เดินทางมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการแม้จะมีการฟื้นตัวในบางกลุ่ม ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังปรับลงไม่มากเท่าที่ควร เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ความต้องการในตลาดลักซ์ชัวรีและโครงการพัฒนาในทำเลที่มีศักยภาพยังคงเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนรายใหญ่ที่มีความพร้อมในการลงทุนและกลยุทธ์การพัฒนาที่เหมาะสม ทำให้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ ยังคงทำรายได้ 9 เดือนที่ผ่านมาได้เป็นไปตามเป้า โดย แสนสิริ รั้งอันดับ 1 กวาดรายได้สูงสุด ตามด้วย เอพี ไทยแลนด์ และ ศุภาลัย
รวบรายชื่อ 11 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ท็อปฟอร์ม 9 เดือนที่ผ่านมา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้รวบรวมผลประกอบการ 9 เดือน ในปี 2567 ของ 11 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า แต่ละบริษัท มีตัวเลขกำไร รายได้ และอัตราการเติบโตมากน้อยเพียงใด สะท้อนกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกัน และสิ่งนี้ส่งสัญญาณให้ต้องจับตาอะไรต่อไปในตลาดอสังหาฯ ช่วงท้ายปีไปจนถึงต้นปี 2568
อันดับ 1 แสนสิริ รายได้รวม 28,877 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,009 ล้านบาท แสนสิริมีรายได้รวม อยู่ที่ 28,877 ล้านบาท โตขึ้น 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และกำไรสุทธิ 4,009 ล้านบาท ลดลง 15.8% เนื่องจากปีที่แล้วมีการบันทึกกำไรพิเศษ ทั้งนี้ รายได้จากการขายโครงการในไตรมาส 3 สัดส่วน 2 ใน 3 ยังคงมาจากโครงการแนวราบ โดยมีรายได้หลักมาจากโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรีและซูเปอร์ลักซ์ชัวรีที่แสนสิริเป็นเจ้าตลาด
อันดับ 2 เอพี ไทยแลนด์ รายได้รวม 28,049 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,727 ล้านบาท เอพี ไทยแลนด์ มีรายรวม 28,049 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,727 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 3% จาก 28,921 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 21 % จาก 4,719 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าแนวราบยังคงเป็นโปรดักต์ไฮไลต์ของเอพี ไทยแลนด์
อันดับ 3 ศุภาลัย รายได้รวม 22,792 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,201 ล้านบาท ศุภาลัย สร้างรายได้รวมที่ 22,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จาก 21,538 ล้านบาท และได้กำไรสุทธิ 4,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จาก 3,972 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ และคอนโดมิเนียม
อันดับ 4 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ รายได้รวม 20,419 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,898 ล้านบาท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้รวม 20,419 ล้านบาท ผลงานกำไรสุทธิ 2,898 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 4.1% จาก 21,289 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 27.4% จาก 3,989 ล้านบาท
อันดับ 5 พฤกษา รายได้รวม 15,607 ล้านบาท กำไรสุทธิ 753 ล้านบาท พฤกษา มีรายได้ 15,607 ล้านบาท ลดลง 21.6% กำไรสุทธิลดลง 63.9% เหลือ 753 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,082 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง
อันดับ 6 เอสซี แอสเสท รายได้รวม 14,688 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,220 ล้านบาท เอสซี แอสเสท ทำรายได้รวม 14,688 ล้านบาท ลดลง 7.2% จาก 15,821 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,220 ล้านบาท ลดลง 25.2% จาก 1,631 ล้านบาท โดยรายได้หลักจากการขายมาจากรายได้ของแนวราบที่เติบโต 15% และรายได้จากแนวสูงที่เติบโตขึ้น 9%
อันดับ 7 ออริจิ้น รายได้รวม 9,638 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,318 ล้านบาท ออริจิ้น มีรายได้ 9,638 ล้านบาท ลดลง 22.3% จาก 12,410 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 45% เหลือ 1,318 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,396 ล้านบาท
อันดับ 8 แอสเซทไวส์ รายได้รวม 7,767 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท แอสเซทไวส์ ทำรายได้รวม 7,767 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 62.5% จาก 4,781 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 113.7% จาก 608 ล้านบาท
อันดับ 9 ควอลิตี้เฮ้าส์ รายได้รวม 6,641 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,683 ล้านบาท ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำรายได้รวม 6,641 ล้านบาท รายได้ลดลง 3.6% จาก 6,885 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,683 ล้านบาท ลดลง 11.2% จาก 1,896 ล้านบาท
อันดับ 10 แอล.พี.เอ็น. รายได้รวม 5,978 ล้านบาท กำไรสุทธิ 226 ล้านบาท แอล.พี.เอ็น. ทำรายได้รวม 5,978 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 7.4% จาก 5,563 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 226 ล้านบาท ลดลง 33% จาก 336 ล้านบาท
อันดับ 11 อนันดา รายได้รวม 5,167 ล้านบาท กำไรสุทธิ 321 ล้านบาท อนันดา ทำรายได้รวม 5,167 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นถึง 107.8% จาก 2,486 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 321 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147% จาก -686 ล้านบาท
การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ทั้งการพัฒนาโครงการใหม่และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งยังคงเป็นกำลังซื้อหลักในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบจากเงินลงทุนและสภาพคล่องที่สูง สามารถพัฒนาโครงการหลากหลายทั้งในระดับราคาและรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดที่ยังมีจำกัดได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อดีมานด์ผู้บริโภค คือสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนผู้บริโภคยุคใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ เทรนด์ในการอยู่อาศัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ เช่น เทรนด์ Pet Humanization การเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นคนในครอบครัว ทำให้มีความต้องการบ้านที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมถึงบ้านที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย และที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาบ้านที่สูงขึ้น และดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
สุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า “แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังมีความท้าทายต่อเนื่อง แต่จะเห็นได้ชัดว่าในปีนี้ก็ยังคงมีความเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาโฟกัสตลาดระดับบนที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ซึ่งเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับลักซ์ชัวรี เช่น วิลล่าและคอนโดมิเนียมใกล้ทะเล ความต้องการในกลุ่มนี้ยังคงสูง ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในภูเก็ตเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมาก นอกจากนี้ หัวเมืองหลักในภูมิภาคอื่น ๆ ก็มีการฟื้นตัวในกลุ่มที่อยู่อาศัยสำหรับการพักผ่อนและนักท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ และ ชลบุรี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่ยังคงอยู่ในตลาดอสังหาฯ ไทย ที่แม้จะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ย แต่ยังคงเติบโตจากลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในหลายจังหวัด”