
ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันสารทจีน ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ในปี พ.ศ. 2564 วันสารทจีน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม ตามปฏิทินจีนโบราณ เดือน 7 ถือเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลาน จะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และยังเป็นเวลาที่ประตูนรกเปิดให้บรรดาภูตผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้อาถรรพ์ ชาวจีนจึงมีการเซ่นไหว้ด้วยของไหว้ที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแต่มีความหมาย ได้ปฏิบัติสืบกันมาอย่างเนิ่นนาน แอดมินจึงได้รวบรวมของไหว้ที่มีความหมายมงคลในวันสารทจีน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

ของไหว้ในวันสารทจีน
ของไหว้ที่ใช้ในวันสารทจีน จะคล้ายกับของที่ใช้ไหว้วันตรุษจีน ซึ่งหลักๆ จะจัดตามดังนี้
– ซาแซ (เนื้อสัตว์ 3 อย่าง) มักจะจัดคู่กับ ซาก้วย (ผลไม้ 3 อย่าง)
– โหงวแซ (เนื้อสัตว์ 5 อย่าง) มักจะจัดคู่กับ โหงวก้วย (ผลไม้ 5 อย่าง)
ในส่วนของขนม ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ซาลาเปา กับขนมเข่ง ส่วนขนมเทียน และขนมเปี๊ยะจะใช้ หรือไม่ใช้ก็ได้ และไม่นิยมใช้ขนมจันอับมาไหว้ในวันสารทจีน

ของคาวที่นิยมใช้ในวันสารทจีน
• ไก่ — ต้องมาครบทั้งตัว ปีกไม่หัก หนังสวยงาม (ไม่ถลอก) และมีเครื่องในอยู่ครบ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะ ‘ตับ’ ที่มีรูปทรงคล้ายหมวกขุนนางจีน แสดงถึงอำนาจวาสนา
• เป็ด — นิยมต้มพะโล้ทั้งตัว เป็ดอยู่ได้ทั้งบนบก และลอยในน้ำ สื่อถึง ความสามารถหลากหลาย และความสะอาด หรือสิ่งบริสุทธิ์
• หมู — เนื้อหมูสามชั้น หรือ ‘ขาหมูพะโล้’ ก็ได้ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ ที่นิยมไหว้ด้วย ‘ขาหมูพะโล้’ เพราะดูแล้วมีลักษณะคล้าย ‘ก้อนทอง’ ยิ่งทวีความเป็นมงคล
• ปลา — คนจีนแต้จิ๋วเรียก ‘ปลา’ ว่า ‘ฮื้อ’ พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า ‘เหลือเฟือ’ ปลาสำหรับชาวจีนจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มีโชคลาภ เหลือกินเหลือใช้ และประสบความสำเร็จ
• กุ้ง — เมื่อลวกสุกแล้วมีสีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคลกับชีวิต เสริมบารมี
• ปู — หมายถึงการมีชื่อเสียง บารมี เพราะมีราคาแพง เปรียบเสมือนอาหารของฮ่องเต้
• ปลาหมึก — สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้

ผลไม้ที่นิยมใช้ในวันสารทจีน
• ส้ม — หมายถึงความโชคดี ร่ำรวย ชาวจีนเรียกส้มว่า “ไต้กิก” “ไต้” แปลว่า ใหญ่ “กิก” แปลว่า มงคล ส้มจึงมีความหมาย ‘มหาสิริมงคล’
• กล้วย — แตกหน่อง่าย มีผลเป็นเครือมากมาย หมายถึง ความสำเร็จ มีบริวารดี มีลูกหลานสืบสกุล
• สับปะรด — ในภาษาชาวจีนแต้จิ๋วเรียก “อั่งไล้” “อั่ง” แปลว่า สีแดง “ไล้” แปลว่า เรียกมาหา จึงมีความหมายถึงการกวักโชคกวักลาภให้เข้ามา
• องุ่นแดง — เอาเคล็ดเรื่องสี หมายถึง ความร่ำรวย ชื่อยังพ้องเสียงกับคำว่า “ผูเถา” หมายถึง ความเจริญงอกงาม และมีอายุยืน
• ลูกพลับ —หมายถึง ความหนักแน่นมั่นคง จิตใจเข้มแข็ง จึงสื่อถึงการผ่านพ้นอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น ความยั่งยืน มั่นคง และรุ่งเรือง
• แก้วมังกร — ความหมายดีทั้งชื่อ และสีสัน ภาษาจีนคือ “หั่ว หลง กั่ว” มีคำว่า “หลง (มังกร)” อยู่ในชื่อ มังกร ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และสีแดง คือ ความเป็นสิริมงคล
• แอปเปิลแดง — ภาษาจีนแมนดารินออกเสียง “ผิงกั่ว” “ผิง”แปลว่า ความสงบสุข แอปเปิ้ลแดง จึงมีความหมายว่า การมีชีวิตที่สงบสุข ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
• สาลี่ — หมายถึง โชคลาภ ความมั่นคง การพบเจอสิ่งดีๆ ในชีวิต
• ทับทิม — หมายถึง การมีบุตรที่ดี มีลูกชายมาก

ขนมหวานที่นิยมใช้ในวันสารทจีน
• ขนมเทียน — สื่อถึงชีวิตอันรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนแสงไฟ หรือแสงเทียน การมีชีวิตที่ดี ทำสิ่งใดก็ราบรื่น และมีความหวานชื่น
• ขนมเข่ง — รสหวานของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนความหวานชื่น การมีชีวิตที่ดี ราบรื่น และอุดมสมบูรณ์
• ซาลาเปา (หรือหมั่นโถว) — คำว่า ‘เปา’ แปลว่า ‘ห่อ’ จึงหมายถึง ห่อโชคลาภ หรือเงิน-ทองมาให้ลูกหลาน
• ขนมกุยช่าย — หมายถึง การมีชีวิตที่ยืนยาว การประสบพบเจอความโชคดี
• ขนมถ้วยฟู — สีสันสวยงาม เนื้อเบาฟูฟ่อง หมายถึง ชีวิตที่เจริญ เฟื่องฟู งอกงาม สมบูรณ์พูนสุข
• ขนมเปี๊ยะ — เป็นสัญลักษณ์ของความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ และความสมหวัง
• ขนมโก๋ — มักอยู่ในพิธีมงคลของจีน แป้งเนียนๆ รสหวาน แผ่นโต สื่อถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความร่ำรวย
วันสารทจีนสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีชีวิตอยู่ควรกระทำตัวให้เป็นบรรพบุรุษที่ดี ให้ลูกหลานเคารพ และกราบไหว้บูชาแม้ยามจากไป ยังดีกว่าจะรอให้คนทั่วไปมาเซ่นไหว้ตามข้างทาง และนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุน ให้ทุกคนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วยค่ะ