–
ปัญหาเพื่อนบ้าน เป็นปัญหาคลาสสิคที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยพบเจอค่ะ ต่างกันที่ระดับของปัญหา บางคนเจอน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากนัก ก็ยังสามารถยอม ๆ กันไปได้ แต่ในบางกรณีก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาเรื่องเสียงในเวลากลางคืน ปัญหาเรื่องการจอดรถขวางหน้าบ้าน ปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง ทำให้หลายคนหนักอกหนักใจ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดี ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ทำอย่างไรให้ไม่เกิดความบาดหมางระหว่างกัน วันนี้ Homeday มี 7 วิธี รับมือกับเพื่อนบ้านด้วยสันติวิธีที่ต้องรู้มาฝากทุกคนกันแล้วค่ะ
@homeday.co.th ปัญหาเพื่อนบ้าน แก้อย่างไรดี? 7 วิธี รับมือกับเพื่อนบ้าน ด้วยสันติวิธีที่ต้องรู้ 🏠🤝🏠 #ปัญหาเรื่องบ้าน #ปัญหาเพื่อนบ้าน #เพื่อนบ้าน #เพื่อนบ้านที่น่ารัก #เพื่อนบ้านไม่ใช่เซฟโซน #เพื่อนบ้านสุดแสบ #เพื่อนบ้านแบบนี้ #ข้างบ้าน #รู้หรือไม่ #ซื้อบ้าน #บ้านหลังแรก #คนอยากมีบ้าน ♬ Feel This Energy(1199039) – TimTaj
1. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านก่อน
วิธีนี้ใช้ได้ผลเสมอค่ะ เพื่อนบ้านแต่ละหลังก็มีบุคลิกลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน บางบ้านไม่ชอบสุงสิงกับใคร ชอบอยู่เงียบ ๆ ต้องการความเป็นส่วนตัว นาน ๆ ครั้งเราถึงจะได้เห็นหน้า เมื่อเจอหน้ากันก็ไม่มีการทักทาย สบตา ในกรณีแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเพื่อนบ้านหลังนี้ไม่เป็นมิตรเสมอไปนะคะ แต่อาจเป็นเพราะเขาเข้าสังคมได้ไม่เก่ง เมื่อเราไปเที่ยว หรือมีขนมอร่อย ๆ ลองนำไปฝากเพื่อนบ้านหลังนี้ดูค่ะ เป็นการละลายพฤติกรรมของกันและกันได้ดีอย่างแน่นอน วิธีนี้ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับเพื่อนบ้านที่ขี้อายนะคะ เพื่อนบ้านที่เสียงดังรบกวน ชอบจอดรถขวางหน้าบ้าน หรือเพื่อนบ้านแบบไหน ๆ ก็เริ่มต้นจากการผูกมิตรได้เลยค่ะ
2. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นระหว่างเรากับเพื่อนบ้าน มากกว่า 3-4 ครั้ง และดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าเพื่อนบ้านของเราจะรับรู้ปัญหาเลย บางครั้งมันเกิดจากการที่พวกเขาไม่ทราบจริง ๆ ก็มีค่ะ เมื่อมันเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้ง แนะนำให้ลองพูดคุยกันด้วยท่าทียิ้มแย้มแจ่มใสค่ะ จะนำของติดไม้ติดมือไปฝากด้วยก็ได้นะคะ จะยิ่งช่วยลดความตึงเครียดไปได้บ้าง แม้เพื่อนบ้านจะบ่น หรือแสดงท่าทีไม่พอใจ ก็ห้ามโต้ตอบเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่แล้ว อาจจะมีเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งสร้างความปวดหัวให้กับเรามากยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ
3. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการแก้ที่ตัวเรา
ถ้าใช้วิธีข้างต้นไปหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล หรือไม่มีอะไรดีขึ้น หากปัญหาไหนเราสามารถป้องกัน แก้ไข ด้วยตนเองได้ ก็แนะนำให้ทำเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ข้างบ้านของเราเลี้ยงแมวระบบเปิด น้องแมวเข้ามาเล่นในรั้วบ้านเรา เดินเหยียบบนรถของเรา อึ ฉี่ ในสนามหญ้าบ้านเรา วิธีป้องกันคือให้เราคลุมรถของเราให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันรอยเท้าของน้องแมว ก่อนจะถอยรถออกจากบ้านก็ให้ตรวจเช็กใต้ท้องรถก่อน ว่าน้องแมวนอนอยู่หรือเปล่า ส่วนการเข้าไปขับถ่ายรบกวนในสวน ก็สามารถติดตั้งสปริงเกอร์แบบเซ็นเซอร์เอาไว้ได้ เมื่อน้องเดินเข้ามาในเขตสวน น้ำจากสปริงเกอร์ก็จะไล่น้อง ๆ ไปได้นั่นเองค่ะ
4. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ
อาจลองพูดคุยกับเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ ใกล้เคียง ว่าเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ นั้น รู้สึกถึงปัญหาเช่นเดียวกันกับเราหรือไม่ หากเพื่อนบ้านเองก็กำลังลำบากใจกับสถานการณ์เหล่านี้เช่นกัน แนะนำให้รวมตัวกันเพื่อเข้าไปพูดคุยอย่างสันติกับบ้านหลังที่มีปัญหาอีกครั้งหนึ่งค่ะ
5. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการแจ้งนิติฯ
หากปัญหานั้นใหญ่เกินกว่าที่เราจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง และการพูดคุยยังไม่ประสบผลสำเร็จ ก็อาจต้องให้ถึงมือของคนกลางที่จะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยอย่างนิติบุคคลแล้วล่ะค่ะ การแจ้งไปยังนิติบุคคลก่อน ถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่ เพราะเราเพียงต้องการที่จะหาตัวช่วยในการรับฟังปัญหาของทั้งสองฝ่าย และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะพฤติกรรมที่ไม่ดีของเพื่อนบ้าน หลายครั้งก็มาจากปัญหาส่วนตัว หากมีคนกลางเข้ามาช่วยในการหาทางออก ก็จะช่วยลดแรงปะทะไปได้มาก และอย่าลืมว่าการพูดคุยนั้น ต้องไม่ใช้อารมณ์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันในระยะยาวค่ะ
6. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการเก็บหลักฐาน
หากทุกอย่างยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็อาจต้องถึงเวลาใช้ไม้แข็งกับเพื่อนบ้านเจ้าปัญหาแล้วล่ะค่ะ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนของการแจ้งความ ก็ต้องมาเก็บรวบรวมหลักฐานกันเสียก่อนค่ะ โดยอาจร่วมมือกันกับเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ ในการรวบรวมหลักฐานด้วยก็ยิ่งดีเลยค่ะ โดยหลักฐานนั้น ต้องแสดงวันที่และเวลาได้อย่างชัดเจน อาจเป็นภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวก็ได้ค่ะ โดยเราสามารถนำหลักฐานเหล่านี้ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายได้ค่ะ
7. วิธีรับมือกับเพื่อนบ้านด้วยการแจ้งตำรวจ
ไม้ตายสุดท้ายนี้ ให้เลือกตัดสินใจ เฉพาะในกรณีที่ร้ายแรงเกินรับไหวจริง ๆ เพราะการแจ้งตำรวจนั้น ถือเป็นการเลือกที่จะเป็นศัตรูกันโดยสมบูรณ์แบบ และเรายังต้องใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนบ้านหลังนั้นไปตลอด ข้อดีคือวิธีนี้ อาจเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้จริง แต่แม้เหตุการณ์ต่าง ๆ จะผ่านพ้นไปแล้ว ความสัมพันธ์ของเราและเพื่อนบ้านนั้น คงไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้
และนี่ก็เป็นทั้ง 7 วิธี รับมือกับเพื่อนบ้านด้วยสันติวิธี ที่เริ่มต้นจากการผูกมิตรไมตรี พูดคุยด้วยความเข้าใจ ไปจนถึงขั้นตอนสูงสุดอย่างการตัดสินใจแจ้งความ บอกเลยว่าปัญหาเพื่อนบ้านนั้น ควรแก้ไขดีกว่าอดทนเอาไว้นะคะ เพราะนอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็ยังส่งผลมาถึงสุขภาพจิตของเราอีกด้วย หากปัญหานั้นรบกวนชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ควรดำเนินการหาทางยุติ เพื่อคืนความสงบสุขกลับมาสู่ครอบครัวของเราและเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ ค่ะ หวังว่าทั้ง 7 วิธีนี้ จะช่วยให้ทุกคนเลือกรับมือกับเพื่อนบ้านได้อย่างถูกวิธีกันนะคะ