–
การไดเอทแบบสุดขั้ว อาจให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งในเวลาอันรวดเร็ว และนั่นอาจจะเป็นข้อดีเพียงอย่างเดียวของการไดเอทในลักษณะนี้ เพราะผลร้ายของการไดเอทหรือลดน้ำหนักที่สุดโต่งเกินไป มีแนวโน้มที่จะทำให้เรารู้สึกเฉื่อยชา อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ ปวดเมื่อยร่างกาย และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ในระยะยาว จะทำให้ร่างกายของเรามีปัญหาในการเผาผลาญ ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกกันว่าโยโย่ และสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ ที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ทั้ง 6 ข้อด้านล่างนี้ คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเราไดเอทแบบสุดขั้ว
1.ภาวะขาดน้ำ
ความสำเร็จในทันทีของการไดเอทแบบสุดขั้ว อาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เนื่องจากน้ำหนักส่วนใหญ่ที่สูญเสียไปมักจะมาจากน้ำในร่างกายมากกว่าไขมัน อาการของภาวะขาดน้ำ ได้แก่ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และเวียนศีรษะ
2.การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด
เนื่องจากการไดเอทแบบสุดขั้ว เกี่ยวข้องกับอาการโยโย่ (การได้รับน้ำหนักทั้งหมดที่สูญเสียไปจากการรับประทานอาหารกลับคืนมา) สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการดื้อต่ออินซูลิน และอาจส่งผลกลายเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้
3.กล้ามเนื้อสลาย
ภาวะทุพโภชนาการและการไดเอทแบบสุดขั้ว มีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ภาวะทุพโภชนาการอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบทั่วร่างกาย หากน้ำหนักลดลงเร็วมาก กล้ามเนื้อหัวใจก็อาจลีบได้ด้วย เชื่อมโยงกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและการเสียชีวิต หัวใจที่อ่อนแอเป็นปัญหาร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ความตายได้
4.การเผาผลาญช้าลง
เมื่อคนเราไดเอทแบบสุดขั้ว ร่างกายจะขาดแคลอรี่ และระดับพลังงานก็จะลดลง ระบบเผาผลาญก็จะช้าลงตามไปด้วย เพื่อเก็บรักษาพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุด นำไปสู่การลดน้ำหนักที่ไม่ได้ผล
5.ขาดสารอาหาร
ในกรณีของการไดเอทแบบสุดขั้ว การจำกัดอาหารอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการขาดสารอาหารหลายอย่าง เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน (โดยเฉพาะวิตามิน A, D, E และ K) และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม เป็นต้น สารอาหารเหล่านี้เป็นกลุ่มอาหารที่จำเป็น การขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดโรคขาดสารอาหารได้ เมื่อเรากลับมารับประทานอาหารตามปกติแบบกะทันหัน ก็อาจทำให้ระดับฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโพแทสเซียมลดลง และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
6.สมองไวต่อความเครียด
การไดเอทแบบสุดขั้ว หรือการควบคุมอาหารใด ๆ ก็ตาม จะเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนในสมอง ทำให้สมองไวต่อความเครียดมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และส่งเสริมให้เรามีพฤติกรรมการกินจุใจในอนาคตได้
วิธีที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก และรักษารูปร่าง คือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการกินอย่างถาวร ไม่ใช่การทำอย่างสุดขั้วเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ตลอดจนผักและผลไม้ ในขณะที่ก็ต้องจำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล โดยไม่ถึงกับงด เมื่ออาหารดีแล้ว ก็ต้องเสริมเรื่องการออกกำลังกายเข้าไปด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพที่ยั่งยืนนั่นเอง