บีเอสเอเดินหน้าโครงการรณรงค์กระตุ้นองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์
ถูกกฎหมาย มุ่งเป้าบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบกว่า 20,000 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการลงทุนใหม่ของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติเรียกร้องให้ภาคเอกชนใช้งานซอฟต์แวร์
ถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ในการออกแบบ พร้อมยุติพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายที่มีมานานหลายทศวรรษ
กรุงเทพฯ 20 กรกฎาคม 2564 – ด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้งบประมาณหลายพันล้านสหรัฐฯ วันนี้ บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์จึงเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ให้องค์กรด้านวิศวกรรมและการออกแบบใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ในการพัฒนาถนน สะพาน ท่าเรือ และโครงข่ายด้านการสื่อสารที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหลายปี เพื่อเสริมกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติ
โครงการรณรงค์นี้เป็นการต่อยอดจากโครงการ Legalize and Protect ซึ่งบีเอสเอริเริ่มขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับภูมิภาคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยแคมเปญนี้ได้ช่วยธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการติดตั้งซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่คอมพิวเตอร์กว่า 1 ล้านเครื่อง
“ก้าวใหม่ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบ มีประสิทธิผลสูงสุด ปลอดภัย และถูกกฎหมาย ถือเป็นสัญญาณที่น่าเกรงขามของความแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าว “บีเอสเอต้องการช่วยให้องค์กรด้านวิศวกรรมและการออกแบบชั้นนำในภูมิภาคเปลี่ยนจากการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีความเสี่ยงและไม่ถูกกฎหมาย สู่การใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ซึ่งสามารถปลดล็อกศักยภาพของเหล่าผู้ออกแบบชั้นนำของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง”
ในการทำงานร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์อย่างออโตเดสก์ (Autodesk, Inc.) บีเอสเอตั้งเป้าที่จะเข้าถึงบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบกว่า 20,000 แห่งทั่วภูมิภาค แบ่งเป็น ในประเทศไทย 5,000 บริษัท อินโดนีเซีย 5,000 บริษัท ฟิลิปปินส์ 5,000 บริษัท และมาเลเซีย 5,000 บริษัท ทั้งนี้นอกจากบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้ว กลุ่มเป้าหมายในแคมเปญนี้ยังรวมถึงบริษัทการผลิตและสตูดิโอแอนิเมชันด้วย
กิจกรรมของบีเอสเอยังรวมถึงการบริการให้คำปรึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีสำหรับองค์กรภาคเอกชนที่กำลังต้องการคำแนะนำถึงขั้นตอนการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ผ่านการติดต่อโดยตรงกับบริษัทเป้าหมายทั้ง 20,000 แห่ง และสำหรับองค์กรที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) บีเอสเอสนับสนุนให้กลุ่มผู้นำองค์กรได้ทำการตรวจสอบบัญชีภายในเพื่อระบุช่องว่างของลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นภายในบริษัท
ภายใต้แคมเปญนี้ บีเอสเอยังวางแผนที่จะร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐทั่วภูมิภาคเพื่อสนับสนุนแคมเปญและกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ซึ่งประกอบด้วย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในประเทศไทย กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Communication and Informatics) ในประเทศอินโดนีเซีย ออปติคอล มีเดีย บอร์ด (Optical Media Board) ในประเทศฟิลิปปินส์ และกระทรวงการค้าภายในและกิจการผู้บริโภค (Ministry of Domestic Trade and Consumer Affairs) ในประเทศมาเลเซีย
“กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจต้องการให้บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยใช้งานซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เป็นด่านแรกในการป้องกันการถูกโจมตี โดยเราเล็งเห็นถึงความตั้งใจของบีเอสเอ และพร้อมให้การสนับสนุน ตลอดจนช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระดับประเทศอย่างเต็มที่ ด้วยความมุ่งมั่นนี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในประเทศของเรามายิ่งขึ้น” พ.ต.อ.เกรียงศักดิ์ จิตต์สอาด ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการปราบปราม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว
บีเอสเอคาดว่ามีบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบกว่า 100,000 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ในปัจจุบัน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบถูกปรับหรือได้รับโทษจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) เกือบทุกสัปดาห์ ดังนั้น แคมเปญนี้จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้นำองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) และประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) อย่างถูกต้องครบถ้วน
“เป็นที่ชัดเจนว่า องค์กรวิศวกรรมและการออกแบบชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) เพื่อประสิทธิภาพที่มากขึ้นในการปฏิบัติงานและป้องกันคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์” นายดรุณ ซอว์เนย์ กล่าว “แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือมีผู้บริหารธุรกิจจำนวนไม่มากที่พร้อมลงทุนในความจำเป็นนี้”