สอวช. ผนึก TFGI สิงคโปร์ จัดสัมมนานานาชาติ “The Evolution of Tech Governance in Southeast Asia” เปิดภาพรวมการกำกับดูแลเทคโนโลยีในภูมิภาค พร้อมเผยทิศทางประเทศไทยปี 2568

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ Tech For Good Institute (TFGI) ประเทศสิงคโปร์ จัดเวทีเสวนานานาชาติ “The Evolution of Tech Governance in Southeast Asia” โดยมี ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้นำการหารือ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน
การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวรายงานฉบับที่ 2 ของ TFGI ซึ่งรวบรวมข้อมูลนโยบายด้านเทคโนโลยีใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยเน้นการเปลี่ยนผ่านแนวคิด “move fast and break things” สู่ “move faster, but fix things” หรือการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วควบคู่กับความรับผิดชอบและการกำกับดูแลที่รอบคอบ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวสำคัญในปี 2567 เช่น การเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา โครงการ “อว. For AI” ที่ตั้งเป้าผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กว่า 30,000 คนใน 3 ปี และแผนการจัด UNESCO Global Forum on the Ethics of AI ในเดือนมิถุนายน 2568 ที่จะเป็นเวทีระดับโลกด้านจริยธรรม AI
ดร.กรัณฑรัตน์ ระบุว่า สอวช. มุ่งเน้นการออกแบบนโยบายที่สมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการวางกรอบกำกับดูแลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และยั่งยืน โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI, Blockchain และ Cloud Computing ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนา “Forward-Looking Policies of Tech Governance in Thailand” ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และนายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ตัวแทนจากสมาคม Thai Digital Platform Association ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า การกำกับดูแลเทคโนโลยีของไทยควรปรับตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การกำกับดูแล AI 2. การบริหารแพลตฟอร์มดิจิทัล และ 3. ความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการออกแบบนโยบายที่สอดรับกับระดับความรู้ดิจิทัลของสังคมไทย การส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพ และการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่าง ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ที่กำลังจะบรรลุผลในปีนี้
