
การนอนหลับให้เพียงพอ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในขณะที่เราหลับ โดยระยะเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมนั้น แตกต่างกันตามอายุ และสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งการอดนอน นอกจากส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงแล้ว ยังมีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายอีกด้วย วันนี้แอดมินจึงอยากมาบอกถึงข้อเสียที่ต้องพึงระวัง! จากการอดหลับอดนอน ว่าจะมีโทษอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

ร่างกายอ่อนเพลีย
มีผู้กล่าวว่า ถ้าร่างกายมีพลังงานอยู่เท่ากับ 100% จะหมุนเวียนพลังงานใช้จริงอยู่เพียง 70% ที่เหลืออีก 30% จะเป็นพลังงานสำรองของชีวิต เอาไว้ใช้ในยามป่วยไข้ไม่สบาย หรือใช้ในภาวะฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงภาวะอดนอนนี้ด้วย จึงพบว่าถ้าอดนอนสั้นๆ จะไม่เป็นอะไรมาก แต่ถ้านานไปพลังงานที่เหลือ 30% นี้ก็จะค่อยๆ หมดลง และจะมีอาการไม่สบายเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

กินจุกจิก
เนื่องจากเกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องกินจุกจิกมากยิ่งขึ้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 (Diabetes type 2) การที่เราตื่นอยู่นานแบบอดนอน ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จึงรู้สึกอยากกินอาหารมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน

ร่างกายไม่เจริญเติบโต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่กำลังโต เนื่องจากฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตถูกสร้างน้อยลง รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย หรืออาจรุนแรง เป็นอันตรายถึงชีวิตจากการอดนอนได้

ส่งผลต่อการทำงานของสมอง
ทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง การอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดไป อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการงีบหลับสั้นๆ ที่เราเรียกกันว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน” ซึ่งสมองจะหยุดทำงานช่วงสั้นๆ แบบชั่วคราว อาจเป็นวินาที ครึ่งนาที ทำให้ไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถ หรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็ว และความแม่นยำ
แนวทางการรักษาเรื่องอดนอนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนอนหลับให้พอเพียง เมื่ออดนอนมาแล้ว ก็ควรหาเวลานอนชดใช้ให้มากพอ ภาวะอดนอนก็จะดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องไปหาการรักษาที่ยุ่งยากอื่นๆ แต่ทางที่ดีควรลองปรับเวลาการใช้ชีวิตสักนิด เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี และแอดมินเชื่อว่าทุกคนต้องทำได้แน่นอนค่ะ
ที่มา : bangkokinternationalhospital