ปัญหาการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม เป็นปัญหาที่หลายคนหนักอก เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากส่วนไหนก่อนดี ยิ่งบ้านเสียหายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งปวดใจมากเท่านั้น เพราะสภาพบ้านภายในของเราจะเต็มไปด้วยขยะ กลิ่นเหม็น รอยคราบน้ำบนผนัง เชื้อราต่าง ๆ และปัญหาอื่น ๆ ที่กองอยู่ตรงหน้าอีกมากมาย แต่ไม่ต้องห่วงไปค่ะ สำหรับใครที่เก็บของหนีน้ำได้ทัน เหลือส่วนที่แช่น้ำไว้เพียงพื้น ประตู หน้าต่าง ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ทนน้ำ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับความเสียหายมากนักค่ะ เพียงแค่เราค่อย ๆ ซ่อมแซมไปทีละจุด บ้านของเราก็จะกลับมาเหมือนใหม่ได้ดั่งเดิม ยิ่งใครที่ติดตั้งบานประตูหน้าต่างไม้จริง, ใช้วัสดุพื้นบ้านที่ทนน้ำ, ก่อผนังด้วยอิฐแล้วล่ะก็ รับรองว่าเบางานซ่อมและเงินในกระเป๋าไปได้เยอะทีเดียวค่ะ ส่วนทั้ง 10 ขั้นตอน ในการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านต่อที่บทความนี้ได้เลยค่ะ
@homeday.co.th 🛠️10 ขั้นตอนซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม🏚️ #น้ําท่วม #ซ่อมบ้าน #ซ่อมบ้านน้ําท่วม #รีโนเวทบ้าน #รู้หรือไม่ #บ้านพัง #น้ําท่วมบ้าน ♬ Chill Vibes - Tollan Kim
1. เช็กไฟ ก่อนก้าวเท้าเข้าบ้าน
หากใครที่อาศัยอยู่ในบ้านตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะรู้กันอยู่แล้วค่ะ ว่าบ้านของเรานั้นมีการจ่ายไฟเข้ามาหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะมีไฟฟ้าใช้เสมอไป ดังนั้น ใครที่อพยพหนีน้ำท่วมไปพักที่อื่นเป็นการชั่วคราว ก่อนจะกลับเข้ามาสำรวจสภาพบ้าน ให้โทรสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่ก่อนค่ะ
- บ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้โทรสอบถามการไฟฟ้านครหลวงที่เบอร์ 1130
- บ้านในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ให้โทรสอบถามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เบอร์ 1129
หากมีการจ่ายไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่บ้านของเรา ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการสวมรองเท้ายางและถุงมือยาง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูด ตรวจสอบแผงไฟฟ้า ว่าได้มีการปิดคัทเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลักแล้วหรือยัง ถ้าพบว่ายังไม่ได้ปิด ให้รีบปิดทันทีค่ะ จากนั้นให้หาป้ายหรือเขียนใส่กระดาษเอาไว้ว่า “ห้ามจ่ายไฟ” ด้วยตัวหนังสือใหญ่เห็นชัดเจน และเพื่อความแน่ใจ ว่ามีระบบไฟฟ้าในจุดใดรั่วไหลหรือไม่ ให้ใช้ไขควงวัดไฟฟ้า วัดที่เต้ารับภายในบ้านด้วยค่ะ
2. ตรวจสอบระบบไฟฟ้า
- หลังจากทำการปิดคัทเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลักเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าและปิดสวิตซ์ไฟทั้งหมด
- หากมีหลอดไฟ ให้ถอดหลอดไฟออกมาตรวจเช็กดูว่าเปียกชื้นหรือไม่ หากเปียกชื้น ให้ทำการเช็ดทำความสะอาดให้แห้งสนิท จากนั้นใส่กลับคืนได้ตามปกติเลยค่ะ
- ส่วนสายไฟฟ้า ให้ตรวจดูว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เช่น แตก บวม ขาด หรือเปียก
- หากทุกอย่างปกติเรียบร้อยดี ให้ลองเปิดคัทเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลัก หากเกิดความผิดปกติ เช่น ฟิวส์ขาด, เบรกเกอร์ตัด, มีกลิ่นเหม็นไหม้ หรือมีประกายไฟ ให้รีบปิดทันที แล้วแจ้งช่างเข้ามาซ่อมค่ะ
- หากทุกอย่างปกติดี ให้ทำการตรวจสอบดูว่า แผงสวิตซ์และเต้ารับ ที่ถูกน้ำท่วมใช้งานได้หรือไม่ หากไม่สามารถเปิดไฟ หรือเมื่อใช้ไขควงวัดไฟที่เต้ารับแล้วไม่เกิดกระแสไฟ ก็แปลว่าสวิตซ์และเต้ารับนั้น ๆ ได้รับความเสียหายค่ะ ให้ติดต่อช่างเข้ามาซ่อมบำรุงได้เลย
- จากนั้น ให้เปลี่ยนจากข้อความ “ห้ามจ่ายไฟ” เป็น “จ่ายไฟแล้ว” เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาภายในบ้านคนอื่น ๆ ได้รับรู้ และระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น
- ‘อย่าเพิ่ง’ เปิดสวิตซ์ เสียบปลั๊ก หรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้านะคะ ให้ทำการตรวจเช็กมิเตอร์ไฟเสียก่อน หากเราสับคัทเอาต์เปิดแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ไฟฟ้า มิเตอร์จะต้องไม่หมุนค่ะ หากหมุน ก็แปลว่าน่าจะมีกระแสไฟฟ้ารั่วค่ะ ให้ทำการปิดคัทเอาต์ทันที และตามช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซมโดยด่วนค่ะ
3. ทำความสะอาดพื้นและผนัง
เมื่อระบบไฟฟ้าภายในบ้านปลอดภัยดีแล้ว ให้เราทำการขนเก็บขยะต่าง ๆ ออกจากบ้านให้เรียบร้อย ทำความสะอาดบริเวณพื้น ด้วยการราดน้ำ ขัดทำความสะอาด เอาดินโคลน และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกไปให้ได้มากที่สุด จากนั้นเริ่มต้นการทำความสะอาดผนัง ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ เช็ดทำความสะอาดคราบต่าง ๆ ที่เกาะอยู่
- คราบน้ำมัน ให้เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชูผสมเบกกิงโซดาในอัตรา 1:1 หรือใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดคราบไขมันสำหรับงานครัวก็ได้เช่นกันค่ะ
- คราบตะไคร่น้ำ เชื้อรา และเชื้อโรค ให้ใช้น้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคอลไรต์ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์) เช็ดล้างทำความสะอาดได้เลยค่ะ แนะนำให้สวมถุงมือยางในขั้นตอนนี้ด้วยนะคะ ไม่งั้นมือจะแสบร้อนและลอกได้
พยายามเปิดบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อระบายอากาศ และลดกลิ่นอับชื้นภายในบ้านด้วยนะคะ จะใช้สารดูดความชื้นหรือถ่าน วางไว้รอบ ๆ บ้านด้วยก็ได้เช่นกันค่ะ หากมีกลิ่นเหม็นเน่าจากท่อน้ำทิ้ง ให้เทน้ำหมักชีวภาพลงไปในบ่อพักน้ำ ก็ช่วยลดปัญหาได้ค่ะ
4. ตรวจสอบระบบน้ำ
เริ่มต้นจากการตรวจเช็กถังเก็บน้ำก่อนเลยค่ะ ตัวถังเก็บน้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ถังเก็บน้ำใต้ดินและถังเก็บน้ำบนดิน ซึ่งวิธีการตรวจสอบก็จะแตกต่างกันเล็กน้อยค่ะ
- ถังเก็บน้ำใต้ดิน มักมีเศษดินโคลน เข้าไปอยู่ด้านในตัวถัง ก่อนที่จะเริ่มการทำความสะอาดถัง หากน้ำในถังแห้ง ก็มีโอกาสที่ถังอาจจะรั่วได้ค่ะ แต่หากยังมีน้ำเหลืออยู่ในถัง ให้ทำการตรวจเช็กมิเตอร์น้ำประปาของเรา ว่าหมุนหรือไม่ หากเรายังไม่ได้เปิดใช้น้ำ แต่มิเตอร์มีการหมุน ก็แปลว่ามีการรั่วไหลของน้ำค่ะ แต่หากทุกอย่างปกติดี ให้เราทำความสะอาดตัวถังให้เรียบร้อย แล้วใส่น้ำลงไปใหม่ให้เต็มถัง ห้ามปล่อยให้ถังไม่มีน้ำนะคะ เพราะแรงกดใต้ดิน อาจทำให้ถังถูกบีบอัดจนเกิดความเสียหายได้
- ถังเก็บน้ำบนดิน ปัญหาจะค่อนข้างน้อยกว่าค่ะ มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับวัสดุของตัวถัง อายุการใช้งาน และระยะเวลาที่แช่อยู่ในน้ำเป็นหลักค่ะ ให้เช็กดูรอบตัวถัง ว่ามีการผุ แตก รั่ว ร้าว หรือไม่ หากทุกอย่างปกติดี ก็ให้ทำความสะอาดตัวถังให้เรียบร้อยค่ะ
หลังจากตรวจสอบถังเก็บน้ำเรียบร้อยแล้ว บ้านไหนที่มีปั๊มน้ำ ให้ทดสอบการใช้ปั๊มน้ำดูค่ะ แต่ต้องแน่ใจว่าปั๊มแห้งสนิทดีแล้วนะคะ บางบ้านน้ำท่วมขังอยู่ไม่นาน ใบพัดยังไม่เกิดสนิมก็สามารถเปิดใช้งานได้เลยตามปกติค่ะ แต่หากเปิดใช้งานปั๊มแล้ว พบว่ามีเสียงดังออกมาจากตัวเครื่องและน้ำไม่ไหล แสดงว่าใบพัดเป็นสนิมค่ะ ให้ทำการทดลองหมุนใบพัดดู เพราะบางครั้ง สนิมอาจจะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดใช้งานมาเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะติดขัดได้บ้างค่ะ แต่หากไม่สามารถหมุนได้เลย ให้ใช้น้ำมันหล่อลื่นช่วยค่ะ หากเปิดใช้งานแล้ว เครื่องไม่ทำงาน ก็ให้เรียกช่างเข้ามาเปลี่ยนตัวปั๊มได้เลยค่ะ
5. ซ่อมแซมห้องน้ำ
- ก่อนการทำความสะอาด ให้ตรวจเช็กสุขภัณฑ์ทั้งหมดภายในห้องน้ำให้เรียบร้อยค่ะ ว่ามีชิ้นใดที่แตก หัก รัวซึม หรือไม่ หากมี ให้ทำการเปลี่ยนชิ้นใหม่เลยนะคะ การซ่อมแซมด้วยการยาแนวต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยอะไรค่ะ ซ้ำอาจยังเป็นอันตรายในการใช้งานได้อีกด้วย
- หากสุขภัณฑ์ของเราปกติดี ก็ให้ทำความสะอาดห้องน้ำให้เรียบร้อยค่ะ ห้องน้ำที่แช่อยู่ในน้ำสกปรกเป็นเวลานาน จะเกิดคราบฝังแน่น ล้างทำความสะอาดค่อนข้างยากค่ะ ให้ใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงดันน้ำ ฉีดล้างทำความสะอาด และใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ช่วยลบรอยคราบอีกแรงหนึ่ง หรือหากไม่สะดวก ก็สามารถเรียกใช้บริการทำความสะอาดได้เช่นกันค่ะ
- ในระหว่างทำความสะอาด เราจะสามารถรับรู้ได้เลยค่ะ ว่าระบบน้ำทิ้งภายในห้องน้ำมีปัญหาหรือไม่ หากน้ำไหลลงท่อช้าผิดปกติ ก็แปลว่าอาจมีเศษขยะที่พัดมากับน้ำ เข้าไปติดอยู่ ให้ใช้น้ำหรือลมแรงดันสูง อัดล้างท่อของเรา เพื่อให้สิ่งที่ขวางทางอยู่หลุดออก หากน้ำยังคงระบายได้ช้าอยู่ ให้นำไม้แขวนเสื้อมาดัดปลายเป็นจะงอย แล้วล้วงเข้าไปเพื่อเกี่ยวเศษขยะออกมาอีกทีหนึ่ง
- หากชักโครกกดไม่ลง แปลว่าบ่อเกรอะมีน้ำอยู่เต็มถัง รวมถึงดินรอบ ๆ มีการอิ่มตัว ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ ให้เราเปิดบ่อเกรอะออก แล้วเช็กดูระดับน้ำ หากสูงกว่าระดับปกติ ให้ตามช่างเข้ามาดูดน้ำออกค่ะ แต่หากระดับน้ำปกติ อาจจะมาจากดินที่เปียก รอให้ดินแห้งสนิท แล้วลองกดน้ำใหม่ดูอีกครั้งค่ะ หากยังไม่สามารถกดน้ำได้ ก็ให้เรียกช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบค่ะ
6. ซ่อมแซมประตูและหน้าต่าง
- ประตูและหน้าต่าง ที่ทำมาจากไม้จริง ส่วนใหญ่แม้จะแช่น้ำเป็นเวลานาน ก็จะไม่เสียหายค่ะ แต่จะบวมอย่างแน่นอน ให้นำมาตากลมให้แห้งสนิท สัก 1-2 อาทิตย์ ก็จะคืนตัวได้เองค่ะ ส่วนบานประตูประเภทอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายทั้งหมดค่ะ หากแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน แต่หากไม่ได้อยู่ในน้ำนานมากนัก ประตูไม้บางชนิดก็สามารถทนต่อการแช่น้ำได้อยู่ค่ะ ส่วนประตูพลาสติก PVC ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบค่ะ หากประตูยังใช้งานได้ ก็ให้ซ่อมแซมในเรื่องของสีที่หลุดลอกให้เรียบร้อย หากวงกบไม้บวมเยอะ จนไม่สามารถปิดประตูได้ แม้ประตูจะหดตัวแห้งสนิทแล้ว ต้องนำออกมาไสตัวบานค่ะ
- ประตูเหล็กและประตูอลูมิเนียม ให้ทำการไล่น้ำที่ขังอยู่ในโครงสร้างวงกบและกรอบประตูออก จากนั้นซ่อมแซมรอยต่อต่าง ๆ ให้เรียบร้อย หากมีบานกระจกที่แตกเสียหาย ก็ให้ติดตั้งใหม่ จากนั้นทำการยาแนวและซ่อมแซมสีต่อได้เลยค่ะ
- ตรวจสอบกลอนและบานพับ ว่าเกิดสนิมหรือไม่ หากถูกสนิมกร่อนไปค่อนข้างเยอะ แนะนำให้เปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัยค่ะ แต่หากสนิมไม่ได้เกาะมากนัก รอให้แห้งสนิท ทำความสะอาดคราบสนิมออก และใส่สารหล่อลื่น เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
7. ซ่อมแซมพื้น
- พื้นคอนกรีต หากแตกเสียหาย ต้องทุบทิ้งทำใหม่ค่ะ
- พื้นเซรามิค พื้นหินอ่อน และพื้นแกรนิต ให้เคาะแต่ละแผ่นเพื่อเช็กดูว่ากระเบื้องหลุดร่อนออกมาหรือไม่ หากเคาะแล้วมีเสียงก้อง แสดงว่ากระเบื้องหลุดค่ะ ให้เรียกช่างมาซ่อมแซมแต่ละจุดได้เลย หากไม่มีกระเบื้องแผ่นใดหลุดออกมา ก็ให้ทำการซ่อมแซมกาวยาแนวใหม่ค่ะ
- พื้นไม้ปาเก้ ถึงแม้จะเป็นไม้แท้ และไม่ได้รับความเสียหาย แต่ก็จะบวม และหลุดออกจากพื้นคอนกรีตอยู่ดีค่ะ การจะนำกลับมาปูใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก ยกเว้นในกรณีที่น้ำท่วมขังไม่นานมากนัก และมีการหลุดเสียหายเพียงบางชิ้น ให้แจ้งช่างเข้ามาซ่อม เมื่อพื้นแห้งสนิทแล้วได้เลยค่ะ
- พื้นไม้ลามิเนต หากมีการบิดโก่งงอ ก็แนะนำให้รื้อปูใหม่ได้เลยค่ะ
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.nytimes.com
8. ซ่อมแซมผนังและฝ้าเพดาน
ผนัง
- หลังจากทำความสะอาดแล้ว ให้สำรวจความเสียหายค่ะ ผนังก่ออิฐ หากมีรอยแตกร้าวเล็ก ๆ ให้วัดขนาดของรอยเอาไว้ จากนั้นรอให้แห้งสนิท หากรอยมีขนาดเท่าเดิม ให้ทำการโป๊วอุดฉาบรอยร้าวได้เลยค่ะ แต่หากรอยมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีปัญหาในส่วนของโครงสร้าง ต้องเรียกวิศวกรโครงสร้างเข้ามาตรวจสอบ และซ่อมแซมตามคำแนะนำต่อไปค่ะ ทางด้านของสมาร์ทบอร์ด, ไม้อัดซีเมนต์, ไม้อัด และแผ่นยิปซั่ม หากโก่งงอ ให้รอวัสดุแห้งด้วยลมธรรมชาติ แล้วค่อยมาซ่อมแซมเฉพาะจุดเอาค่ะ หากเสียหายเยอะ ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้เลยค่ะ
- เมื่อทำความสะอาด ตรวจเช็กสภาพ และซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว อย่าเพิ่งทาสีทับนะคะ ควรปล่อยให้แห้งสนิทอย่างน้อย ๆ 3 เดือนขึ้นไปค่ะ ก่อนการลงสี ให้ทาน้ำยารองพื้นกันความชื้นและสีรองพื้นก่อนด้วยนะคะ
ฝ้าเพดาน
- ฝ้านอกบ้านที่เป็นไม้สมาร์ทวูดหรือสมาร์ทบอร์ด สามารถรื้อเปลี่ยนเฉพาะจุดที่ได้รับความเสียหายได้เลยค่ะ
- ฝ้ายิปซั่ม หากเสียรูป หรือเสียหาย ต้องรื้อเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดค่ะ
- โครงคร่าวเพดาน สามารถเปลี่ยนเฉพาะจุดที่เสียหายได้ค่ะ
9. ตรวจสอบสภาพกำแพงบ้าน
ให้ตรวจสอบว่ากำแพงหรือรั้วบ้านของเราเอียงหรือไม่ หากเอียงแม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบหาสิ่งค้ำยัน และแจ้งช่างเข้ามาซ่อมแซมในทันที แม้กำแพงของเราจะตั้งตรงตามปกติ แต่หากฐานรากมีช่องโหว่ ก็ควรอัดดินเสริมเข้าไปให้เต็มค่ะ ส่วนในเรื่องของการทำความสะอาดและซ่อมแซม ก็สามารถทำได้เหมือนกันกับผนังภายในบ้านเลยค่ะ
10. การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์
เฟอร์นิเจอร์ประเภทไม้แท้ที่จมน้ำอยู่เป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับความเสียหายค่ะ แต่จะมีการหลุดร่อนของสีเคลือบต่าง ๆ เป็นธรรมดา ให้รอจนกว่าไม้จะแห้งสนิทด้วยลมธรรมชาติ เมื่อแห้งสนิทแล้ว ให้ทำการขัด ทำสี หรือทาสีเคลือบไม้ใหม่ได้เลยค่ะ ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่น ๆ หากเสียหายค่อนข้างมาก ก็แนะนำให้ทำการเปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัยค่ะ บางวัสดุหากเสียหายเพียงเล็กน้อย ก็สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้ สามารถสอบถามช่างที่รับซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ได้เลยค่ะ
ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่มีการทำงานร่วมกับไฟฟ้า เช่น ตู้เสื้อผ้าพร้อมไฟอัตโนมัติ, โต๊ะหนังสือพร้อมปลั๊กไฟ, เตียงพร้อมโคมไฟหัวเตียง, โต๊ะเครื่องแป้งพร้อมไฟในตัว ให้ทำการตรวจเช็กไฟฟ้าด้วยไขควงวัดไฟ หากไฟไม่ทำงาน แปลว่าระบบไฟฟ้าด้านในได้รับความเสียหาย ให้ทำการซ่อมแซมเฉพาะจุดได้เลยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับทั้ง 10 ขั้นตอนการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมที่เรานำมาฝากทุกคนกัน รายละเอียดค่อนข้างเยอะใช่มั้ยล่ะคะ เพราะบ้านหลังใหญ่ ก็ย่อมมีจุดที่ต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างเยอะเป็นธรรมดาค่ะ หากใครที่เตรียมตัวไม่ทัน ในสถานการณ์น้ำครั้งต่อไปที่อาจจะมาถึง โดยเฉพาะในหน้าฝน ให้ติดตามข่าวสาร และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัว เก็บข้าวของขึ้นที่สูงให้ทัน ก็จะลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหลังน้ำท่วมไปได้เยอะเลยค่ะ