KAVE playground

10 ขั้นตอน เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม 2565 ในกรณีไม่อพยพ

        สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ตอนนี้ รวมไปถึงบทวิเคราะห์ความเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้เชี่ยวชาญ คงทำให้ใครหลายคนหวั่นใจ หวนนึกไปถึงปี 2554 กันแล้วใช่มั้ยล่ะคะ ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร การตื่นตัวอยู่เสมอก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ วันนี้ Homeday มี 10 ขั้นตอนเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมที่ทำตามได้มาฝากกันค่ะ ในกรณีที่บ้านมีเพียง 1 ชั้น หรือคัตเอาต์ใช้ร่วมกันระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 หรือถูกตัดไฟถาวร แนะนำให้อพยพเท่านั้นค่ะ เพราะแน่นอนว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้เกิดความยากลำบากในการอยู่อาศัยเป็นอย่างมากนั่นเองค่ะ แต่สำหรับบ้านตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปที่ไม่ถูกตัดไฟ การจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ค่ะ แต่จะมีวิธีในการเตรียมตัวรับมือ และใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไรบ้างนั้น ติดตามอ่านจากบทความนี้กันได้เลยค่ะ

แจก Check list เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม

1. เตรียมพร้อมรับมือ เริ่มต้น ‘เก็บของ’ หนีน้ำท่วม

  • สิ่งของที่มีมูลค่า อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และของสำคัญ ๆ ของเรา ที่เราไม่อยากให้เสื่อมสภาพ นำขึ้นไปจัดเก็บที่ชั้นบนของตัวบ้านได้เลยค่ะ ส่วนของทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ใช้งาน และไม่ได้สำคัญมากนัก ให้วางเทิร์นไว้บนเฟอร์นิเจอร์ที่ชั้นล่างก็ได้ค่ะ อย่าลืมว่าของเหล่านี้มีโอกาสที่จะเกิดการขึ้นราเนื่องจากอยู่ใกล้กับน้ำได้ และต้องคอยเฝ้าระวังระดับน้ำอยู่ตลอดเวลาด้วยนะคะ หากน้ำยังคงขึ้นสูงต่อเนื่อง ก็อาจต้องนำขึ้นชั้นบนแทนค่ะ อีกวิธีหนึ่งคือการนำของบางส่วนไปฝากไว้ที่บ้านเพื่อนหรือญาติ ที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมค่ะ 
  • ในกรณีที่จะเทินของบนที่สูงอย่างโต๊ะ เก้าอี้ เตียงต่าง ๆ ควรแน่ใจว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นทำมาจากไม้แท้ หรือวัสดุที่ทนน้ำเท่านั้น เพราะหากเป็นวัสดุอย่างไม้อัด ก็จะเกิดการละลายน้ำจนย่อยสลายไปทั้งชิ้นได้ และจะต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าวัสดุจะทนน้ำได้มากแค่ไหน การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานก็อาจส่งผลต่อสภาพของเฟอร์นิเจอร์ได้เช่นกันค่ะ
  • หากสถานการณ์น้ำมีโอกาสที่จะกินระยะเวลายาวนาน ไม่แนะนำให้ห่อสิ่งของไว้ด้วยพลาสติก หรือถุงดำนะคะ แม้จะเป็นวิธีที่ดีในการปกป้องสิ่งของจากความเสียหายก็ตาม เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ในภายหลังค่ะ

2. เตรียมพร้อมรับมือกับ ‘รถส่วนตัว’ ในช่วงเวลาน้ำท่วม

  • นำรถไปฝากไว้ที่บริษัท บ้านเพื่อน หรือบ้านญาติ ที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม
  • การจอดบนสะพาน ทำได้ในบางพื้นที่ค่ะ จะต้องไม่จอดซ้อนคัน เพื่อให้เหลือช่องทางเดินรถปกติอยู่ด้วย และต้องไม่ลืมว่าการจอดในลักษณะนี้มีความเสี่ยงในการโดนทุบ งัดแงะ แกะของของเราออกไปจากตัวรถได้ค่ะ
  • จอดในพื้นที่จอดรถฉุกเฉินทั่วประเทศ ซึ่งเราจะต้องคอยติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตและทางทีวีอยู่ตลอดเวลา และรีบนำรถไปจอดยังพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ไวที่สุด เพราะแต่ละพื้นที่มีจำนวนจำกัดนั่นเองค่ะ

3. เตรียมพร้อมสำหรับการ ‘ยังชีพ’ เพื่อรับมือกับน้ำท่วมที่ยาวนาน

  • น้ำสะอาดสำหรับบริโภค สำคัญมาก ๆ ค่ะ เพราะในช่วงเวลาที่น้ำท่วมนั้น น้ำประปาจะมีสิ่งสรกปกปะปนมาได้ หากเป็นไปได้ควรกรองน้ำสะอาดเก็บไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอ หรือหากบ้านไหนซื้อน้ำเพื่อบริโภคอยู่แล้ว ก็ให้ซื้อมาสำรองไว้ได้เลยค่ะ
  • อาหารสำเร็จรูปอย่างบะหมี่, โจ๊ก, อาหารกระป๋อง, อาหารพร้อมทานเป็นซองที่สามารถเก็บไว้ได้นาน สำคัญมาก ๆ ค่ะ เพราะในช่วงเวลาน้ำท่วมนั้น การจะออกไปซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารกินก็คงทำได้ยากลำบาก แม้จะมีตู้เย็นอยู่ก็ตาม 
  • อาหารแห้ง หรืออาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน อย่างข้าวสาร, วุ้นเส้น, เห็ดหอมอบแห้ง, ฟองเต้าหู้แห้ง, ซีเรียล, กุญเชียง, ไข่เค็ม ก็ควรมีติดไว้เช่นกันค่ะ เพราะของเหล่านี้ไม่ต้องพึ่งตู้เย็น แถมยังเก็บไว้ได้นาน เพิ่มคุณค่าทางอาหารได้มากกว่าการทานแต่อาหารสำเร็จรูปค่ะ
  • เครื่องใช้ในครัวอย่างหม้อหุงข้าว, เตาไฟฟ้า, เตาแก๊สปิกนิก, กาต้มน้ำ ต้องเตรียมให้พร้อมค่ะ แม้จะมีเตาไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็ควรมีเตาแก๊สปิกนิกไว้สำรองด้วยเช่นกัน และควรซื้อแก๊สกระป๋องมาสำรองไว้ด้วยนะคะ 
  • ชุดปฐมพยาบาลและยา ต้องพร้อมค่ะ เพราะโรคที่มาจากน้ำท่วมมีเยอะมาก ๆ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ, โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคฉี่หนู, โรคน้ำกัดเท้า, โรคตาแดง และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นการเตรียมพร้อมในเรื่องของสุขภาพจึงจำเป็นและสำคัญอย่างมากค่ะ ส่วนไข้เลือดออกที่มาจากน้ำขัง แนะนำให้ซื้อเครื่องซ็อตยุงไฟฟ้าติดเอาไว้ด้วยก็ดีค่ะ
  • ไฟฉาย ไฟสำรอง ไฟแช็กและเทียน ต้องมีเอาไว้สำรองเผื่อฉุกเฉินด้วยนะคะ เผื่อเกิดเหตุการณ์ไฟดับขึ้นมา จะได้มีแสงสว่างเอาไว้ใช้งานในที่มืดค่ะ

4. ‘อุดจุดบอด’ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม

  • ในเวลาปกติ แม้บ้านจะปิดสนิทมิดชิด ก็อาจมีแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก ๆ หลุดลอดเข้ามาได้บ้านได้เลยใช่มั้ยล่ะคะ ในช่วงเวลาที่น้ำท่วมก็เช่นเดียวกันค่ะ ให้ตรวจช่องว่างของประตูและหน้าต่างอย่างละเอียด ว่ามีช่องหรือรูที่สัตว์เหล่านั้นอาจจะลอดเข้ามาได้บ้างหรือไม่ หากพบให้ทำการอุดปิดช่องและรูเหล่านั้นให้สนิทค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ที่อันตรายลอดเข้ามาค่ะ
  • ตรวจสอบรอยแตกร้าว รอยแยก บริเวณบ้านชั้น 1 ให้ละเอียด จุดไหนที่น้ำอาจจะรั่วซึมเข้ามาได้ ให้รีบแก้ไขด้วยการอุดด้วยยาแนวหรือซิลิโคนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้น้ำซึมเข้ามาได้ค่ะ ส่วนบ้านที่มีห้องใต้ดิน จะมีแรงดันน้ำ ทำให้ไม่สามารถอุดช่องว่างได้อย่างแน่นอน ให้ปล่อยไปเลยค่ะ
  • วางกระสอบทราย ทำกำแพงกั้นน้ำทุกทางเข้า-ออก รวมไปถึงห้องน้ำ และทางขึ้น-ลงห้องใต้ดิน (หากมี) สามารถใช้การก่อผนังฉาบปูนทำผิวขัดมัน แทนกระสอบทรายได้ค่ะ 

5. การเตรียมพร้อม ‘ห้องน้ำ’ รับมือน้ำท่วม

  • น้ำท่วม ส่งผลให้ชักโครกของเรา ไม่สามารถกดชักโครกหรือราดไม่ลงได้ค่ะ ดังนั้นการจะขับถ่ายเหมือนปกติในชีวิตประจำวันก็จะไม่สามารถทำได้ เราควรเตรียมถุงดำ หรือถุงที่มีความหนา มีสีทึบ และเตรียมปูนขาว ขี้เถ้า หรือน้ำยาฆ่าเชื้อเอาไว้ค่ะ แนะนำให้ขับถ่ายลงในถุง จากนั้นใส่ปูนขาว ขี้เถ้า หรือน้ำยาฆ่าเชื้อตามลงไป ก่อนปิดปากถุงให้แน่น หรือจะเพิ่มชั้นของถุงอีกสัก 1 ใบเพื่อความแน่นหนาก็ได้เช่นกันค่ะ 
  • สุขภัณฑ์เคลื่อนที่ ตัวช่วยที่เพิ่มความสะดวกสบายในการขับถ่ายให้ง่ายมากขึ้น ในท้องตลาดมีตัวเลือกอยู่มากมายเลยค่ะ จะลงทุนซื้อเป็นห้องน้ำแบบเก็บกลิ่นที่สามารถกดน้ำได้ไปเลยก็ดีค่ะ เมื่อถังบรรจุเต็มแล้ว เราก็ค่อยถ่ายใส่ถุงดำใบใหญ่อีกทอดหนึ่ง จากนั้นใส่ปูนขาว ขี้เถ้า หรือน้ำยาฆ่าเชื้อตามลงไป ใส่ถุงเพิ่มชั้นความหนาและช่วยเก็บกลิ่น 
  • ถุงของเสียทั้งหมดของเรานั้น หากในพื้นที่มีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ก็ให้เก็บรวบรวมไปให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปกำจัดอีกทีหนึ่งค่ะ แต่บางพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงค่อนข้างมาก ไม่มีหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแลเรื่องขยะ ก็อาจจะต้อง DIY ถังขยะนอกตัวบ้าน โดยการนำถังขนาดใหญ่มามัดไว้กับรั้วบ้านก็ได้ค่ะ เพื่อรอจนกว่าน้ำจะลง และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บอีกครั้งค่ะ หรือหากใครมีไอเดียในการจัดทำพื้นที่เก็บขยะอย่างเป็นระเบียบ ก็ใช้วิธีที่ตัวเองถนัดและเหมาะสมกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ก็ได้ค่ะ
  • ไม่ควรขับถ่ายลงในน้ำ หรือโยนถุงที่ใส่ของเสียของเราลงในน้ำโดยเด็ดขาดนะคะ เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ค่ะ
  • ส่วนการอาบน้ำแปรงฟันนั้น ควรระมัดระวัง งดใช้ปั๊มน้ำ จากระบบท่อที่จมอยู่ใต้น้ำเพราะหากมีท่อแตกรั่วซึ่งมองไม่เห็น ปั๊มจะดูดสิ่งสกปรกเข้าสู่ระบบท่อได้ค่ะ และเพื่อความสบายใจ แนะนำให้ซื้อตัวกรองอาบน้ำมาติดตั้งไว้ก็จะดีที่สุดค่ะ

6. เตรียม ‘สัตว์เลี้ยง’ พร้อมรับมือน้ำท่วม

  • แนะนำให้นำสัตว์เลี้ยงไปฝากคนรู้จักให้ช่วยดูแลจะดีที่สุดค่ะ บ้านไหนที่น้องหมา น้องแมว ปรับตัวเก่ง หรือสนิทกับญาติหรือเพื่อนของเราอยู่แล้ว ก็แนะนำว่าให้นำไปฝากเลี้ยงจะส่งผลดีกับตัวน้อง ๆ มากกว่าค่ะ เพราะน้ำท่วมมาพร้อมกับเชื้อโรคและเชื้อรามากมาย พื้นที่ก็มีจำกัดมากขึ้นด้วย อาจส่งผลกับความเครียดของน้อง ๆ ทำให้เรามีความกังวล และต้องคอยดูแลพวกเขาเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วยค่ะ
  • สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีข้อผูกพันทางใจกับเจ้าของมากนัก หรือเลี้ยงอยู่ในกรงหรือตู้อยู่แล้ว ก็เพียงแค่นำพื้นที่ของพวกเค้า ขึ้นมาอยู่ด้วยกันที่ชั้นบนของตัวบ้านค่ะ อย่าวางกรงของสัตว์เลี้ยงไว้ใกล้กับพื้นที่น้ำท่วมเด็ดขาด เพราะความชื้นและเชื้อโรคสามารถทำให้น้อง ๆ ป่วยได้ค่ะ
  • ในกรณีของน้องหมา น้องแมว การขังไว้ในกรงตลอดเวลา อาจเกิดความเครียดได้ค่ะ ให้น้อง ๆ ใช้ชีวิตเหมือนปกติให้ได้มากที่สุด ให้เค้าได้วิ่งเล่นที่ชั้นบนของบ้าน มีของเล่นให้ตามปกติ เตรียมน้ำสะอาดและอาหารตุนไว้ให้เพียงพอ คอยดูแลไม่ให้ลงไปเล่นน้ำหรือกินน้ำที่ท่วมขังโดยเด็ดขาด และควรหาเสื้อชูชีพสำหรับสัตว์เลี้ยงเตรียมเผื่อเอาไว้ด้วยค่ะ
  • การขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง ให้นำใส่ถุงปิดมิดชิดให้เรียบร้อย และนำไปรวบรวมไว้เพื่อรอหน่วยงานมานำไปกำจัดต่อไปค่ะ

7. ‘ไฟฟ้า’ อันตราย ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ทันก่อนน้ำท่วม

  • หากน้ำ มีแนวโน้มที่จะไหลเข้าท่วมตัวบ้านชั้นล่างแล้วแน่ ๆ ให้ทำการปลดสวิตช์เบรกเกอร์ชั้นล่างเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าค่ะ แม้น้ำจะไม่ได้ท่วมสูงมาก ก็ควรปลอดภัยเอาไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ
  • ในการออกจากบ้านแต่ละครั้ง แม้จะอยู่บนเรือพลาสติก ก็ต้องคอยระมัดระวังค่ะ อย่านำส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายแตะลงในน้ำหากไม่จำเป็น
  • อย่าจับพวกโลหะตามท้องถนนหรือบ้านเรือนของเพื่อนบ้านโดยเด็ดขาดเลยนะคะ อาจมีกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหล อันตรายถึงชีวิตได้เลยค่ะ 
  • จัดหาอุปกรณ์ตรวจสอบกระแสไฟฟ้าสำหรับเช็กไฟรั่วเตรียมไว้ก็ดีค่ะ ก่อนจะลงจากเรือ ก็ลองใช้อุปกรณ์ก่อน แต่ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ได้มาตรฐานด้วยนะคะ

8. ‘เรือ’ ต้องมีเตรียมพร้อม ในสถานกาณ์น้ำท่วม

  • เรือพลาสติก ควรมีติดบ้านไว้เลยค่ะ เพราะเรือจะเป็นยานพาหนะหนึ่งเดียว ที่เราจะสามารถใช้ได้ในช่วงเวลานี้ การพายเรือในช่วงเวลาน้ำท่วมนั้น อาจทำให้เราหลงทิศทางได้ค่ะ ในกรณีที่พายออกไปไกล ๆ แนะนำให้เตรียมสมาร์ทโฟนพร้อมแบตสำรองเอาไว้ด้วย จะได้เปิดดูแผนที่และพายได้อย่างถูกทิศทาง
  • ป้องกันเรือของเรา ด้วยการนำเรือกลับเข้ามาเก็บภายในรั้วบ้านที่มิดชิดอยู่เสมอ ห้ามเผลอผูกเรือไว้นอกรั้วบ้านเป็นอันขาดนะคะ เพราะในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังลำบากแบบนี้ คนที่ไม่มีเรือ ก็อาจจะมาหยิบยืมไปโดยไม่บอกกล่าว หรือขโมยเรือของเราไปอย่างถาวรก็ได้ค่ะ
  • ชูชีพ คือสิ่งสำคัญ แม้ว่าระดับน้ำนั้นจะไม่ได้ลึกมาก ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีค่ะ ปลอดภัยไว้ก่อน ย่อมดีกว่าใช่มั้ยล่ะคะ
  • ไม้พายสำรอง สำหรับมือใหม่หัดพาย ควรมีติดเรือไว้ด้วยค่ะ เผื่อในกรณีพลาดทำไม้หลุดมือจนไม่สามารถตามเก็บได้ จะได้มีสำรองใช้ค่ะ

9. เตรียมพร้อมรับมือกับ “โจร” ในสถานการณ์น้ำท่วม

  • เมื่อต้องออกไปข้างนอก ให้ล็อกบ้าน และล็อกห้องต่าง ๆ ให้เรียบร้อยค่ะ นำของมีค่าไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและแน่นหนาให้ได้มากที่สุด หากมีเพื่อนบ้านก็สามารถไหว้วานให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ได้ค่ะ
  • ในช่วงเวลากลางคืน ต้องแน่ใจว่าบ้านของเราปิดสนิทมิดชิดนะคะ นอนในห้องให้ล็อกประตูให้เรียบร้อย หากสามารถติดสัญญาณกันขโมยตามบานประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศภายในห้องน้ำได้ ก็จะดีมาก ๆ ค่ะ
  • ต้องช่างสังเกตอยู่ตลอดเวลา อย่าอยู่แต่ในบ้านเพียงอย่างเดียวนะคะ ระหว่างวันให้เราคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้คนที่สัญจรไปมาด้วยค่ะ หากพบคนแปลกหน้ามาวนเวียนแถวบริเวณบ้านของเรา จะได้เตรียมตัวตั้งรับได้ทันค่ะ

10. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมด้วยการ ‘ติดตามข่าวสาร’ อย่างใกล้ชิด

  • Social Network ทั้งหลาย มีประโยชน์อย่างมากในช่วงเวลานี้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Tiktok หรือ Youtube เพราะมักจะมีข่าวสารทางทีวีที่เราพลาดไปให้ได้รับชม รวมไปถึงมีการโพสต์ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่แบบเรียลไทม์จากผู้ใช้งาน ทำให้เราสามารถทราบความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ในพื้นที่ของตัวเองได้มากขึ้นค่ะ ทั้งนี้ก็ต้องใช้การวิเคราะห์สื่อที่ได้รับให้มากขึ้นด้วย เนื่องจากหลายครั้งก็มักจะมีผู้ไม่หวังดี สร้างสถานการณ์เพื่อความบันเทิงส่วนตัวได้ค่ะ
  • นอกจากการติดตามข่าวสารทางทีวีและ Social Network แล้ว การโทรติดต่อสอบถามข้อมูลจากทางภาครัฐหรือขอความช่วยเหลือก็จำเป็นเช่นกันค่ะ 
    • ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
    • ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง
    • สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830

           ขั้นตอนการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมนั้น เป็นการเตรียมพร้อมไว้ในทุก ๆ ด้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าระดับน้ำจะเพิ่งสูงขึ้นได้มากเท่าไหร่ หรือจะท่วมนานแค่ไหน บางทีการที่เราลงทุนไปกับการกั้นน้ำสารพัดวิธี เมื่อน้ำมาเยอะมากจริง ๆ ก็ไม่มีวิธีไหนที่จะป้องกันน้ำไม่ให้เข้าท่วมตัวบ้านได้อีกต่อไปค่ะ สิ่งที่เราควรจะมีในช่วงเวลานี้ คือสติ การเตรียมตัวให้พร้อม คิดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นเอาไว้เสมอนะคะ หากเราเตรียมตัวพร้อม ความสูญเสียและความเสียหาย ก็จะเกิดขึ้นน้อยตามไปด้วยค่ะ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ ‘อาจ’ จะเกิดขึ้นในปี 2565 นี้ ก็ยังคงต้องติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังกันต่อไปค่ะ หวังว่าทั้ง 10 ขั้นตอนที่ทาง Homeday นำมาฝากกันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนได้นะคะ

อ่านเพิ่ม
Sidebar
The Palm (copy)
บทความล่าสุด
เอสซีจี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด INTERCEM Asia 2025 งานประชุมผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องในเชนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ระดับโลก ตั้งแต่ 6-8 พฤษภาคมนี้ ยกระดับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมกรีน
ข่าวสาร
เบเยอร์ ยกขบวนนวัตกรรมตอบโจทย์การออกแบบสู่อนาคต พร้อมเปิดตัวเฉดสี Green Palette ครั้งแรกในไทย! รองรับ “Designing Future” ในงานสถาปนิก’68 ตอกย้ำแบรนด์นวัตกรรมอันดับ 1 ในรอบ 20 ปี
ข่าวสาร
พบกับบูธของกลุ่มบริษัท TCM Corporation ณ บูธกิจกรรมเลขที่ F205 ภายในงาน สถาปนิก’68 (Architect’ 25) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็คเมืองทองธานี
ข่าวสาร
เอพี ไทยแลนด์ เสริมทัพ THE MAJESTIC COLLECTION เปิดตัว THE PALAZZO ปิ่นเกล้า – บรมฯ คฤหาสน์หรูระดับอัลตร้าลักซ์ชัวรี มูลค่าโครงการ 2,200 ล้านบาท*
ข่าวสาร
พฤกษา ร่วมมือ การประปานครหลวง ลงนาม MOU ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกบ้านอย่างยั่งยืน
ข่าวสาร
รีวิวโครงการ
รีวิว เคฟ เพลย์กราวด์ ลาดพร้าว-บดินทรเดชา (Kave Playground Ladprao-Bodindecha) คอนโดใหม่ Fully Furnished ติดบดินทรเดชาฯ ส่วนกลางจัดเต็ม 60 รายการ และโซน Pet-Friendly แยกตึก
Review
รีวิว ศุภาลัย เลค วิลล์ จันทบุรี (Supalai Lake Ville Chanthaburi) บ้านหรูสไตล์ Tropical Modern ใจกลางธรรมชาติริมทะเลสาบกว่า 10 ไร่ พร้อมฟังก์ชันครบครัน รองรับชีวิตระดับพรีเมียมในทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดของจันทบุรี
Review
รีวิว ศุภาลัย ริเวอร์ วิลล์ ระยอง (Supalai River Ville Rayong) บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Modern Tropical Series ฟีลดีติดริมแม่น้ำ ทำเลคุณภาพใจกลางเมืองระยอง
Review
รีวิว ศุภาลัย เบลล่า พระราม 2-วงแหวน ครบครันทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ดีไซน์ใหม่ ฟังก์ชันครบ ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองยุคใหม่ในโซนพระราม 2-สมุทรสาคร
Review
รีวิว ศุภาลัย วิลล์ ปิ่นเกล้า-ศาลายา บ้าน Design ใหม่ พื้นที่ใหญ่ ฟังก์ชันครบ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ทุก Lifestyle เป็นส่วนตัวเพียง 66 แปลง ส่วนกลางครบครัน บนทำเลที่โดดเด่น โซนปิ่นเกล้า-ศาลายา
Review
Loading..