สภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เป็นภูมิอากาศแบบร้อนชื้น แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อบ้านค่ะ เพราะเมื่อบ้านเก็บสะสมความชื้นเอาไว้ จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ทั้งปัญหาต่อโครงสร้าง และวัสดุของบ้าน เพราะการเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในเนื้อวัสดุ จะทำให้เกิดการสึกกร่อนจนแตกร้าวได้ เมื่อมีความชื้นสูง จะเกิดเชื้อราเกาะอยู่ตามผนังบ้าน ซึ่งจะปล่อยสารพิษ Mycotoxin ออกมา จะมีผลกระทบต่อตัวบ้าน และสุขภาพร่างกายผู้อยู่อาศัย ทำให้เกิดโรคหอบหืด และภูมิแพ้
แต่ความจริงแล้วความชื้น ก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เพราะสภาพอากาศในบ้าน ควรต้องมีความชื้น ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้สบายตัว ผิวหนังไม่แตกแห้ง สามารถหายใจได้สะดวก ความชื้นภายในบ้าน ควรอยู่ระหว่าง 20 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ปกติแล้วในประเทศไทยช่วงหน้าฝน มักจะมีความชื้นสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจก่อปัญหาให้กับบ้านได้ วันนี้แอดมินจึงอยากแนะนำวิธีการสังเกต และการป้องกันความชื้นภายในบ้าน ให้กับผู้อ่านทุกท่านค่ะ
การสังเกตว่าบ้านชื้นมากเกินไปหรือไม่
จริงๆ แล้วมีเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการตรวจวัดความชื้น เรียกว่า ไฮโกรมิเตอร์ แต่อุปกรณ์นี้มีราคาค่อนข้างสูง จะเริ่มต้นที่ 2,000 บาทขึ้นไป ดังนั้นเราจึงอยากแนะนำ วิธีการสังเกตว่าบ้านมีความชื้นสูงเกินไปหรือไม่ ให้กับทุกคนค่ะ
วิธีการสังเกตว่าบ้านมีความชื้นสูงเกินไปหรือไม่
- สังเกตที่ผนังบ้านว่ามีการลอกร่อนของวอลเปเปอร์ หรือสีมีรอยน้ำรอยชื้น ราดำที่ผนังหรือไม่
- สังเกตเชื้อราว่ามีขึ้นที่บริเวณฝ้าเพดานหรือไม่
- สังเกตเฟอร์นิเจอร์ ไม้ปาร์เก้ปูพื้น พรม ว่ามีร่องรอยความชื้น บวมน้ำ ราขึ้นหรือไม่
- สังเกตการรั่วซึมของน้ำที่พื้น รอยแตกของผนัง ขอบประตูหน้าต่าง
- สังเกตการณ์หยดน้ำตามท่อน้ำ
- บ้านมีกลิ่นอับชื้น
สาเหตุของความชื้นในบ้านและอาคาร
- น้ำที่สัมผัสผนังโดยตรง เช่น ฝน
- น้ำในพื้นดิน มักเกิดจากการไม่มีการระบายน้ำที่ดี หรือบ้านสร้างอยู่ในพื้นที่ที่รับน้ำมากมาก่อน
- เกิดจากการรั่วซึมของผนังรอยร้าว หรือหลังคา
- ความชื้นจากห้องน้ำ ที่อาจทำให้ฝ้าเพดานทะลุ และลามไปยังห้องอื่นๆ ได้
- ความชื้นจากท่อประปา และท่อระบายน้ำอื่นๆ ที่บกพร่องเสียหาย ทำให้น้ำระเหยขึ้นมาอยู่ในบ้าน
- การระบายอากาศของบ้านไม่ดีพอ ทำให้ไม่มีอากาศถ่ายเท และบ้านกักเก็บความชื้นเอาไว้
- เกิดจากน้ำท่วมในอดีต
- ช่องแสงที่ให้แสงเข้าในบ้านมีน้อยเกินไป ทำให้ไม่ได้รับแสงแดดที่จะทำให้น้ำระเหยออกไป
วิธีป้องกัน และปรับปรุงบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้น
กรณีที่ 1 บ้านที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนการสร้าง
- เลือกที่ตั้งที่เหมาะสมไม่มีน้ำขัง และระบายน้ำได้ ไม่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับถนน
- ติดกันสาดบริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันละอองฝน
- สร้างบ้านยกสูงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นจากใต้พื้นดิน
- ใช้วัสดุประเภทกันความชื้น หรือ Vapor barrier
- สร้างหลังคาให้ลาดเอียง เพื่อระบายน้ำออกได้ง่ายที่สุด
- ออกแบบบ้านให้มีช่องแสง ช่องลมขนาดใหญ่ เพื่อให้บ้านรับแสงแดดเข้ามา และกำจัดความชื้นให้มากที่สุด
- ปิดกั้นรอยต่อทุกที่ของกำแพง เพื่อป้องกันการแทรกซึมของน้ำ กับความชื้น โดยใช้แผ่นกั้นน้ำ และสร้างกำแพง 2 ชั้นเพื่อให้มีช่องว่างในการดูดซึมของน้ำ
- ไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวอาคารเกินไป เพราะอาจจะยิ่งทำให้บ้านชื้น
กรณีที่ 2 บ้านที่สร้างเสร็จแล้ว สามารถปรับปรุงได้อย่างไร
- เพิ่มขนาดช่องแสง ช่องลม เพื่อให้บริเวณบ้านสามารถมีการระบายอากาศที่ดี และให้แสงแดดธรรมชาติ ส่องเข้ามาข้างในเพื่อระบายความชื้น
- ถ้าบริเวณบ้านมีความชื้น สามารถใช้พัดลมมาช่วยเป่าออกไป
- หลีกเลี่ยงการเพิ่มความชื้นในบริเวณบ้าน เช่น การอาบน้ำนานๆ การล้างจาน แล้วเทน้ำทิ้งไปรอบๆบ้าน การเช็ดผนังด้วย ผ้าชุบน้ำเปียก และในห้องที่มีความชื้นอยู่แล้ว ไม่ควรนำสิ่งที่เป็นน้ำเข้าไปวางเอาไว้ เช่น ตู้ปลา น้ำพุ จุดตากผ้า เป็นต้น
- ทำการอุดรอยรั่วซึมของบ้านในจุดต่างๆ เช่น ผนัง กำแพง ฝ้าเพดาน ท่อต่างๆ
- ติดกันสาดรอบๆ บ้านรวมถึงประตู หน้าต่าง หรือบริเวณอื่นๆ ที่เวลาฝนตก น้ำอาจสาดเข้ามาโดนบริเวณบ้านได้
- ควรติดตั้ง เครื่องซักผ้านอกบ้าน ตั้งไว้ในจุดที่มีการระบายน้ำ และระบายอากาศได้ดี
- เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในบ้าน อาจเป็นสาเหตุของความชื้นได้ โดยเฉพาะ ล้อเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องตกแต่งที่เป็นเส้นใยอย่าง พรม หมอน ที่นอน และวัสดุอื่นๆ
- ควรจัดการระบบระบายน้ำในบ้าน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นกับบ้านของเรา
- ตัดต้นไม้ใหญ่ที่กีดขวางทิศทางของแสงแดด และลม
- ติดเครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องควบคุมความชื้นในบ้าน
- สำหรับห้องนอนขนาดเล็กสามารถใช้สารดูดความชื้น หรือซิลิกาเจลใส่กล่องวางเอาไว้ในห้องนอนได้
ความชื้นของบ้านมีโทษต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย ดังนั้นจึงเป็นการดีที่เราจะต้องรู้ และสามารถตรวจสอบความชื้นของบ้านของเราได้ รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการป้องกัน สามารถจัดการกับปัญหาบ้านชื้น รวมไปถึงการมีเชื้อรา ก็ทำให้สุขภาพผู้อยู่อาศัยย่ำแย่ได้ และนี่คือสาระน่ารู้เกี่ยวกับความชื้นในบ้าน วิธีการป้องกันการเกิดความชื้น การดูแลรักษาบ้านให้น่าอยู่ไม่มีความชื้นส่วนเกิน หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ ไปต่อยอดได้นะคะ