ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานสถาบัน Harbour.Space@utcc พร้อมด้วย อาจารย์อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงข่าว ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,300 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า สงกรานต์ปีนี้บรรยากาศมีความคึกคัก และสนุกสนานกว่าปีก่อน คาดว่าในช่วงดังกล่าวจะมีเงินสะพัด ในระบบเศรษฐกิจ 134,631.73 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีเงินสะพัด 128,834.19 ล้านบาท ถือว่าเงินสะพัดสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า แม้ในปีนี้ จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่คาดว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีความคึกคัก แต่ยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ พร้อมด้วย อาจารย์วิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินผลกระทบของภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน สำหรับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยประเทศไทยโดนเรียกเก็บถึงร้อยละ 36 ซึ่งจะมีผล 9 เม.ย.นี้ ว่าตัวเลขที่ออกมานั้น มากกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ที่อัตราภาษี 10-15% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ประมาณการไว้ในระดับ 0.87% แต่เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถึงร้อยละ 36 คาดว่ามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP โดยเป็นผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 300,237 ล้านบาท
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม มีทั้งการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีน –เม็กซิโก แคนาดา กับสหรัฐฯ อีกราว 58,867 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 1-2% ดังนั้นทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจปี 2568 จะโตต่ำกว่า 2% ในปีนี้
