The Palm (copy)

รู้เท่าทันก๊าซเรดอน ภายหลังเหตุแผ่นดินไหว อาจารย์วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ แนะตรวจปริมาณเรดอนที่อาจแทรกผ่านรอยแยกอาคารได้

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แรงสั่นสะเทือนส่งผลต่อประเทศไทยทำให้เกิดความเสียหายของอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตเมืองที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนอย่างกรุงเทพมหานครย่อมมีโอกาสที่รอยแยกใต้พื้นดินจะเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคืออาจส่งผลให้ก๊าซเรดอนที่อยู่ใต้พื้นดินฟุ้งกระจายเข้าสู่ที่อยู่อาศัยและอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นได้ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ควรติดตามและเฝ้าระวัง

รู้เท่าทันก๊าซเรดอน ภายหลังเหตุแผ่นดินไหว อาจารย์วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ แนะตรวจปริมาณเรดอนที่อาจแทรกผ่านรอยแยกอาคารได้

อ.ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า เรดอน (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่อยู่ในเปลือกโลก เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในดินและหิน โดยปกติจะฟุ้งกระจายผ่านรอยร้าวของพื้นดิน รอยแยกในอาคารและพื้นบ้านเข้าสู่บรรยากาศโดยมีคุณสมบัติไม่มีสี กลิ่น หรือรส ทำให้มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้โดยตรง

แม้จะไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่ก๊าซชนิดนี้กลับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยถือเป็นสาเหตุอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวต่อก๊าซเรดอนจนเกินควร เนื่องจากโรคมะเร็งปอดนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ใช่เพียงก๊าซเรดอนเพียงอย่างเดียว

“เมื่อเราหายใจเอาก๊าซเรดอนเข้าไป เรดอนจะเกิดการสลายตัวให้รังสีแอลฟาและเกิดเป็นธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งและสลายตัวให้ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นธาตุตะกั่วซึ่งเป็นธาตุเสถียรและสะสมอยู่ในถุงลมปอด เป็นผลให้เซลล์ที่ปอดจะได้รับอันตรายจากทั้งรังสีแอลฟาและพิษตะกั่ว ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้” อ.ดร.รวิวรรณ อธิบาย

ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรดอนที่เข้าสู่อาคารนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุและระดับความสูงของพื้นที่ภายในอาคาร โดยพื้นที่ชั้นล่างที่อยู่ติดกับพื้นดินมักมีค่าความเข้มข้นสูงกว่าชั้นบน ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลกภายในอาคารอยู่ที่ 40 Bq/m³ หากมีค่ามากกว่า 160 Bq/m³ จะถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยง ส่วนค่าก๊าซเรดอนภายนอกอาคารอยู่ที่ประมาณ 10 Bq/m³

“แม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณก๊าซเรดอนที่ระดับพื้นดิน ใต้ดิน หรือที่ระดับชั้นต่างกันของอาคารก็มีปริมาณแตกต่างกัน ชั้นล่างของบ้าน อย่างชั้นใต้ดินและชั้น 1 มีแนวโน้มจะมีปริมาณก๊าซเรดอนมากที่สุด ดังนั้น หากตามพื้นที่มีรอยแตก รอยต่อ อาจทำให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่เข้ามาได้ในอาคารบ้านเรือนได้” อ.ดร.รวิวรรณกล่าว

สำหรับการตรวจวัดก๊าซเรดอน อ.ดร.รวิวรรณ เผยว่า สามารถทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการใช้แผ่นฟิล์ม CR39 ซึ่งสามารถตรวจจับร่องรอยของอนุภาคแอลฟาที่ปลดปล่อยจากก๊าซเรดอน โดยการนำแผ่น CR39 ใส่ในอุปกรณ์ที่ยอมให้ก๊าซเรดอนผ่านเข้าไปได้ แล้วนำไปวางไว้ในบริเวณที่ต้องการตรวจสอบเป็นระยะเวลา 1–3 เดือน จากนั้นจึงนำแผ่นฟิล์มดังกล่าวมานับจำนวนร่องรอยและคำนวณค่าความเข้มข้นของเรดอนต่อไป วิธีนี้แม้จะใช้เวลานานและต้องวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีข้อดีคือมีต้นทุนต่ำ

อีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการใช้เครื่องวัดก๊าซเรดอนแบบเรียลไทม์ คือ เครื่อง RAD7 ซึ่งสามารถดูดอากาศเข้ามาตรวจวัดและแสดงค่าความเข้มข้นของเรดอนได้ทันที นอกจากนี้ เครื่อง RAD7 ยังสามารถใช้ตรวจวัดก๊าซเรดอนในตัวอย่างน้ำได้อีกด้วย โดยเฉพาะน้ำจากใต้ดิน เช่น น้ำบาดาลหรือน้ำพุร้อน ซึ่งมักพบว่ามีปริมาณก๊าซเรดอนสูง

ในกรณีที่ต้องการวัดระดับก๊าซเรดอนใต้พื้นดินเพื่อใช้ในระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า สามารถใช้เครื่องวัดชนิดพิเศษที่เรียกว่า RAD in soil ซึ่งทำงานโดยการนำอุปกรณ์ลงไปในชั้นดินเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณก๊าซเรดอน ซึ่งในบางกรณีสามารถใช้เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้การเกิดแผ่นดินไหวได้

“ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีเครื่องวัดที่ทันสมัยครบครัน เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่มีระบบสอบเทียบความเข้มข้นกัมมันตภาพของเรดอน พร้อมให้บริการตรวจวัดปริมาณเรดอนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการให้บริการการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรดอนในอาคาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวลแก่ประชาชน”      อ.ดร.รวิวรรณ กล่าว

รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำถึงการป้องกันอันตรายจากก๊าซเรดอนว่า สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก่อนที่เหตุการณ์ผิดปกติจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสะสมของก๊าซภายในอาคาร แนวทางพื้นฐานที่สามารถทำได้ทันที คือ การเปิดหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศให้มีการถ่ายเทอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชั้นล่างหรือบริเวณที่ติดกับพื้นดิน ซึ่งมีแนวโน้มที่ก๊าซเรดอนจะแพร่ผ่านเข้ามาได้มากกว่าชั้นบน

“การเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเป็นประจำจะช่วยลดการสะสมของก๊าซเรดอนได้ หากเกิดพบรอยแตกหรือรอยร้าวบริเวณพื้นหรือผนังบ้าน ควรเปิดหน้าเพื่อระบายอากาศ และรีบซ่อมแซมรอยแตกหรือรอยร้าวต่างๆ ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเรดอนจากพื้นดินหรือจากพื้นผิวของรอยแตกแพร่ผ่านเข้ามาภายในบ้านได้”

ในกรณีของบ้านที่มีใต้ถุนหรือยกพื้นสูง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับก๊าซเรดอนจากพื้นดินโดยตรง แนวทางป้องกันที่ทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนไม่สูง คือการใช้วัสดุปิดพื้น เช่น เสื่อน้ำมัน หรืออุปกรณ์ปูพื้นที่หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ปูทับบริเวณพื้นดินใต้ถุนบ้าน เพื่อช่วยลดการแทรกซึมของก๊าซขึ้นสู่พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน

รศ.นเรศร์ ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ในระดับประเทศควรมีการพัฒนาเครือข่ายสำหรับศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดแผ่นดินไหวควบคู่กับการตรวจวัดก๊าซเรดอนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ และจัดให้มีระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความพร้อมในการเผชิญเหตุและป้องกันภัยพิบัติในอนาคตอย่างยั่งยืน

สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะตรวจวัดระดับก๊าซเรดอนในอาคารบ้านเรือนหรือในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง สามารถติดต่อขอรับบริการ ได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ เทคนิคการตรวจวัด และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

ติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือ E-mail: [email protected]

รู้เท่าทันก๊าซเรดอน ภายหลังเหตุแผ่นดินไหว อาจารย์วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ แนะตรวจปริมาณเรดอนที่อาจแทรกผ่านรอยแยกอาคารได้

อ่านเพิ่ม
Sidebar
The Palm (copy)
บทความล่าสุด
“โพรโพลิซ” สร้างปรากฏการณ์วันเสียงโลก ปล่อยแคมเปญ ‘Propoliz Day Empower Your Voice’ จัดโรดโชว์ส่งไอเทมสเปรย์ เม็ดอม สนับสนุนการดูแลและการใช้ ‘เสียง’อย่างมั่นใจ
ข่าวสาร
“ซันคิส ซัมเมอร์ บลิส” ชวนคุณพักผ่อนในพูลสวีตสุดหรู พร้อมความเป็นเลิศด้านการให้บริการ กับรางวัล Traveler’s Choice Best of The Best 5 ปีซ้อน ณ โรงแรมเคปนิทรา หัวหิน
ข่าวสาร
Group-IB ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเทศไทย
ข่าวสาร
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร” ห่วงผู้สูงวัยไร้แผนบั้นปลาย ชี้สังคมไทยต้องเรียนรู้ “การตายอย่างมีระบบ”
ข่าวสาร
กรุงศรี มอเตอร์ไซค์ เร่งเครื่องแรงครองแชมป์สินเชื่อสองล้อ ดันยอดสินเชื่อโต 10% พร้อมเดินหน้าสร้างโอกาสให้ทุกคนมีรถขับ
ข่าวสาร
รีวิวโครงการ
รีวิว เคฟ เพลย์กราวด์ ลาดพร้าว-บดินทรเดชา (Kave Playground Ladprao-Bodindecha) คอนโดใหม่ Fully Furnished ติดบดินทรเดชาฯ ส่วนกลางจัดเต็ม 60 รายการ และโซน Pet-Friendly แยกตึก
Sponsor
รีวิว ศุภาลัย เลค วิลล์ จันทบุรี (Supalai Lake Ville Chanthaburi) บ้านหรูสไตล์ Tropical Modern ใจกลางธรรมชาติริมทะเลสาบกว่า 10 ไร่ พร้อมฟังก์ชันครบครัน รองรับชีวิตระดับพรีเมียมในทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดของจันทบุรี
Sponsor
รีวิว ศุภาลัย ริเวอร์ วิลล์ ระยอง (Supalai River Ville Rayong) บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Modern Tropical Series ฟีลดีติดริมแม่น้ำ ทำเลคุณภาพใจกลางเมืองระยอง
Sponsor
รีวิว ศุภาลัย เบลล่า พระราม 2-วงแหวน ครบครันทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ดีไซน์ใหม่ ฟังก์ชันครบ ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองยุคใหม่ในโซนพระราม 2-สมุทรสาคร
Sponsor
รีวิว ศุภาลัย วิลล์ ปิ่นเกล้า-ศาลายา บ้าน Design ใหม่ พื้นที่ใหญ่ ฟังก์ชันครบ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ทุก Lifestyle เป็นส่วนตัวเพียง 66 แปลง ส่วนกลางครบครัน บนทำเลที่โดดเด่น โซนปิ่นเกล้า-ศาลายา
Sponsor
Loading..