การนอนหลับเป็นกระบวนการที่สำคัญของร่างกายสำหรับมนุษย์ ในการพักผ่อนและฟื้นฟูการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ และเพราะมนุษย์ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ชีวิตในการนอนหลับ การนอนหลับจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่า การนอนที่ดีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรับประทานอาหารที่ดี หรือการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และการนอนหลับที่ดีอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
มีหลายการศึกษาพบว่าระยะเวลาในการนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือมากเกินไปส่งผลถึงอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อาการผิดปกติจากการนอน อาจส่งผลกระทบถึงการทำงาน การตอบสนองต่างๆ การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลถึงด้านสุขภาพจิตอีกด้วย
เพราะการนอนสำคัญกว่าที่คิด
ติดซีรีย์จนนอนดึก อ่านหนังสือ ทำงานจนดึก ไม่มีเวลานอน มักจะเป็นเรื่องที่ได้ยินกันเป็นปกติในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะไม่ตระหนักก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน หรือแม้แต่การนอนที่ไม่เป็นเวลาอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด โดยที่หากนอนไม่หลับเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าถึง 4 เท่า และยิ่งไปกว่านั้น การนอนหลับไม่เพียงพอจะก่อให้เกิดผลเสียในหลาย ๆ ด้าน เช่น มีอาการง่วงนอนมากเวลากลางวัน อารมณ์ผิดปกติ หรือหงุดหงิดง่าย น้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจช้า ทำงานผิดพลาด มีผลต่อความจำ เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังพบว่า ทำให้เพิ่มอัตราการเสียชีวิต เพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้ และถึงแม้ว่าจะใช้การนอนชดเชยหลังอดนอน ก็ไม่สามารถทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ในทันที
รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก” หรือ “The World Sleep Day” เป็นกิจกรรมที่คณะผู้จัดงานจากทั่วโลกและศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ดำเนินงานให้บริการรักษาผู้มีปัญหาการนอนหลับทุกรูปแบบมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดขึ้นเพื่อต้องการให้ทั่วโลกได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของ “การนอนหลับ” อย่างมีคุณภาพ
โดยที่ในปีนี้ กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลก 2566” จัดงานภายใต้แนวคิด การนอนเป็นสิ่งสำคัญ นอนดีทุกวันสุขภาพแข็งแรง : Sleep is Essential for Health เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยเงียบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนไม่หลับหรือการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงแนวทางการป้องกันภาวะนอนไม่หลับและโรคที่เกิดจากการนอน และวิธีการนอนหลับให้มีคุณภาพซึ่งจะเกิดประโยชน์กับร่างกายอย่างมาก อาทิ ช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะโดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือดได้พักผ่อน ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย สารเคมีในร่างกายให้เกิดสมดุลที่เป็นปกติ ที่สำคัญช่วยจัดระเบียบความจำให้เป็นระบบได้อีกด้วย วันนอนหลับโลกของทุกปีจะตรงกับวันศุกร์ก่อนวันวสันตวิษุวัต (หรือวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน) ในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มีนาคม ในปี 2566 นี้
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยตระหนักถึงปัญหาการนอนไม่หลับซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะส่งผลกับสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทางกายและทางอารมณ์จิตใจ ทางโรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญกับการรักษาผู้มีปัญหาด้านการนอนเป็นอย่างมากผ่านศูนย์นิทราเวชที่ได้พัฒนาการให้บริการและส่งเสริมการให้ความรู้ที่ถูกต้องผ่านการจัดกิจกรรม จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกปี มีผู้ให้ความสนใจและมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน โดยในปีนี้มีความพิเศษคือ มีการให้บริการให้คำปรึกษาด้านการนอนหลับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย”
ไขข้อข้องใจ ให้ความรู้ ทุกปัญหาการนอนหลับ
กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกปี 2566” ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ อาทิ นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการนอน เช่น “ปัญหาที่ทำให้นอนไม่หลับ!” “การนอนกับสุขภาพร่างกายมีผลต่อกัน” “สุขภาพใจแบบใดมีผลต่อการนอนหลับ” “นาฬิกาชีวิตไม่ถูกใจสิ่งนี้!” “หยุดหายใจขณะหลับ เรื่องไม่เล็กที่อาจเกิดได้โดยไม่รู้ตัว” “ภาวะนอนกรน สัญญาณอันตรายที่พบบ่อย และคนข้างกายอาจรำคาญ!” “‘หลับตาซิที่รัก’ เทคนิคผ่อนคลายให้หลับสบายมีคุณภาพ” “พบแพทย์ พบคำปรึกษา หาหนทางเพื่อการนอนอย่างเป็นสุข” และ “สร้างสุขภาวะที่ดี และบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการนอนหลับ” รวมถึงการจัดแสดงวิดีทัศน์บอกเล่าประสบการณ์ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคจากการนอนหลับแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งไฮไลท์พิเศษของการจัดงานในปีนี้ คือการจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกตรวจพร้อมให้คำปรึกษากับผู้มีปัญหาเรื่องของการนอน โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้มีอาการ โรคนอนไม่หลับ (insomnia) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และปัญหาการใช้งานเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) จบงานสัปดาห์วันนอนหลับโลกด้วยการเสวนาให้ความรู้ตลอดทั้งวัน ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาแบ่งปันเทคนิคในการทำให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ เช่น โยคะฝึกลมหายใจ และออกกำลังกายเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เครือข่ายให้การสนับสนุน คนเข้าร่วมงานคับคั่ง
กิจกรรม “จุฬาฯ สัปดาห์วันนอนหลับโลกปี 2566” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่งตลอดสัปดาห์และได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องที่ทำให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเครือข่ายให้การสนับสนุนและเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้แทนอธิบดีกรมอนามัย, รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และ นพ.สุธรรม เศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนเบญจกิติ 84 พรรษา
นพ.สุธรรม เศรษฐวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน พบว่า ผู้ที่มีปัญหาจากการนอนหลับ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การนอนกรน การมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การนอนไม่หลับ หรือหลับยาก ส่งผลทำให้มีจำนวนผู้เข้ามารับบริการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้คิวเข้ารับการตรวจ Sleep Test ที่ศูนย์นิทราเวชฯ มีจำนวนมากและรอคิวค่อนข้างนาน จึงเกิดโครงการร่วมกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ 84 พรรษา เพื่อส่งต่อผู้เข้ารับบริการไปรับการตรวจ Sleep Test ทำให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานเช่นเดียวกับการเข้ารับบริการที่ศูนย์นิทราเวชฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยตรง เนื่องจากค่าใช้จ่ายสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์ได้ตามปรกติ มีค่าบริการเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1,000 บาท เพื่อแลกกับการลดเวลารอคิว ทำให้มีเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้บริการที่ต้องการความรวดเร็วและไม่ต้องการรอนาน”
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ https://web.facebook.com/sleepcenterchula หรือ สนใจเข้ารับการตรวจที่คลินิกตรวจการนอนหลับพรีเมียม ติดต่อที่ 02-649-4037 Line id : @392mkjrr