การแจ้งเกิดตลาดนัดแหล่งชอปปิงของคนเมืองในยุคนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากจากทั้งคนในพื้นที่ใกล้เคียงกับตลาด ไปจนถึงคนที่อยู่ไกลออกไปแต่อยากมาสัมผัสบรรยากาศของการเดินชอปสินค้าและอาหารอร่อยกันเป็นจำนวนมากในทุกวัน
ตลาดนัดสร้างเงิน
โมเดลธุรกิจตลาดนัดเติบโตอย่างมากจากกระแสโซเชียลที่สร้างสีสันของจุดขาย และการเป็นแหล่งรวมอาหารการกินและเสื้อผ้าของใช้ในราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายเมื่อเทียบกับห้างสรรพสินค้า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอากาศร้อนที่ไม่มีแอร์เย็นฉ่ำไว้คอยให้บริการ ทำให้ตลาดนัดแหล่งชอปปิ้งของคนเมืองในยุคคนี้คึกคักอย่างมากในช่วงเวลาตอนค่ำไปจนถึงดึก
การเดินทางเข้าถึงตลาดนัดที่ง่ายและสะดวกสบายมีความสำคัญไม่แพ้กับจุดเด่นของสินค้าที่นำมาขายในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น JODD FAIRS (จ๊อดแฟร์) ตลาดนัดกลางคืนหลังเซ็นทรัลพระราม 9 ที่เดินทางได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้า ข้ามมาอีกฝั่งของเส้นพระราม 9 เป็นตลาดดิวัน รัชดา เดอะวันรัชดาไนท์มาเก็ต (หลังเอสพลานาด รัชดา)
ในกรุงเทพฯ ยังมีตลาดจตุจักรตอนกลางคืน และ ตลาดรถไฟศรีนครินทร์ เป็นอีกสีสันของการชอปปิ้ง ย่านจตุจักร และศรีนครินทร์ ถ้าเป็นย่านฝั่งธน บางพลัด จะมี ช่างชุ่ย (ChangChui Creative Park) ที่เป็นศูนย์รวมผู้คนของย่านให้มาพบปะ และใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นโซนรามอินทราคงต้องยกให้ตลาดเลียบด่วน ที่ลูกค้าสามารถรับประสบการณ์ได้ครบด้วยสินค้าที่หลากหลาย ทั้งกินดื่ม อาหาร และเดินเล่นเอาบรรยากาศ
เช่าพื้นที่-บริหาร-สร้างแบรนด์
ขอบคุณรูปภาพจาก facebook: JODD FAIRS : จ๊อดแฟร์
การสร้างตลาดนัดให้เป็นแหล่งชอปยอดฮิตของคนเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยส่วนผสมทางการตลาดและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก จ๊อดแฟร์ (JODD FAIRS) เป็นหนึ่งในตลาดนัดที่สร้างมิติได้ครบทั้งทำเล การดึงดูดธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ให้เลือกเช่าพื้นที่ขาย ทำให้ภาพรวมของตลาดสามารถสร้างความหลากหลายได้ดีจนเป็นที่พูดถึงปากต่อปาก พร้อมกับเล่นกับกระแสโซเชียลได้อย่างมีชั้นเชิงทำให้แบรนด์ “จ๊อดแฟร์” เป็นแบรนด์ที่คนติดตาติดใจ ไม่ว่าจะหมดสัญญาพื้นที่เช่าตลาดจากจุดหนึ่ง แล้วโยกไปอีกจุดทุกคนที่พร้อมจะไป เช่น จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต ที่เปิดตัวใหม่หลังหมดสัญญาพื้นที่กับอีกทำเล
ตลาดเกิดใหม่
โอกาสในการสร้างธุรกิจในโมเดลตลาดนัดน่าจะเกิดขึ้นอีกมากในปีนี้ น่าจะมาจากเจ้าของที่ดินอาจจะรอการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยออกไปเพื่อดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ดอกเบี้ยขาขึ้น ก็เป็นอีกส่วนให้ขึ้นโครงการใหม่ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง แต่การถือที่ดินเปล่าในมือไว้แล้วยังไม่ได้พัฒนาอะไรนับเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจเหมือนกัน กฎหมายกำหนดว่า ที่ดินแปลงที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี จะถูกเรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 0.30% และเพิ่มขึ้นอีก 0.30% ทุก ๆ 3 ปี หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยอัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 3%
ที่ดินรกร้าง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์จะเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าตั้งแต่ 0.3-0.7% ยกตัวอย่าง
- ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3% เท่ากับเสียภาษีล้านละ 3,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4% เท่ากับเสียภาษีล้านละ 4,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5% เท่ากับเสียภาษีล้านละ 5,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6% เท่ากับเสียภาษีล้านละ 6,000 บาท
- ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7% เท่ากับเสียภาษีล้านละ 7,000 บาท
การปล่อยพื้นที่ให้คนเข้ามาเช่าแล้วบริหารประโยชน์ แล้วรอรับรายได้ค่าเช่าในช่วงของการรอพัฒนาโครงการใหม่ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และอาจจะได้ ROI หรือ Return on Investment ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่าการเสี่ยงลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน