–
![](https://pjyjntwzszymfzyqkfvu.supabase.co/storage/v1/object/public/content/2021/8/c672e975-a534-4ad3-bf5d-f8e56e10591e.png)
ถังดักไขมัน คือ อุปกรณ์ที่ช่วยในการดักจับไขมัน จากท่อน้ำทิ้งภายในบ้านทั้งหมด เพื่อแยกส่วนไขมันออกจากน้ำ ก่อนทำการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ วันนี้แอดมิน อยากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับถังดักไขมัน รวมถึงการขั้นตอนการติดตั้ง และการบำรุงรักษา ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ
ถังดักไขมัน มีกี่ประเภท
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ แบบตั้งพื้น(บนดิน) และแบบฝั่งดิน โดยการเลือกใช้ถังดักไขมันนั้น ควรทำการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ในการใช้งาน เช่น
แบบตั้งพื้น (บนดิน) เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด เช่น ห้องพัก คอนโด หรือทาวน์โฮม เนื่องจากสามารถติดตั้งได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อย
แบบฝังดิน เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีพื้นที่กว้าง และเพียงพอในการฝัง ถังดักไขมันไว้ใต้ดิน บริเวณนอกตัวบ้าน เช่น บ้านเดี่ยว 1 ชั้น หรือ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น
การเลือกขนาดถังดักไขมัน
ในปัจจุบันถังดักไขมัน ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น และสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับการใช้งานภายในบ้าน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันน้ำเสีย และปัญหาท่อน้ำอุดตัน จนทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ดังนั้นการเลือกขนาดถังดักไขมันให้เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งานนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากมีผลต่อการดูแล บำรุงรักษา หากเลือกใช้ขนาดไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้
ขนาดของถังดักไขมัน
มีให้เลือกใช้งานหลากหลายขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ 15 – 140 ลิตร โดยมีเกณฑ์พิจารณาในการเลือกขนาดดังนี้
1. สมาชิกภายในบ้าน 1 – 5 คน ควรเลือกใช้ขนาด 15 ลิตร
2. สมาชิกภายในบ้าน 6 – 10 คน ควรเลือกใช้ขนาด 30 ลิตร
ส่วนประกอบถังดักไขมัน
ถังดักไขมัน ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. ตะแกรงดักเศษอาหาร
ถือเป็นตัวกรองอันดับต้นๆ ที่ทำหน้าที่ ในการดักจับเศษอาหารจากท่อน้ำ โดยมีลักษณะเป็นตะแกรงที่มีรูขนาดเล็กเรียงตัวไปทั่วทั้งแผ่น เพื่อแยกเศษอาหาร หรือสิ่งต่างๆ ไว้ และระบายน้ำลงสู่ถังดักจับไขมัน
2. ช่องแยกไขมัน
ในส่วนนี้ เมื่อน้ำจากท่อน้ำทิ้งส่วนต่างๆ ภายในบ้านมารวมกันที่ถังดักไขมัน น้ำ กับไขมัน จะทำการแยกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน โดยน้ำจะแยกตัวอยู่ด้านล่าง ในขณะที่ชั้นไขมันจะลอยตัวอยู่เหนือน้ำ เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบากว่า
3. ท่อระบายไขมัน
เป็นท่อที่ใช้ในการระบายไขมันที่ลอยตัวแยกออกมาจากน้ำ โดยจะถูกติดตั้งไว้ให้มีตำแหน่งสูงกว่าระดับท่อน้ำทิ้ง เพื่อให้ไขมันลอยตัวออกมาตามท่อระบายไขมันได้สะดวก
4. ท่อระบายน้ำทิ้ง
เป็นท่อน้ำทิ้งที่ใช้ระบายน้ำ ที่ผ่านการแยกไขมันออกจากน้ำเรียบร้อยแล้ว ลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้งสาธารณะ นอกตัวบ้าน
เหตุใดแต่ละบ้านควรมีถังดักไขมันไว้ใช้
จากที่ทราบกันแล้วว่า “ถังดักไขมัน” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดักจับไขมัน ไม่ให้ปะปนไปกับน้ำ ที่ผ่านการใช้งานต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้งที่ใช้จากการอาบน้ำ หรือน้ำทิ้งที่ใช้แล้วจากอ่างล้างจานในห้องครัว ก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ อีกเหตุผลที่ควรมีถังดักไขมันภายในบ้าน ก็เพราะว่ามีประโยชน์ช่วยดักจับไขมันไม่ให้อุดตัดท่อน้ำทิ้งแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการป้องกันในเรื่องแหล่งสะสมโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากไขมันอุดตันในท่อน้ำทิ้ง และส่งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากน้ำที่เน่าเสียจากเศษอาหาร รวมถึงไขมันจากการทำอาหารที่ตกค้างภายในท่ออีกด้วย
ขั้นตอนการติดตั้งถังดักไขมัน แบบตั้งพื้น และ แบบฝังดิน
ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ จึงทำให้ประเภทแบบตั้งพื้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สำหรับใช้ติดตั้งในคอนโดมิเนียม บ้านทาวน์โฮม หรือห้องพักอาศัยต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากสามารถติดตั้งได้ง่าย แต่ประสิทธิภาพการดักจับไขมันดีเยี่ยม รวมถึงการดูแล บำรุงรักษาก็สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากค่ะ
ขั้นตอนในการติดตั้งแบบตั้งพื้น
1. เลือกขนาดตามการใช้งาน โดยใช้เกณฑ์การเลือกขนาดจากจำนวนสมาชิกภายในครอบครัว
2. เลือกตำแหน่งในการติดตั้ง ซึ่งจะทำการติดตั้ง ถังดักจับไขมันไว้ในช่องเก็บของใต้อ่างล้างจาน เพื่อความสวยงาม และเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับห้องที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก
3. จากนั้นทำการเชื่อมต่อท่อน้ำทิ้งจากอ่างล้างจานกับถัง
4. ทำการเชื่อมต่อท่อระบายน้ำทิ้งจากตัวถังเข้ากับท่อระบายน้ำทิ้งของห้องพัก
วิธีการบำรุงรักษา
1. ตรวจสอบปริมาณไขมันที่ถูกดักจับไว้ในถังดักจับไขมันเป็นระยะ
2. กำจัดไขมันทิ้ง โดยการตักออก เมื่อมีการสะสมของปริมาณไขมัน และน้ำมันมากขึ้น
ขั้นตอนการติดตั้งถังดักไขมันแบบฝังดิน
ในขั้นตอนการติดตั้งถังดักไขมันแบบฝังดิน จะมีความยุ่งยากมากกว่า แบบตั้งพื้นเล็กน้อย เนื่องจากขุดฝังไว้ใต้ดินบริเวณด้วนนอกตัวบ้าน นอกจากนั้นตามภัตตาคาร หรือห้องอาหารยังนิยมติดตั้งประเภทนี้อีกด้วย เนื่องจากมีน้ำมันปะปนมากับน้ำทิ้ง จากการทำอาหารเป็นจำนวนมาก
การติดตั้งถังดักไขมันแบบฝังดิน จะมี 2 รูปแบบ คือ
1. แบบสร้างเอง
โดยขนาดขั้นอยู่กับความต้องการใช้งาน สามารถทำขึ้นโดยถังซีเมนต์ขัดหิน หรือวงบ่อซีเมนต์ ซึ่งราคาจะประหยัดกว่าแบบสำเร็จรูป อีกทั้งยังสามารถปรับให้เหมาะสมกับขนาด และพื้นที่ที่ต้องการได้
ขั้นตอนการติดตั้ง มีดังนี้
- เลือกขนาดที่วงบ่อที่ต้องการ
- ทำการขุดหลุม โดยมีความกว้าง และความลึกมากกว่าขนาดวงบ่อถังดักไขมันเล็กน้อย
- ทำการเชื่อมต่อท่อน้ำทิ้งเข้ากับวงบ่อ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ภายใน (ตะแกรงดักไขมัน, ช่องแยกไขมัน)
- ทำการเชื่อมต่อท่อระบายน้ำทิ้ง ที่ผ่านการแยกไขมันออกเรียบร้อยแล้ว เข้ากับท่อระบายน้ำทิ้งสาธารณะ
2. แบบสำเร็จรูป
แบบสำเร็จรูปสะดวกในการติดตั้งมากกว่าแบบสร้างเอง เนื่องจากตัวถังมีอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมใช้งานเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ทำการติดตั้งเข้ากับท่อน้ำทิ้งจากตัวบ้านก็สามารถใช้งานได้ทันที
ขั้นตอนการติดตั้ง มีดังนี้
- เลือกซื้อถังดักไขมันสำเร็จรูปตามขนาดที่ต้องการ
- การขุดหลุม โดยมีความกว้าง และความลึกมากกว่าขนาดวงบ่อเล็กน้อย
- ติดตั้งสำเร็จรูปเข้ากับท่อน้ำทิ้งขาเข้า (ท่อน้ำทิ้งจากภายในบ้าน)
- เชื่อมต่อท่อระบายน้ำที่ผ่านการดักจับไขมันเข้ากับท่อระบายน้ำสาธารณะ
วิธีการบำรุงรักษา
1. ตรวจสอบความพร้อมการใช้งานเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นฝาถัง หรือตัวถังกำจัดไขมันทิ้ง โดยการตักออก เมื่อมีการสะสมของปริมาณไขมัน และน้ำมันมากขึ้น เช่นเดียวกับการดูแลแบบตั้งพื้น เนื่องจากถังดักไขมันตามบ้านเรือนมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
2. การกำจัดไขมัน นอกจากจะทำการตักทิ้งแล้ว ยังสามารถนำไขมันที่ได้จากมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้งานได้อีกด้วย โดยนำปุ๋ยหมักที่ได้รดรอบโคนต้นไม้ หรือผสมกับดินก่อนทำการปลูกพืชต่างๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการมีถังดักไขมัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีไว้ในบ้าน เพราะนอกจากจะช่วยขจัดปัญหาในเรื่องของน้ำเสีย และไขมันอุดตันท่อน้ำทิ้งแล้ว ยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย แอดมินหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกคนนะคะ