สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ในปัจจุบันสุนัขมีสายพันธุ์มากกว่า 400 สายพันธุ์ทั่วโลก ตั้งแต่สุนัขพันธุ์จิ๋วที่มีน้ำหนักเพียง 2-3 กิโลกรัม ไปจนถึงสุนัขพันธุ์ยักษ์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัม ซึ่งน้องหมาที่มีขนาดตัวและน้ำหนักที่ต่างกันก็ต้องเลือกสารอาหารที่ต่างกัน เพื่อการเจริญเติบโต และการดูแลที่แตกต่างกัน การเลือกอาหารสุนัขให้เหมาะกับสายพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของต้องใส่ใจ

การแบ่งสายพันธุ์สุนัข

การเลือกอาหารสุนัขจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของสายพันธุ์ และน้ำหนักตัว ก่อนที่จะเลือกอาหารเราต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจการแบ่งกลุ่มสายพันธุ์สุนัขตามขนาด ซึ่งมีผลต่อการเลือกอาหารและการเข้าสู่วัยต่าง ๆ ดังนี้
- พันธุ์จิ๋ว (Tiny) : สุนัขที่มีขนาดเล็กที่สุด น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัยน้อยกว่า 4 กิโลกรัม เช่น ชิวาวา ยอร์กเชียร์ เทอร์เรียร์ เข้าสู่วัยเต็มวัยเร็วที่สุดคือประมาณ 10 เดือน และเข้าสู่วัยสูงอายุเมื่อ 8 ปี
- พันธุ์เล็ก (Small) : สุนัขพันธุ์เล็กจะมีน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัยน้อยกว่า 10 กิโลกรัม เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิสุ พุดเดิ้ล เข้าสู่วัยเต็มวัยที่ 10 เดือน และเข้าสู่วัยสูงอายุเมื่อ 8 ปี
- พันธุ์กลาง (Medium) : สุนัขขนาดปานกลาง น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย 11-25 กิโลกรัม เช่น บีเกิ้ล คอร์กี้ ไซบีเรียน ฮัสกี้ เข้าสู่วัยเต็มวัยที่ 12 เดือน และเข้าสู่วัยสูงอายุเมื่อ 7 ปี
- พันธุ์ใหญ่ (Large) : สุนัขขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย 26-44 กิโลกรัม เช่น ลาบราดอร์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เยอรมัน เชพเพิร์ด เข้าสู่วัยเต็มวัยช้ากว่าพันธุ์เล็กคือ 15-18 เดือน และเข้าสู่วัยสูงอายุเร็วกว่าที่ 5-6 ปี
- พันธุ์ยักษ์ (Giant) : สุนัขขนาดใหญ่พิเศษ น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัยมากกว่า 45 กิโลกรัม เช่น เกรทเดน เซนต์เบอร์นาร์ด เนโปลิแตน มาสทิฟ ใช้เวลาเติบโตนานที่สุดคือ 18-24 เดือนจึงเข้าสู่วัยเต็มวัย และเข้าสู่วัยสูงอายุเร็วที่สุดคือ 5 ปี
การเลือกอาหารตามสายพันธุ์

การเลือกอาหารให้เหมาะสมกับสายพันธุ์สุนัขเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของควรใส่ใจ เนื่องจากสุนัขแต่ละขนาดมีความต้องการสารอาหารและลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน
สุนัขพันธุ์เล็ก
สำหรับสุนัขพันธุ์เล็กควรเลือกอาหารที่มีเม็ดขนาดเล็ก เหมาะกับขนาดปากและฟัน ช่วยให้เคี้ยวและกลืนได้ง่าย นอกจากนี้ ด้วยระบบย่อยอาหารที่ทำงานเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ อาหารจึงควรย่อยง่ายและมีสารอาหารที่เน้นการบำรุงขนและผิวหนังเป็นพิเศษ เพราะสุนัขพันธุ์เล็กมักมีปัญหาเรื่องผิวหนังและขนร่วงได้ง่าย
สุนัขพันธุ์กลางและใหญ่
น้องหมาพันธุ์กลาง ไปจนถึงน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ควรเลือกอาหารเม็ดสุนัขที่มีขนาดใหญ่ขึ้นให้เหมาะกับโครงสร้างกรามและฟัน และที่สำคัญคือต้องมีส่วนผสมของกลูโคซามีน (Glucosamine) และคอนดรอยติน (Chondroitin) ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยบำรุงข้อต่อและกระดูก เนื่องจากสุนัขพันธุ์ใหญ่มักมีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น อีกทั้งควรมีการควบคุมปริมาณพลังงานและไขมันที่เหมาะสม เพราะสุนัขพันธุ์ใหญ่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ง่าย ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาข้อและกระดูก
สรุป
การเลือกอาหารที่เหมาะสมกับสายพันธุ์และช่วงวัยของสุนัขเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงดู ช่วยให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าของควรศึกษาข้อมูลและสังเกตการตอบสนองของสุนัขอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนการให้อาหารให้เหมาะสมที่สุด