–
ด้วยจำนวนข้อตกลงและการลงนามเพื่อพัฒนาและบริหารห้องพักรวมทั้งปีที่สูงเป็นประวัติการณ์ ปี
2567
บริษัทมีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นในแผนพัฒนามากกว่า 21,000
ห้องในภูมิภาค
APEC
ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วย
2
กลยุทธ์หลัก คือ การปรับเปลี่ยนสู่แบรนด์ในเครือ และ การทำข้อตกลงแบบหลายยูนิต
การเปิดตัวโรงแรมครั้งสำคัญของแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนลในปี
2567
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน)
ตามเข็มนาฬิกาจากมุมซ้ายบน: Adelaide Marriott Hotel
โรงแรมแห่งที่ 600 ใน
APEC; Katra Marriott Resort & Spa โรงแรมแห่งที่
150
ในอินเดีย
;
Penang Marriott Complex
โรงแรมแห่งที่
50
ในมาเลเซีย
;
Four Points Flex by Sheraton
Osaka Umeda โรงแรมแห่งที่
100
ในญี่ปุ่น
ดาวน์โหลดภาพความละเอียดสูงและคลิปวิดีโอ
ที่นี่
สิงคโปร์, 7 กุมภาพันธ์ 2568
– แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (Nasdaq: MAR) ประกาศความสำเร็จในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) หรือ APEC โดยลงนามข้อตกลงใหม่จำนวน 109 ฉบับใน 11 ตลาด นับเป็นห้องพักรวม 21,439 ห้องที่เพิ่มเข้าไปในโครงการพัฒนา และส่งท้ายปี 2567 ด้วยจำนวนห้องพักรวม 77,532 ห้องในแผนพัฒนาของภูมิภาคที่นับถึงสิ้นปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงขยายพอร์ตโฟลิโอไปในหลากหลายส่วนแบ่งตลาด ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวในตลาดระดับกลาง (midscale) และการขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มลักชัวรี (luxury) ตอกย้ำความเป็นผู้นำของแมริออทในภาคธุรกิจบริการที่กำลังเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้
“ปี 2567 เป็นปีแห่งความสำเร็จที่ทำลายสถิติสำหรับแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ในภูมิภาค APEC ด้วยการเติบโตอย่างโดดเด่นที่ได้รับแรงหนุนจากจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนา การขยายตลาด และการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในจุดหมายปลายทางยอดนิยม”
ราจีฟ เมนอน ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล
กล่าว “ในขณะที่เรายังคงตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของนักเดินทางยุคใหม่ ภูมิภาค APEC ยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญในกลยุทธ์การเติบโตของเรา และเสริมสร้างตำแหน่งของเราในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมการบริการระดับโลก”
การเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายส่วนแบ่งตลาด
ในปี 2567 แมริออทได้ลงนามข้อตกลงใหม่ 109 ฉบับ คิดเป็นจำนวนห้องพัก 21,439 ห้องในภูมิภาค APEC ทำให้แผนพัฒนาในภูมิภาคนี้มีทั้งหมด 363 โครงการ รวม 77,532 ห้อง เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดย อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่เติบโตสูงสุด คิดเป็น 72% ของข้อตกลงทั้งหมดในภูมิภาค
การขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มลักชัวรียังคงเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยคิดเป็น 19% ของข้อตกลงที่ลงนามทั้งหมด มีการลงนามข้อตกลงกว่า 20 ฉบับ รวมกว่า 4,600 ห้อง ภายใต้ 6 แบรนด์ในกลุ่ม แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ลักชัวรี กรุ๊ป (Marriott International Luxury Group) เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากนักเดินทางที่มีฐานะดีซึ่งแสวงหาประสบการณ์การเข้าพักที่หรูหราในจุดหมายปลายทางที่มีชื่อเสียงและกำลังเติบโต ซึ่งรวมถึง: การเปิดตัวโรงแรมแบรนด์ EDITION ในจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และมุมไบ ประเทศอินเดีย; The Ritz-Carlton ในชัยปุระและอุไดปูร์ ประเทศอินเดีย; W Hotels แห่งที่สองในสิงคโปร์ และอื่น ๆ
การทำข้อตกลงแบบหลายยูนิต และโอกาสในการเปลี่ยนแบรนด์มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของแผนการพัฒนาในภูมิภาค โดยการปรับเปลี่ยนสู่แบรนด์ในเครือคิดเป็น 36% ของข้อตกลงในปี 2567 นอกจากนี้ เพื่อเปิดตัวในกลุ่มโรงแรมระดับกลางที่มีระดับราคาเข้าถึงได้ง่าย แมริออทได้เปิดตัวแบรนด์ Four Points Flex by Sheraton ในญี่ปุ่น พร้อมลงนามข้อตกลงเชิงกลยุทธ์กับ KKR เพื่อเปลี่ยนแบรนด์โรงแรม 14 แห่งใน 10 เมืองทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้ฉลองการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในภูมิภาค ด้วยการเปิด Four Points Flex by Sheraton Osaka Umeda ซึ่งนับเป็นโรงแรมแห่งที่ 100 ของแมริออทในญี่ปุ่นอีกด้วย
“ขณะที่แมริออทยังคงขยายขอบข่ายการดำเนินงานในภูมิภาค APEC เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์ชั้นนำและประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น”
ชอว์น ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล
กล่าว “ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้ดียิ่งขึ้นและการขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ เราไม่เพียงแต่ตั้งเป้าที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นให้กับเจ้าของธุรกิจ ผู้ถือแฟรนไชส์ และผู้พัฒนาโครงการเท่านั้น แต่ยังปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของนักเดินทางยุคใหม่ในจุดประสงค์การเข้าพักและประสบการณ์ทุกรูปแบบ”
การขยายตลาดและการเปิดตัวแบรนด์ใหม่
ในปี 2567 แมริออทได้ขยายไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ และฉลองการเปิดตัวแบรนด์ใหม่เพื่อตอบสนองกับฐานนักเดินทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค โดยบริษัทได้เปิดตัวในปาปัวนิวกินีเป็นครั้งแรก ด้วยการเปิด Marriott Executive Apartments Port Moresby ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทมีขอบข่ายการดำเนินงานใน 22 ประเทศและอาณาเขตต่าง ๆ ในภูมิภาค APEC
หลังจากประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย แบรนด์โรงแรมแนวไลฟ์สไตล์อย่าง Moxy Hotels ก็ได้เปิดตัวในเมืองสำคัญต่างๆ รวมถึง Moxy Bengaluru Prestige Cloud ในอินเดีย Moxy Putrajaya ในมาเลเซีย และ Moxy Bangkok Ratchaprasong ในประเทศไทย ซึ่งมุ่งตอบโจทย์นักเดินทางรุ่นใหม่ที่แสวงหาประสบการณ์การเข้าพักในบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและการออกแบบที่ทันสมัย
การเปิดตัวโรงแรมครั้งสำคัญ
ต่อยอดจากปีแห่งความสำเร็จที่สร้างสถิติใหม่ในการพัฒนาและการเติบโตของโครงการในแผนงาน บริษัทได้เฉลิมฉลองการเปิดตัวโรงแรมครั้งสำคัญในภูมิภาค APEC ซึ่งรวมถึง:
โรงแรมแห่งที่ 600 ใน APEC: Adelaide Marriott Hotel ในออสเตรเลีย
โรงแรมแห่งที่ 150 ในอินเดีย: Katra Marriott Resort & Spa
โรงแรมแห่งที่ 50 ในมาเลเซีย: Penang Marriott Complex
โรงแรมแห่งที่ 100 ในญี่ปุ่น: Four Points Flex by Sheraton Osaka Umeda
ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ในภูมิภาค APEC ส่งท้ายปี 2567 ด้วยโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 635 แห่ง ครอบคลุม 25 แบรนด์ ใน 22 ประเทศและอาณาเขตต่าง ๆ ตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจการบริการของภูมิภาคนี้ ในขณะที่แมริออทยังคงขยายขอบข่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ความหลากหลายและความแข็งแกร่งของพอร์ตโฟลิโอจะยังคงเป็นจุดแข็งในการสร้างคุณค่าให้กับผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาและข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแมริออท กรุณาเข้าไปที่เว็บไซต์
https://www.hotel-development.marriott.com
หมายเหตุเกี่ยวกับข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า
ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ประกอบด้วย “ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า” ตามความหมายของกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงข้อความที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ของเราเกี่ยวกับแบรนด์ใหม่ ข้อเสนอ และตลาดใหม่ การลงนามข้อตกลง การเปิดโครงการในอนาคตที่คาดการณ์ไว้ และการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอ แผนการพัฒนาโครงการ การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในตลาดและภาคส่วนต่าง ๆ และข้อความที่คล้ายกันเกี่ยวกับเหตุการณ์และความคาดหวังในอนาคตที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราขอแจ้งให้ทราบว่าข้อความเหล่านี้ไม่ได้รับประกันผลการดำเนินงานในอนาคต และขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เปลี่ยนแปลงหลายประการ ซึ่งเราอาจไม่สามารถคาดการณ์หรือประเมินได้อย่างแม่นยำ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เราอธิบายไว้ในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึง รายงานประจำปีฉบับล่าสุดในแบบฟอร์ม 10-K หรือรายงานรายไตรมาสในแบบฟอร์ม 10-Q ปัจจัยใด ๆ เหล่านี้อาจทำให้ผลลัพธ์ที่แท้จริงแตกต่างอย่างมากจากความคาดหวังที่เราระบุหรือบอกเป็นนัยในข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย หรือพันธสัญญาที่อธิบายไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้เป็นเพียงความมุ่งมาดปรารถนาและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และไม่รับประกันหรือสัญญาว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมาย เป้าหมาย หรือพันธสัญญาทั้งหมด เราจัดทำข้อความเหล่านี้ ณ วันที่เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ และเราไม่มีข้อผูกมัดในการปรับปรุงหรือแก้ไขข้อความเหล่านี้ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากข้อมูลใหม่ เหตุการณ์ในอนาคต หรือกรณีอื่นใด