หลักหมุดที่ดิน เป็นสิ่งที่แสดงแนวเขตที่ดินนั้น ๆ โดยจะมีการปักหมุดที่ดินลงไปในที่ดิน บริเวณแนวเขตที่ดินทั้ง 4 ด้าน เพื่อแสดงอาณาเขตโดยรอบของที่ดินผืนนั้นทั้งแปลง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี หลักหมุดที่มีการดำเนินการปักลงไปในพื้นดินนั้นก็อาจถูกเคลื่อนย้ายหรือหลักหมุดที่ดินหายไปได้ ทำให้เกิดปัญหา เพราะเราไม่ทราบว่าแนวเขตที่ดินของเราอยู่ที่ตรงไหนบ้าง วันนี้ Homeday เลยนำวิธีแก้ไขสำหรับคนที่กำลังเจอกับปัญหานี้มาฝากกัน
หลักหมุดที่ดิน คืออะไร มีลักษณะอย่างไร?
หลักหมุดที่ดิน มีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีตขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นวงกลม ซึ่งภายในวงกลมจะมีการลงตัวอักษรต่าง ๆ ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ที่แสดงถึงความเป็นแนวเขตที่ดินที่ตรงตามเลขระวางในโฉนดที่ดิน โดยจะมีการปักหมุดไว้บริเวณแนวเขตทั้ง 4 ด้านของที่ดิน ซึ่งหลักหมุดนี้แม้จะมีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีต ไม่ใช่เอกสารที่เป็นแผ่นกระดาษ แต่ตามกฎหมายแล้ว หลักหมุดที่ดิน ถือว่าเป็นเอกสารมหาชน ที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ อันเป็นไปตามข้อความที่ปรากฎในเอกสารนั้น ดังนั้นเมื่อเป็นเอกสารมหาชนก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือทำลายได้ หากมีการทำลายหลักหมุดหรือเคลื่อนย้ายโดยไม่มีอำนาจ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย มีความผิดตามกฎหมายอาญา
หลักหมุดที่ดินหาย ต้องทำอย่างไร?
1. แจ้งเจ้าพนักงานที่ดิน
เมื่อหลักหมุดที่ดินหาย ให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ไปรังวัดแนวเขตที่ดินของเราและขอให้ปักหมุดที่ดินใหม่ โดยเราสามารถกรอกคำร้องตามแบบฟอร์มของสำนักงานที่ดิน
2. นัดวันเพื่อดำเนินการรังวัดที่ดิน
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องเรื่องกรณีหลักหมุดที่ดินหาย ก็จะนัดวันเพื่อดำเนินการรังวัดที่ดินให้ โดยมีขั้นตอนคือ เจ้าพนักงานที่ดินจะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทราบถึงวันและเวลาที่จะไปดำเนินการรังวัดที่ดิน เพื่อให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทราบว่าจะมีการไปรังวัดและปักหมุดที่ดินใหม่ เพื่อให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงนั้นไประวังแนวเขตที่ดินของตน
3. เจ้าหน้าที่ดำเนินการรังวัดที่ดินและปักหมุดใหม่
เมื่อถึงวันออกรังวัดแนวเขตที่ดินและปักหมุดใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินก็จะมีการยิงระวางภาพถ่ายทางอากาศและดำเนินการรังวัดแนวเขตที่ดิน พร้อมกับปักหมุดใหม่ให้ และให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเซ็นในเอกสารรับทราบและไม่คัดค้านการดำเนินการรังวัดที่ดินและปักหมุดใหม่นี้ แต่หากเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ยินยอม ก็จะต้องดำเนินการยื่นคำคัดค้านต่อสำนักงานที่ดินนั้นภายในระยะเวลา 30 วัน และหากยื่นคำคัดค้านแล้วเจ้าพนักงานที่ดินยังคงยืนยันการรังวัดและปักหมุดตามเดิมอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้น
เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี หลักหมุดที่เคยปักอยู่ในที่ดินอาจถูกเคลื่อนย้าย หรือหลักหมุดที่ดินหาย จากการถูกสิ่งแวดล้อม หรือที่ดินบดบัง ดังนั้นเมื่อเราหาหลักหมุดไม่พบ ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ได้
หากรู้ว่าหลักหมุดที่ดินหาย ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะมีผลต่อการซื้อขายที่ดินต่อไป หรือแม้การถูกแย่งการครอบครองที่ดินของเราตามหลักการครอบครองที่ดินปรปักษ์ อีกทั้งหากที่ดินมีการซื้อ-ขาย หรือจำหน่าย จ่าย โอน เปลี่ยนมือกันไปหลายทอด การที่หลักหมุดที่ดินหาย หรือไม่ปรากฏหลักหมุดที่ชัดเจนแน่นอน ก็สามารถส่งผลให้มีปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งหากมีการปักหลักหมุดใหม่ที่ไม่เป็นไปตามที่ดินที่ได้รับโอนมา ก็อาจทำให้ต้องมีการเพิกถอนการจำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินนั้นได้อีกหลายทอด ซึ่งก็ต้องระมัดระวังกันด้วย