ะ