นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนในปี 68 ว่า สนพ. ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมดูแลสุขภาพประชาชน สื่อสารเตือนภัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะอากาศร้อน และเตรียมความพร้อมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center: PHEOC) กรณีความร้อน โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ ส่งเสริมความรู้ประชาสัมพันธ์ แนะนำประชาชนดูแลตนเอง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่า มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคลมแดด หรือภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งประชาชนสามารถป้องกันตนเอง โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากสามารถเลี่ยงได้ควรเลือกเวลาที่ทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ดื่มน้ำให้เพียงพอ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ส่วนวิธีสังเกตอาการโรคลมแดด ขอให้ระวังหากเกิดอาการตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 40-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก มีอาการเวียนหัว เป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง หรือเป็นลมหมดสติ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก และใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ป่วยที่หมดสติและไม่หายใจให้ โทร. 1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเข้ารับการรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และทำ CPR ผู้ป่วย ณ บริเวณนั้น แต่กรณีผู้ป่วยยังสามารถหายใจได้ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มและคลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก ร่วมกับเช็ดตัวด้วยผ้าเย็น หรือฉีดสเปรย์ เพื่อระบายความร้อน ร่วมกับการเปิดพัดลมได้ และขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารสะอาดและถูกสุขอนามัย สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงแดดจัด ล้างมือให้สะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่ายกายสดชื่นแข็งแรง ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านทาง Facebook/TikTok สำนักการแพทย์ กทม. หรือปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้เตรียมรับมือรองรับสถานการณ์ความร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยสุขภาพจากความร้อนของ สนอ. ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 พ.ค. 68 โดยเฝ้าระวังสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อน สื่อสารเตือนภัยสุขภาพจากความร้อน ให้ความรู้แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง รวมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานเขตให้ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ข่าวสารให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน